การสร้างดีเอ็นเอมาตรฐานเพื่อการตรวจวิเคราะห์ถั่วเหลืองและข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรม
#1
การสร้างดีเอ็นเอมาตรฐานเพื่อการตรวจวิเคราะห์ถั่วเหลืองและข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรม
ประสาน  สืบสุข, กิ่งกาญจน์  พิชญกุล, ขนิษฐา  วงศ์วัฒนารัตน์, กุหลาบ  คงทอง และอลงกรณ์  กรณ์ทอง
สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ

         การตรวจวิเคราะห์ถั่วเหลืองและข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมในห้องปฏิบัติการทุกครั้ง ต้องใช้วัสดุอ้างอิงสำหรับเป็นตัวควบคุมผลการตรวจวิเคราะห์ ดีเอ็นเอมาตรฐานที่อยู่ในรูปแบบของพลาสมิดจัดเป็นวัสดุอ้างอิงชนิดหนึ่งที่สามารถใช้เป็นตัวควบคุม และเปรียบเทียบการปะปนของพืชดัดแปลงพันธุกรรมได้ งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์หลักในการสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นวัสดุอ้างอิงในรูปแบบของพลาสมิดสำหรับใช้ในการตรวจวิเคราะห์ถั่วเหลืองและข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมขึ้นใช้เอง เพื่อทดแทนการนำเข้าวัสดุอ้างอิงที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาสูงกว่าผลิตเอง 15 เท่า ส่งผลให้ต้นทุนค่าวิเคราะห์ตัวอย่างลดลง

         การสร้างดีเอ็นเอมาตรฐานเพื่อการตรวจวิเคราะห์ถั่วเหลืองดัดแปลงพันธุกรรม โดยการเพิ่มปริมาณชิ้นส่วนของยีน CP4EPSPS จากดีเอ็นเอของถั่วเหลืองดัดแปลงพันธุกรรม และยีน Lectin จากถั่วเหลืองที่ไม่ดัดแปลงพันธุกรรม นำชิ้นส่วนของยีนทั้งสองเชื่อมต่อกันอยู่ในพลาสมิดให้ชื่อดีเอ็นเอมาตรฐานนี้ว่า pStdDOA/GMO1 เมื่อนำไปทดสอบความถูกต้องพบว่า ดีเอ็นเอมาตรฐานที่สร้างขึ้นถือเป็นวัสดุอ้างอิงที่สามารถนำไปใช้ในการตรวจวิเคราะห์ถั่วเหลืองดัดแปลงพันธุกรรมได้อย่างถูกต้อง และจากการสร้างดีเอ็นเอมาตรฐานเพื่อตรวจวิเคราะห์ข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรม โดยการเพิ่มปริมาณชิ้นส่วนดีเอ็นเอของ MON810 จากดีเอ็นเอข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรม MON810 ชิ้นดีเอ็นเอของ Bt176 จากดีเอ็นเอข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรม Bt176 และชิ้นดีเอ็นเอของยีน Zein จากดีเอ็นเอข้าวโพดไม่ดัดแปลงพันธุกรรม โดยนำชิ้นส่วนดีเอ็นเอของ MON810 และ Zein ที่ได้มาเชื่อมต่อเข้าด้วยกันอยู่ในพลาสมิดให้ชื่อว่าดีเอ็นเอมาตรฐาน pStdDOA/GMO2 ส่วนชิ้นของดีเอ็นเอ Bt176 และ Zein ได้นำมาต่อเข้าด้วยกันอยู่ในพลาสมิดให้ชื่อว่าดีเอ็นเอมาตรฐาน pStdDOA/GMO3 เมื่อนำดีเอ็นเอมาตรฐานทั้งสองไปทดสอบความถูกต้องพบว่า ดีเอ็นเอมาตรฐานทั้งสองจัดเป็นวัสดุอ้างอิงที่สามารถนำไปใช้การตรวจวิเคราะห์ข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมได้อย่างถูกต้อง 

        ดังนั้นดีเอ็นเอมาตรฐาน pStdDOA/GMO1, pStdDOA/GMO2 และ pStdDOA/GMO3 ที่สร้างขึ้นจัดเป็นนวัตกรรมของกรมวิชาการเกษตรที่สามารถนำมาใช้เป็นวัสดุอ้างอิงในการตรวจวิเคราะห์ถั่วเหลืองและข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประหยัดต้นทุนค่าตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างได้มาก


ไฟล์แนบ
.pdf   1855_2554.pdf (ขนาด: 741.55 KB / ดาวน์โหลด: 2,014)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม