การทดสอบประสิทธิภาพของแมลงช้างปีกใสในการควบคุมแมลงหวี่ขาวใยเกลียว
#1
การทดสอบประสิทธิภาพของแมลงช้างปีกใสในการควบคุมแมลงหวี่ขาวใยเกลียว
ประภัสสร เชยคำแหง, รจนา ไวยเจริญ และอัมพร วิโนทัย
กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          การทดสอบประสิทธิภาพของแมลงช้างปีกใสในการควบคุมแมลงหวี่ขาวใยเกลียว ดำเนินการทดลองในห้องปฏิบัติการกลุ่มงานวิจัยการปราบศัตรูพืชทางชีวภาพ ในปี 2554 ได้ดำเนินการสำรวจและเก็บรวบรวมแมลงหวี่ขาวใยเกลียว จำนวน 6 ครั้ง ใน จังหวัดชลบุรี ระยอง สุพรรณบุรี ชัยนาท และจังหวัดนครราชสีมา พบการระบาดของแมลงหวี่ขาวใยเกลียวในมันสำปะหลัง มะละกอ พริก ถั่ว และพวกวัชพืชต่างๆ เป็นต้น พบแมลงศัตรูธรรมชาติ คือ แตนเบียน ด้วงเต่า และแมลงช้างปีกใส นำแมลงช้างปีกใสมาเลี้ยงเพื่อตรวจดูชนิดพบว่าเป็นชนิด Plesiochrysa ramburi นำแมลงหวี่ขาวใยเกลียวมาเพาะเลี้ยงบนต้นมันสำปะหลัง และต้นชบา เพื่อใช้ตัวอ่อนของแมลงหวี่ขาวใยเกลียว มาเป็นเหยื่ออาหารของแมลงช้างปีกใส โดยใช้ตัวอ่อนแมลงช้างปีกใส P. ramburi วัย 1 จำนวน 100 ตัว ให้แมลงหวี่ขาวใยเกลียวในระยะไข่เป็นอาหาร บันทึกข้อมูลประสิทธิภาพการกินตลอดช่วงเวลาที่เป็นระยะตัวอ่อนพบว่า ตัวอ่อนแมลงช้างปีกใส P. ramburi วัย 1 วัย 2 และวัย 3 สามารถกินไข่แมลงหวี่ขาวใยเกลียวได้ 36.80 104.10 และ 288.67 ฟองตามลำดับ ตลอดระยะตัวอ่อนทำลายไข่แมลงหวี่ขาวใยเกลียวได้ 429.57 ฟอง และในปี 2555 จะทดสอบประสิทธิภาพการกินตัวอ่อนแมลงหวี่ขาวใยเกลียว ของแมลงช้างปีกใสชนิดนี้ต่อไป


ไฟล์แนบ
.pdf   2057_2554.pdf (ขนาด: 70.89 KB / ดาวน์โหลด: 810)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม