ศึกษาระบบการจัดการสวนปาล์มน้ำมันของเกษตรกรในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน
#1
ศึกษาระบบการจัดการสวนปาล์มน้ำมันของเกษตรกรในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน
วิลาสลักษณ์ ว่องไว, สันติ โยธาราษฎร์, อรุณี ใจเถิง, เกียรติรวี พันธ์ไชยศรี, วัชรพล บำเพ็ญอยู่, วิมล แก้วสีดา, ฉัตรสุดา เชิงอักษร และนัด ไชยมงคล

          โครงการวิจัยแบ่งออกเป็น 2 การทดลอง ได้แก่ ศึกษาระบบการจัดการสวนปาล์มน้ำมันของเกษตรกรจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย กับทดสอบและพัฒนาการใช้ปุ๋ยเคมีในการผลิตปาล์มน้ำมันในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ดำเนินการในปี 2557 - 2559 วัตถุประสงค์ของการทดลองแรก ได้แก่ เพื่อศึกษาข้อมูลปฐมภูมิ การปลูก และการจัดการสวนปาล์มน้ำมันเพื่อทราบประเด็นปัญหาการผลิตของเกษตรกรในพื้นที่ปลูกปาล์มใหม่ภาคเหนือตอนบน ทำการออกแบบสัมภาษณ์ และสัมภาษณ์เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน รวม 217 ราย ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ 100 ราย จังหวัดเชียงราย 117 ราย อายุปาล์ม 2 - 3 ปี พบว่ามีพื้นที่ปลูกปาล์มเฉลี่ย 2.75 และ 17.90 ไร่/ราย ตามลำดับ เป็นผู้ปลูกปาล์มน้ำมันรายย่อย และส่วนใหญ่ปลูกตามโครงการที่มีบริษัทมาส่งเสริม เหตุผลที่เลือกปลูกปาล์มน้ำมันเนื่องจาก ต้องการให้เป็นรายได้ประจำ คิดว่าเป็นพืชทนแล้ง ดูแลง่าย ต้องการปลูกทดแทนพืชอื่น เป็นทั้งพืชอาหารและเป็นพืชพลังงาน จึงคาดการณ์ว่าราคาดี ปลูกในปี 2554 เป็นส่วนใหญ่ และปลูกในพื้นที่ราบ ดินร่วนปนทราย เกษตรกรในจังหวัดเชียงใหม่ ทราบชื่อพันธุ์ปาล์มน้ำมันที่ปลูกเพียงร้อยละ 42 ส่วนจังหวัดเชียงรายร้อยละ 62 ในกลุ่มที่ทราบชื่อพันธุ์นั้น ใช้พันธุ์ที่มีจำหน่ายทั่วไปในท้องตลาดทางภาคใต้ ราคา 55 - 250 บาท/ต้น แหล่งต้นกล้าที่จำหน่ายให้เกษตรกรส่วนใหญ่มาจากเอกชน จากหน่วยงานราชการเพียงร้อยละ 1 ในจังหวัดเชียงใหม่ และร้อยละ 6 ในจังหวัดเชียงราย จากการสำรวจในแปลงที่ให้ผลผลิตแล้วพบว่ามีผลที่มีลักษณะกะลาบางเป็นส่วนใหญ่

          เกษตรกรที่วิเคราะห์สมบัติดินก่อนปลูกมีเพียงร้อยละ 11 ในจังหวัดเชียงใหม่และร้อยละ 3 ในจังหวัดเชียงราย แต่จะปรับสภาพดินก่อนปลูกร้อยละ 45 - 76 เตรียมดินโดยทำการไถปรับพื้นที่ การวางผังแปลงในจังหวัดเชียงใหม่ส่วนใหญ่เป็นแบบสี่เหลี่ยม ส่วนจังหวัดเชียงรายใช้แบบสามเหลี่ยมเป็นส่วนใหญ่ ทั้ง 2 จังหวัดใช้ระยะปลูก 8 - 10 เมตร ในสวนปาล์มน้ำมันระยะแรก 1 - 3 ปี ส่วนใหญ่ไม่ปลูกพืชคลุมดิน แต่ปลูกพืชแซมเพื่อเป็นแหล่งรายได้และเป็นการควบคุมวัชพืช พืชแซมที่ปลูก เช่น ข้าวโพด ถั่วลิสง ไม้ดอก ไม้ประดับ และสับปะรด และมีบางส่วนนำปาล์มน้ำมันปลูกแซมในสวนไม้ผลยืนต้น ยางพารา ในจังหวัดเชียงรายมีการให้น้ำในช่วงฝนทิ้งช่วงเพียงร้อยละ 47 ส่วนในจังหวัดเชียงใหม่ ร้อยละ 81 โดยใช้แหล่งน้ำจากบ่อหรือสระ และแม่น้ำในพื้นที่ ให้น้ำแบบสปริงเกอร์ สายยาง และให้น้ำไหลไปตามผิวดิน ในจังหวัดเชียงใหม่ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ มากกว่าปุ๋ยเคมี ส่วนในจังหวัดเชียงราย ใส่ปุ๋ยเคมีมากกว่าใส่ปุ๋ยอินทรีย์ เกษตรกรใช้ปุ๋ยไม่ตรงตามคำแนะนำ และใส่ปุ๋ยในปริมาณน้อยกว่าคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งสอดคล้องกับการสังเกตในแปลงปลูกพบว่าต้นปาล์มน้ำมันแสดงอาการขาดธาตุอาหาร ด้านการตัดแต่งทางใบพบว่า ตัดแต่งทางใบได้เหมาะสมกับอายุปาล์มน้ำมันในระดับปานกลาง เกษตรกรพบราที่โคนต้น ใบมีจุดสีเหลือง ยอดใบหด ใบไหม้ ใบจุด ใบแห้ง ยอดเน่า ยอดม้วน และผลเน่า และพบปัญหาจากแมลง เช่น ด้วงกุหลาบ ด้วงแรด หนอนหน้าแมว หนอนปลอกเล็ก ทำการป้องกันกำจัดโรคและแมลงโดยใช้สารเคมี และได้ผลเป็นส่วนใหญ่ ผลผลิตต่ำสุด - สูงสุด ในปาล์มน้ำมันอายุ 3 - 6 ปี 462 - 2,084 กก./ไร่/ปี อายุ 7 - 8 ปี ให้ผลผลิต 826 - 4,250 กก./ไร่/ปี เก็บเกี่ยวผลผลิตจากการสังเกตความสุกแก่ของสีผล และนำผลผลิตไปจำหน่ายเอง ระยะทางจากสวนถึงจุดรับซื้อ 1 - 166 กม. ราคาที่เกษตรกรจำหน่าย เฉลี่ย 2.75 - 3.35 บาท/กก. เกษตรกรน้อยกว่าร้อยละ 20 ทำการบันทึกข้อมูลในการทำสวนปาล์มน้ำมัน ปัญหาการผลิตที่สำคัญได้แก่ การให้น้ำ (ไม่มีแหล่งน้ำในฤดูแล้ง) การใช้ปุ๋ย (ปุ๋ยราคาแพง, ไม่มีความรู้เรื่องสูตรปุ๋ยที่ควรใส่ปาล์มน้ำมัน) และการติดผล (ติดผลแล้วผลไม่สมบูรณ์ทั้งทะลาย, ผลลีบ ติดผลน้อย) รวมถึงคุณภาพปาล์ม (ผลลีบ, ผลเล็กไม่โตเต็มที่) เกษตรกรมีความคาดหวังให้มีตลาดรองรับผลผลิตและต้องการให้ราคาดี ยังขาดผู้ให้คำปรึกษา และแหล่งความรู้ทางวิชาการ ดังนั้นกรมวิชาการเกษตรจึงควรขยายบทบาทการให้ความรู้เรื่องปาล์มน้ำมันแก่เกษตรกรในเขตภาคเหนือตอนบนให้มากขึ้น และสร้างงานวิจัยพัฒนาในพื้นที่ เพื่อให้เทคโนโลยีถึงมือเกษตรกร ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการผลิต การจัดการสวนที่ไม่เหมาะสมได้ส่วนหนึ่ง

          การทดลองครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเทคโนโลยีที่เหมาะสมในพื้นที่ด้านการจัดการปุ๋ยปาล์มน้ำมันในแปลงเกษตรกร และเป็นแหล่งเรียนรู้ขยายผลสู่เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ดำเนินการในระหว่างปี 2557 - 2559 ทำการคัดเลือกเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวน 7 ราย ในเขตพื้นที่ อำเภอแม่แตง สันทราย และสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ เกษตรกรปลูกปาล์มน้ำมัน เมื่อ ปี 2552 และปี 2554 โดยมีอายุปลูก 5 ปี และ 3 ปี พันธุ์ที่ใช้ คือ พันธุ์เทเนอร่า จากผลวิเคราะห์ธาตุอาหารทางใบที่ 17 ทั้ง 3 ปี พบว่าไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม โบรอน และแมกนีเซียม ในใบอยู่ในช่วงวิกฤต ทั้งกรรมวิธีทดสอบและกรรมวิธีเกษตรกร หลังจากใส่ปุ๋ยระหว่างตุลาคม 2558 - กันยายน 2559 พบว่าปริมาณธาตุอาหารที่พบในใบปาล์มน้ำมัน ได้แก่ ธาตุไนโตรเจน โพแทสเซียม และโบรอน ของกรรมวิธีทดสอบ มีค่าแตกต่างทางสถิติโดย ไนโตรเจน มีค่า 2.06 - 2.45 สูงกว่ากรรมวิธีเกษตรกรซึ่งมีค่า 1.74 - 2.10 โพแทสเซียม กรรมวิธีทดสอบมีค่า 0.64 - 0.76 สูงกว่ากรรมวิธีเกษตรกรซึ่งมีค่า 0.50 - 0.76 โบรอน กรรมวิธีทดสอบมีค่า 12.2 - 15.8 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม สูงกว่ากรรมวิธีเกษตรกรซึ่งมีค่า 10.6 - 14.1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม คำนวณการใช้ปุ๋ย ธาตุไนโตรเจนใช้ปุ๋ยสูตร 21-0-0 จำนวน 5,000 กรัมต่อต้นต่อปี ธาตุฟอสฟอรัส ใช้ปุ๋ยสูตร 0-3-0 จำนวน 1,875 กรัมต่อต้นต่อปี โพแทสเซียม ใช้ปุ๋ยสูตร 0-0-60 จำนวน 3,750 กรัมต่อต้นต่อปี แมกนีเซียม 560 - 875 กรัมต่อต้นต่อปี โบรอน 162.5 - 200 กรัมต่อต้นต่อปี การใช้ปุ๋ยของเกษตรกร ใช้ปุ๋ยเคมี เช่น สูตร 15-15-15, 13-13-21, ปุ๋ยหมักและปุ๋ยอินทรีย์ อัตราที่ใช้ 2 - 5 กิโลกรัมต่อต้นต่อปี วัดการเจริญเติบโต (จำนวนทางใบทั้งหมด ความยาวทางใบ จำนวนใบย่อย พื้นที่หน้าตัดแกนทางและพื้นที่ใบ) หลังจากใส่ปุ๋ยระหว่างตุลาคม 2558 - กันยายน 2559 พบว่าทุกปัจจัยมีความแตกต่างทางสถิติ โดยกรรมวิธีทดสอบ มีการเจริญเติบโตที่สูงกว่ากรรมวิธีของเกษตรกร การเกิดช่อดอกตัวเมีย กรรมวิธีทดสอบมีค่าแตกต่างทางด้านสถิติ มีช่อดอกตัวเมีย 6.36 - 15.60 ช่อต่อต้นต่อปี สูงกว่า กรรมวิธีเกษตรกรซึ่งมีช่อดอกตัวเมีย 2.40 - 12.48 ช่อต่อต้นต่อปี เปอร์เซ็นต์อัตราส่วนเพศ ของกรรมวิธีทดสอบมีความแตกต่างทางด้านสถิติมีค่า เฉลี่ย 79.59 เปอร์เซ็นต์ สูงกว่ากรรมวิธีเกษตรกรซึ่งมีค่าเฉลี่ย 70.87 เปอร์เซ็นต์จำนวนทะลาย น้ำหนักทะลาย ผลผลิต พบว่าทุกปัจจัย มีค่าแตกต่างทางด้านสถิติ โดยกรรมวิธีทดสอบ ต้นปาล์มอายุ 7 ปี มีจำนวนทะลาย เฉลี่ย 8.52 ทะลายต่อต้นต่อปี น้ำหนักทะลายเฉลี่ย 12.38 กิโลกรัมต่อทะลาย และผลผลิตเฉลี่ย 2.42 ตันต่อไร่ต่อปี มีรายได้เฉลี่ย 8,453 บาทต่อไร่ ส่วนต้นปาล์มที่อายุ 5 ปี มีจำนวนทะลายเฉลี่ย 9.45 ทะลายต่อต้นต่อปี น้ำหนักทะลายเฉลี่ย 5.58 กิโลกรัมต่อทะลาย และผลผลิตเฉลี่ย 1.21 ตันต่อไร่ต่อปี มีรายได้เฉลี่ย 4,514 บาทต่อไร่ ซึ่งสูงกว่า กรรมวิธีเกษตรกรต้นปาล์มอายุ 7 ปี มีจำนวนทะลายเฉลี่ย 7.94 ทะลายต่อต้นต่อปี น้ำหนักทะลายเฉลี่ย 10.36 กิโลกรัมต่อทะลาย และผลผลิตเฉลี่ย 1.88 ตันต่อไร่ต่อปี รายได้เฉลี่ย 6,594 บาทต่อไร่ ส่วนต้นปาล์มที่อายุ 5 ปี มีจำนวนทะลายเฉลี่ย 6.81 ทะลายต่อต้นต่อปี น้ำหนักทะลายเฉลี่ย 4.48 กิโลกรัมต่อทะลาย และผลผลิตเฉลี่ย 0.75 ตันต่อไร่ต่อปี รายได้เฉลี่ย 2,762 บาทต่อไร่ พบว่า กรรมวิธีทดสอบมีรายได้จากปาล์มน้ำมันเฉลี่ย 5,640 บาทต่อไร่ต่อปี สูงกว่ากรรมวิธีเกษตรกร 3,857 บาทต่อไร่ปี ซึ่งเมื่อคิดรายได้สุทธิ พบว่ากรรมวิธีทดสอบมีรายได้สุทธิเฉลี่ย 2,839 บาทต่อไร่ต่อปี ซึ่งน้อยกว่ากรรมวิธีเกษตรกร 3,080 บาทต่อไร่ต่อปี เมื่อเทียบค่า BCR กรรมวิธีทดสอบมี BRC เฉลี่ย 2.01 ซึ่งน้อยกว่ากรรมวิธีเกษตรกรที่มี BRCเฉลี่ย 4.23 สาเหตุที่กรรมวิธีทดสอบมีรายได้สุทธิน้อยกว่ากรรมวิธีเกษตรกร เนื่องจากต้นทุนปุ๋ยที่สูงกว่า โดยกรรมวิธีทดสอบใช้ปุ๋ยอัตรา 11.51 กิโลกรัมต่อต้นต่อปี มีต้นทุนเฉลี่ย 2,800 บาทต่อไร่ แต่กรรมวิธีเกษตรกรใช้ปุ๋ยเพียง 2 - 4 กิโลกรัมต่อต้นต่อปีทำให้มี ต้นทุนเฉลี่ยเพียง 777 บาทต่อไร่ต่อปี


ไฟล์แนบ
.pdf   16_2559.pdf (ขนาด: 1.38 MB / ดาวน์โหลด: 801)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม