มันเทศพันธุ์พิจิตร 2 สำหรับอุตสาหกรรมแป้ง
#1
มันเทศพันธุ์พิจิตร 2 สำหรับอุตสาหกรรมแป้ง
วราพงษ์ ภิระบรรณ์, มนัสชญา สายพนัส, เอกพล มนเดช และพินิจ เขียวพุ่มพวง
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร

          อุตสาหกรรมแป้งต้องการพันธุ์มันเทศที่มีหัวมีขนาดใหญ่ เนื้อสีขาว ผิวเรียบ เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งไม่น้อยกว่า 30 และให้ผลผลิตสูงไม่น้อยกว่า 2,500 กิโลกรัมต่อไร่ แต่มันเทศที่ปลูกส่วนใหญ่เป็นพันธุ์สำหรับบริโภคสด มีเปอร์เซ็นต์แป้งต่ำและน้ำตาลสูง ไม่เหมาะสำหรับอุตสาหกรรมแปรรูปแป้งมันเทศ ปี 2554 - 2560 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตรได้ปรับปรุงพันธุ์มันเทศโดยคัดเลือก พ่อแม่พันธุ์มันเทศเนื้อสีขาว 9 พันธุ์ และสร้างประชากรคัดเลือกโดยผสมข้ามแบบพบกันหมด (diallel cross) ได้ลูกผสมทั้งหมด 72 คู่ผสม ปลูกคัดเลือกตามแผนการคัดเลือกสายต้น (clonal selection) จำนวน 2 ครั้ง จนได้มันเทศ 11 สายต้น จากนั้นนำมาปลูกเปรียบเทียบผลผลิตเบื้องต้น และคัดเลือกเหลือ 7 สายต้น เมื่อนำไปปลูกเปรียบเทียบ ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกาญจนบุรี และศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ จำนวน 2 ฤดูปลูก พบว่า พจ.54-0104-1 ให้ผลผลิต 3,830 กิโลกรัมต่อไร่ และเปอร์เซ็นต์แป้ง 20.8 สูงกว่าพันธุ์เปรียบเทียบ ไต้หวัน No. 1 และ PROC No.65-16 ที่ให้ผลผลิต 2,770 และ 2,580 กิโลกรัมต่อไร่ เปอร์เซ็นต์แป้ง 20.1 และ 19.8 มีการลงหัวและการเจริญเติบโตดี จึงคัดเลือกไปทดสอบในแปลงเกษตรกรจังหวัดพิจิตร พบว่าให้ผลผลิต 3,617 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์เกษตรกรที่ให้ผลผลิต 2,676 กิโลกรัมต่อไร่ หรือมากกว่า 35 เปอร์เซ็นต์ มีเปอร์เซ็นต์แป้ง 23.4 คิดเป็นผลผลิตแป้ง 846 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์เกษตรกรที่ให้ผลผลิตแป้ง 624 กิโลกรัมต่อไร่ หรือมากกว่า 36 เปอร์เซ็นต์ พจ.54-0104-1 เป็นที่ยอมรับของเกษตรกรและโรงงานแปรรูปแป้งมันเทศ ในปี 2562 กรมวิชาการเกษตรได้รับรองเป็นพันธุ์รับรอง ชื่อ “พิจิตร 2”

คำสำคัญ: มันเทศ การผสมพันธุ์ การคัดเลือกสายต้น การเปรียบเทียบพันธุ์ แป้ง


ไฟล์แนบ
.pdf   มันเทศพันธุ์พิจิตร 2 สำหรับอุตสาหกรรมแป้ง.pdf (ขนาด: 446.75 KB / ดาวน์โหลด: 429)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม