การผลิตขยายและใช้หอยตัวห้ำวงศ์ Streptaxidae ควบคุมหอยทากศัตรูพืชโดยชีววิธี
#1
การผลิตขยายและใช้หอยตัวห้ำวงศ์ Streptaxidae ควบคุมหอยทากศัตรูพืชโดยชีววิธี

ดาราพร รินทะรักษ์, อภินันท์ เอี่ยมสุวรรณสุข, ณัฐฐิญา กาญจนนิธิพัฒน์, ปราสาททอง พรหมเกิด และทรงทัพ แก้วตา
สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช 

          สำรวจและเก็บตัวอย่างหอยตัวห้ำวงศ์ Streptaxidae ในพื้นที่เขาหินปูนและพื้นที่เกษตรกรรมตามภาคต่างๆ ของประเทศไทย นำมาจำแนกชนิดตามระบบอนุกรมวิธาน ตามเอกสารของ Abbott (1989), Hemmen and Hemmen (2001), Naggs (1989), Panha (1996) และ Vaught (1989) พบว่ามีหอยทากที่เป็นหอยตัวห้ำวงศ์ Streptaxidae จำนวน 6 genus 7 species คือ หอยนักล่าสีส้ม; Gulella bicolor (Hutton, 1843), หอยนักล่าสยาม; Perrottetia siamensis (Pfeiffer,1862), Haploptychius petitii (Gould, 1844), Odontartemon
costulatus (Moellendorff, 1883), Haploptychius sp., Oophana sp. และ Discartemon sp. นอกจากนี้พบทากกินเนื้อวงศ์ Rathouisiidae จำนวน 1 species ได้แก่ Atopos sarasini (Collinge, 1902) ศึกษา feeding behavior ของหอยทากตัวห้ำวงศ์ Streptaxidae จำนวน 6 genus ในห้องปฏิบัติการเพื่อคัดเลือกชนิดที่มีศักยภาพมากที่สุด พบว่าหอยตัวห้ำทุกชนิดมีศักยภาพในการกินหอยและไข่หอยที่มีขนาดใกล้เคียงหรือขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย เฉลี่ยสัปดาห์ละ 2 - 3 ตัว พบพฤติกรรมการไล่ตามเหยื่อที่มีขนาดเล็กหรืออ่อนแอกว่า โดยพบว่าหอยนักล่าสยาม; P. siamensis (Pfeiffer,1862) มีศักยภาพมากที่สุดสามารถกินหอยดักดานขนาดเล็กได้ 1 - 1.5 ตัว/วัน ใช้เวลาในการกินเหยื่อเฉลี่ย 3 - 5 นาที/ตัว จึงศึกษาชนิดของอาหารที่เหมาะสมต่อการขยายพันธุ์และเจริญเติบโตของหอยตัวห้ำ ตามแผนการทดลอง CRD ให้อาหารที่แตกต่างกัน 5 กรรมวิธี กรรมวิธีละ 4 ซ้ำ และแต่ละซ้ำใส่หอยตัวห้ำตัวเต็มวัยที่มีขนาด 8 - 9 มิลลิเมตร จำนวน 5 ตัว/ซ้ำ ผลการทดลองพบว่ากรรมวิธีที่ให้อาหารเป็นหอยดักดาน จำนวน 20 ตัว ร่วมกับอาหารสูตร B (อาหารปลา: แป้งข้าวโพด: ผงแคลเซียมคาร์บอเนต = 2:1:1) จำนวน 10 กรัม ทำให้นักล่าสยาม; P. siamensis สามารถขยายพันธุ์และวางไข่ได้ดีที่สุด อย่างไรก็ตามยังต้องศึกษาชนิดของอาหารที่เหมาะสมต่อการขยายพันธุ์ และเจริญเติบโตของหอยตัวห้ำร่วมกับการศึกษาปัจจัยอื่นๆ เพื่อให้ได้วิธีการที่เหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการนำมาใช้ขยายผลควบคุมหอยทากศัตรูพืชโดยชีววิธีต่อไป


ไฟล์แนบ
.pdf   234_2560.pdf (ขนาด: 674.89 KB / ดาวน์โหลด: 951)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม