โครงการศูนย์เรียนรู้การผลิตพืชตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ จังหวัดนครราชสีมา
#1
โครงการศูนย์เรียนรู้การผลิตพืชตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ จังหวัดนครราชสีมา
ศรีนวล สุราษฎร์, พีชณิตดา ธารานุกูล, สัตยา ปลั่งกลาง, พรศุลี อิศรางกูล ณ อยุธยา, บุญชู สายธนู, จักรพรรดิ์ วุ้นสีแซง, สุกิจ รัตนศรีวงษ์ และจิระ อะสุรินทร์
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโนนสูง สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4, สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 จังหวัดอุบลราชธานี และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรมหาสารคาม สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4


          โครงการศูนย์เรียนรู้การผลิตพืชตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ จังหวัดนครราชสีมา จัดตั้งและเริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2552  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่หลักการทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ เป็นศูนย์ต้นแบบเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตร และเป็นแหล่งเรียนรู้ของเกษตรกรและผู้ที่ สนใจทั่วไป เป็นการดำเนินงานทฤษฎีใหม่ขั้นต้น โดยการจัดสรรพื้นที่ดำเนินงานของโครงการ จำนวน 14 ไร่ แบ่งตามอัตราส่วน 30:30:30:10 ดังนี้  ส่วนที่ 1 (ร้อยละ 30) พื้นที่ 4 ไร่ ขุดสระน้ำ เพื่อเลี้ยงปลา พืชน้ำ และกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการเกษตร บริเวณขอบสระปลูกหญ้าแฝกช่วยยึดเกาะหน้าดินป้องกันการพังทลายของดิน ส่วนที่ 2  (ร้อยละ 30) พื้นที่ 4 ไร่ ปลูกข้าวนาปี พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และปลูกพืชหลังนา ได้แก่ ปอเทือง และข้าวโพด ส่วนที่ 3 (ร้อยละ 30) พื้นที่ 4 ไร่ ร่องสวนผสมผสาน ปลูกไม้ผลยืนต้นเป็นพืชหลัก ปลูกพืชไร่ พืชผัก และไม้ผลอายุสั้นเป็นพืชรองหรือพืชแซมตามฤดูกาล ผลผลิตนำมาบริโภคและจำหน่ายหมุนเวียนตลอดทั้งปี ส่วนที่ 4 (ร้อยละ 10) พื้นที่ 2 ไร่ สร้างที่พักอาศัย เลี้ยงสัตว์ และโรงเรือนต่างๆ  พื้นที่ว่างทำแปลงปลูก พืชผัก ซึ่งการดำเนินงานได้ใช้หลักการและแนวทางในการบริหารจัดการที่ดินและแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรให้ เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยระบบการเกษตรแบบยั่งยืนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นแปลงศึกษากึ่งสาธิต ตามแนวทางพระราชดำริ “ทฤษฏีใหม่” โดยการนำความรู้และเทคโนโลยีการผลิตพืชมาจัดระบบการผลิตพืชให้สอดคล้องกับสภาพของพื้นที่ เพื่อเป็นต้นแบบและทางเลือกให้แก่เกษตรกร เน้นการปลูกข้าวให้เพียงพอต่อการบริโภคตลอดทั้งปี เนื่องจากพื้นที่ของโครงการเป็นพื้นที่ดินเค็ม จึงได้มีการนำพืชที่สามารถเจริญเติบโตและ ให้ผลผลิตได้ในดินค่อนข้างเค็มมาทดลองปลูก ได้แก่ ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ซึ่งสามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้ในพื้นที่ดินเค็มปานกลางและมีน้ำท่วมขังในนา ส่วนร่องสวนผสมผสานปลูกมะพร้าวน้ำหอม มะขาม มะขามเทศ ทับทิม ละมุด ฝรั่ง กล้วย และอ้อยคั้นน้ำ พบว่าพืชดังกล่าวมีการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตคุณภาพ คุ้มค่าต่อการลงทุน ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมา มีผู้สนใจมาศึกษาดูงาน และฝึกอบรม ในพื้นที่โครงการจำนวนมาก ได้แก่ กลุ่มเกษตรกร บุคลากรจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน คณะครูและนักเรียน และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปฏิบัติและประยุกต์ใช้ในที่ดินของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีข้าวและอาหารสำหรับบริโภคได้เพียงพอตลอดทั้งปี มีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถพึ่งพาตนเอง และเกิดความมั่นคงในชีวิตยิ่งขึ้น


ไฟล์แนบ
.pdf   4_2562.pdf (ขนาด: 2.7 MB / ดาวน์โหลด: 1,285)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม