วิจัยและพัฒนากระดาษดูดซับเอทิลีนจากเปลือกทุเรียน
#1
วิจัยและพัฒนากระดาษดูดซับเอทิลีนจากเปลือกทุเรียน
ศิริพร เต็งรัง, กนกศักดิ์ ลอยเลิศ, วิมลวรรณ วัฒนวิจิตร, นภัสสร เลียบวัน, สุปรียา ศุขเกษม และธีรชาต วิชิตชลชัย
กองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร

          งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตกระดาษดูดซับเอทิลีน (Ethylene Absorber Paper) จากเปลือกทุเรียน เพื่อใช้ยืดอายุการเก็บรักษาผักและผลไม้ ทำการทดลองที่กองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร ระหว่างปี 2556 - 2558 โดยเลือกใช้เปลือกทุเรียนเนื่องจากมีเส้นใยเป็นองค์ประกอบสามารถนำมาทำกระดาษได้ เริ่มโดยสกัดและฟอกขาวเส้นใยจากนั้นขึ้นรูปเป็นแผ่นกระดาษแล้วศึกษาคุณสมบัติ พบว่าเส้นใยไม่ฟอกให้กระดาษที่มีคุณสมบัติดีกว่าทั้งปริมาณความชื้น ความต้านทานแรงฉีกขาด ความต้านทานแรงดึงขาด และความต้านทานแรงดันทะลุ คือ 7.99% 435 mN 1.09 kN/m และ 289 kPa ตามลำดับ เป็นไปตาม มอก.170-2550 จากนั้นนา มาเตรียมกระดาษดูดซับเอทิลีนโดยใช้ถ่านกัมมันต์เป็นตัวดูดซับ เริ่มจากใช้ถ่านกัมมันต์ 3 ชนิด ในปริมาณเท่ากัน คือ ชนิดผง เม็ด และแท่ง พบว่ากระดาษดูดซับเอทิลีนที่ใช้ถ่านกัมมันต์ชนิดผงมีประสิทธิภาพในการยืดอายุการเก็บรักษามะม่วงที่อุณหภูมิห้องได้ดีที่สุด คือ สามารถเก็บรักษามะม่วงได้นาน 10 วัน มีเปอร์เซ็นต์การสูญเสียน้ำหนักน้อยที่สุด เท่ากับ 10.55% จากนั้นศึกษาหาปริมาณที่เหมาะสมของถ่านกัมมันต์ชนิดผงในการเตรียมกระดาษดูดซับเอทิลีนที่ปริมาณ 5 15 25 และ 35% ของน้ำหนักเส้นใยพบว่ากระดาษทุกกรรมวิธีมีคุณสมบัติเป็นไปตาม มอก.170-2550 ยกเว้นความต้านทานแรงดึงขาดโดยเมื่อปริมาณผงถ่านกัมมันต์เพิ่มขึ้น กระดาษจะมีความแข็งแรงสูงขึ้นแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ มีประสิทธิภาพการดูดซับก๊าซเอทิลีนมากกว่า 95% ในชั่วโมงแรกของการดูดซับ ใกล้เคียงกับสารดูดซับเทิลีนทางการค้าที่มีน้ำหนักสารดูดซับเท่ากัน โดยกระดาษเติมผงถ่านกัมมันต์ 5% มีประสิทธิภาพในการยืดอายุการเก็บรักษามะม่วงที่อุณหภูมิห้องดีที่สุด คือ สามารถเก็บรักษามะม่วงได้นาน 15 วัน มีเปอร์เซ็นต์การสูญเสียน้ำหนักน้อยที่สุด เท่ากับ 28.59% แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญกับกรรมวิธีอื่นๆ และดีกว่าสารดูดซับเอทิลีนทางการค้าที่มีเปอร์เซ็นต์การสูญเสียน้ำหนัก 30.25% มีต้นทุนการผลิต1.60 บาท/แผ่น (พื้นที่ 188.60 ตารางเซนติเมตร) ถูกกว่าสารดูดซับเอทิลีนทางการค้า (2 - 3 บาท/ซอง) ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ในการผลิตออกมาใช้งานในเชิงพาณิชย์


ไฟล์แนบ
.pdf   11_2559.pdf (ขนาด: 14.95 MB / ดาวน์โหลด: 17,314)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม