ศึกษาการตอบสนองและการดูดใช้ธาตุอาหารของข้าวโพดหวานในกลุ่มดินร่วน-ร่วนเหนียว
#1
ศึกษาการตอบสนองและการดูดใช้ธาตุอาหารของข้าวโพดหวานในกลุ่มดินร่วน-ร่วนเหนียว
ชัชธนพร เกื้อหนุน, สายน้ำ อุดพ้วย, พีรพงษ์ เชาวนพงษ์, ทิวาพร ผดุง, บรรณพิชญ์ สัมฤทธิ์ และกิตจเมธ แจ้งศิริกุล
กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร

          การศึกษาการตอบสนองและการดูดใช้ธาตุอาหารของข้าวโพดหวานในกลุ่มดินร่วน-ร่วนเหนียว จ.อุทัยธานี ระหว่างปีพ.ศ. 2559 - 2564 วางแผนการทดลองแบบ Randomized Complete Block (RCB) 4 ซ้ำ กรรมวิธี คือ ปุ๋ยไนโตรเจน 6 ระดับ คือ 0 8 16 24 32 และ 40 กิโลกรัม N ต่อไร่ ปุ๋ยฟอสเฟต 7 ระดับ คือ 0 4 8 12 16 20 และ 24 กิโลกรัม P2O5 ต่อไร่ และปุ๋ยโพแทช 7 ระดับ คือ 0 6 12 18 24 30 และ 36 กิโลกรัม K2O ต่อไร่ โดยศึกษาอิทธิพลของธาตุอาหารแต่ละชนิด ๆ ละ 2 ปี ปีที่ 1 - 2 (2559 - 2560) ศึกษาการตอบสนองต่อปุ๋ยไนโตรเจน ใส่ปุ๋ย P และ K ตามค่าวิเคราะห์ดิน ปีที่ 3 - 4 (2561 - 2562) ศึกษาการตอบสนองต่อปุ๋ยฟอสเฟต ใส่ปุ๋ย N จากผลการทดลองสองปีแรก ส่วนปุ๋ย K ตามค่าวิเคราะห์ดิน ปีที่ 5 - 6 (2563 - 2564) ศึกษาการตอบสนองต่อปุ๋ยโพแทช ใส่ปุ๋ย N และ P จากผลการทดลองปี 1 - 2 และ 3 - 4 ตามลำดับ

          ผลการทดลองพบว่า การใส่ปุ๋ยไนโตรเจน ปุ๋ยฟอสเฟตและปุ๋ยโพแทชให้ผลผลิตข้าวโพดหวานทั้งเปลือกและน้ำหนักสดต้นสูงกว่ากรรมวิธีไม่ใส่ปุ๋ยไนโตรเจน ปุ๋ยฟอสเฟตและปุ๋ยโพแทชอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่คุณภาพด้านความหวานน้ำหนักแห้งต้น ใบ เมล็ด กาบฝักและซังของข้าวโพดไม่แตกต่างกันเลย การปลูกข้าวโพดหวานพันธุ์ไฮบริกซ์ 3 ในดินร่วนเหนียว จังหวัดอุทัยธานี ที่มีปริมาณอินทรียวัตถุต่ำ-ปานกลาง ปริมาณฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ในดินสูงมาก และปริมาณโพแทสเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ปานกลาง-สูง ข้าวโพดตอบสนองต่อปุ๋ยไนโตรเจน ดังสมการ Y = -0.6989x2 + 44.985x + 2803 โดยมีค่า R2 = 0.9106 การตอบสนองต่อปุ๋ยฟอสเฟต ดังสมการ Y=-3.1704x2 + 96.699x + 3200 โดยมีค่า R2 = 0.6398 และการตอบสนองต่อปุ๋ยโพแทช ดังสมการ Y = -4.2337x2 + 119.76x + 2727 โดยมีค่า R2=0.631 ปริมาณการดูดใช้ธาตุอาหารทั้งหมดของข้าวโพด 28.2 4.5 และ 23.0 กิโลกรัม N P K ต่อไร่ ขณะที่ปริมาณธาตุอาหารที่สูญเสียไปกับผลผลิต 11.0 2.4 และ 6.6 กิโลกรัม N P K ต่อไร่ เมื่อวิเคราะห์ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ด้วยวิธี VCR พบว่า การใส่ปุ๋ยไนโตรเจนอัตรา 16 กิโลกรัม N ต่อไร่ ปุ๋ยฟอสเฟตและปุ๋ยโพแทชอัตรา 4 และ 6 กิโลกรัม P2O5-K2O ต่อไร่ ให้ผลตอบแทนคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์มากที่สุด

คำหลัก: ข้าวโพดหวาน ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม การตอบสนองต่อธาตุอาหาร การดูดใช้ธาตุอาหาร


ไฟล์แนบ
.pdf   4. ศึกษาการตอบสนองและการดูดใช้ธาตุอาหารของข้าวโพดหวานในกลุ่มดินร่วน ร่วนเหนียว.pdf (ขนาด: 330.02 KB / ดาวน์โหลด: 533)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม