การปรับปรุงพันธุ์พริกขี้หนูยอดสน
#1
การปรับปรุงพันธุ์พริกขี้หนูยอดสน
เสาวนี  เขตสกุล, ธวัชชัย  นิ่มกิ่งรัตน์ , ชูศรี คำลี, ศิริลักษณ์ สมนึก, อุดม คำชา, ศศิธร ประพรม และพีชณิตดา ธารานุกูล
ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครพนม, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรหนองคาย, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรชัยภูมิ, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโนนสูง

          ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษดำเนินการการปรับปรุงพันธุ์พริกขี้หนูยอดสนระหว่างปี 2549-2553 เพื่อคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีลักษณะตรงตามพันธุ์ มีองค์ประกอบผลผลิตและลักษณะทางการเกษตรที่ดี โดยรวบรวมพริกขี้หนูพันธุ์ยอดสน จากแหล่งปลูกต่างๆ ในจังหวัดนครราชสีมาในปี 2549-2550 ได้จำนวน 200 สายพันธุ์ นำมาปลูกและคัดเลือกสายพันธุ์แบบสายพันธุ์บริสุทธิ์ (Pure line selection) คัดได้พันธุ์ที่มีลักษณะดีจำนวน 8 สายพันธุ์ ซึ่งนำมาปลูกทดสอบในแปลงทดลองของศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษและศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรชัยภูมิ นครพนม และหนองคายโดยเปรียบเทียบกับพันธุ์เกษตรกร จากการปลูกทดสอบนี้คัดเลือกสายพันธุ์ที่ดีไว้แห่งละ 4 สายพันธุ์ และนำมาปลูกทดสอบพันธุ์ในไร่เกษตรกรจังหวัดศรีสะเกษ ชัยภูมิ นครพนม และนครราชสีมา จังหวัดละ 2 ราย โดยวางแผนการทดลองแบบ randomized complete block design (RCBD) มี 4 ซ้ำ ประกอบด้วย 5 กรรมวิธี คือ พันธุ์ที่คัดเลือก 4 สายพันธุ์ และพันธุ์เกษตรกรเป็นพันธุ์เปรียบเทียบ จากผลการทดสอบพันธุ์ในไร่เกษตรกรพบว่า พันธุ์ทดสอบทุกสายพันธุ์ให้ผลผลิตไม่แตกต่างทางสถิติกับพันธุ์เกษตรกรทั้งปริมาณและองค์ประกอบผลผลิต และจากผลการวิเคราะห์ความเผ็ดพริก 5 สายพันธุ์ ที่ปลูกทดสอบในแปลงเกษตรกรจังหวัดศรีสะเกษพบว่า สายพันธุ์ ศก.165-1-1 มีความเผ็ดสูงสุด คือ 266,823 SHU รองลงมา คือ สายพันธุ์ ศก.123-1-1 พันธุ์เกษตรกร ศก.144-1-1 และ ศก.119-1-3 ซึ่งมีความเผ็ด 214,843 187,359 146,728 และ 85,085 SHU ตามลำดับ และจากการประเมินความพึงพอใจพบว่า เกษตรกรผู้ปลูกพริกและผู้รับจ้างเก็บผลผลิตพอใจสายพันธุ์ ศก.119-1-3 และ ศก.165-1-1 มากกว่าสายพันธุ์อื่น


ไฟล์แนบ
.pdf   1873_2554.pdf (ขนาด: 182.67 KB / ดาวน์โหลด: 837)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม