การศึกษาวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชของผลองุ่นสดนำเข้าจากสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์
#1
การศึกษาวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชของผลองุ่นสดนำเข้าจากสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์
อลงกต โพธิ์ดี, ณัฏฐพร อุทัยมงคล, วาสนา ฤทธิ์ไธสง, พรพิมล อธิปัญญาคม, อิทธิพล บรรณาการ และชมัยพร บัวมาศ
สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช และสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร

         ผลสดของพืชสกุลวิตีส (Vitis spp.) จากทุกแหล่งเป็นสิ่งต้องห้าม ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดพืช และพาหะจากแหล่งที่กำหนดเป็นสิ่งต้องห้าม ข้อยกเว้น และเงื่อนไขตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2550 การนำเข้าเพื่อการค้าต้องผ่านการวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืช ซึ่งอียิปต์ได้ยื่นคำขออนุญาตนำผลสดขององุ่น (Vitis vinifera) เข้ามายังไทย จึงได้ดำเนินการศึกษาวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชของผลองุ่นสดนำเข้าจากอียิปต์ เพื่อให้ได้รายชื่อศัตรูพืชที่เป็นศัตรูพืชกักกันของไทย และกำหนดมาตรการจัดการความเสี่ยงศัตรูพืชที่เหมาะสม จากผลการดำเนินการมีรายงานพบศัตรูพืชขององุ่นในอียิปต์ จำนวน 91 ชนิด ซึ่งเมื่อนำมาประเมินความเสี่ยงศัตรูพืชพบว่าเป็นศัตรูพืชกักกันของผลองุ่นสดนำเข้าจากอียิปต์ จำนวน 9 ชนิด ได้แก่ Aspidiotus nerii, Ceratitis capitata, Ceroplastes rusci, Lobesia botrana, Parthenolecanium corni, Scirtothrips aurantii, Spodoptera littoralis, Brevipalpus lewisi และ Pseudomonas syringae pv. syringae โดยมีศัตรูพืชกักกันที่มีความเสี่ยงสูง คือ แมลงวันผลไม้ Mediterranean fruit fly (C. capitata) เป็นศัตรูพืชกักกันที่ต้องมีมาตรการจัดการความเสี่ยงศัตรูพืชก่อนการส่งออกมายังไทย โดยต้องกำจัดแมลงวันผลไม้ในผลองุ่นสดด้วยวิธีการกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็นก่อนการส่งออกหรือระหว่างการขนส่ง นอกจากนี้ สำหรับศัตรูพืชกักกันอื่นควรมีมาตรการจัดการที่เหมาะสมในประเทศผู้ส่งออก เพื่อลดความเสี่ยงศัตรูพืชที่อาจจะเกิดขึ้น คือ ผลองุ่นสดต้องมาจากสวนองุ่นและโรงคัดบรรจุที่ขึ้นทะเบียน มาจากแหล่งปลอดศัตรูพืช บรรจุภัณฑ์ต้องใหม่ สะอาด และสามารถป้องกันการเข้าทำลายซ้ำของศัตรูพืชได้ ต้องสุ่มตรวจผลองุ่นสดก่อนส่งออกตามกระบวนการที่เหมาะสมอย่างเป็นทางการ และต้องปลอดจากศัตรูพืชกักกันของไทย ไม่มีการปะปนของ ดิน ทราย และชิ้นส่วนของพืชนอกเหนือจากผลองุ่นสด หรือสิ่งอื่นใดที่มีศักยภาพในการนำพาศัตรูพืชกักกันได้ รวมทั้งการบริหารจัดการความเสี่ยงศัตรูพืช ณ จุดนำเข้า โดยการสุ่มตรวจผลองุ่นสด หากมีการตรวจพบศัตรูพืชกักกัน หรือศัตรูพืชชนิดอื่นที่ไม่ใช่ศัตรูพืชกักกัน หรือการนำเข้าไม่เป็นไปตามมาตรการสุขอนามัยพืชที่กำหนด ควรส่งกลับ ทำลาย หรือกำจัดศัตรูพืชด้วยวิธีการที่เหมาะสม (ถ้ามี) ทั้งนี้ต้องมีใบอนุญาตนำเข้าและใบรับรองสุขอนามัยพืชกำกับมาพร้อมกับสินค้า โดยต้นฉบับใบรับรองสุขอนามัยพืชต้องแนบมาพร้อมกับสินค้าทุกครั้งที่มีการนำเข้า


ไฟล์แนบ
.pdf   96_2560.pdf (ขนาด: 376 KB / ดาวน์โหลด: 811)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม