การศึกษาผลของปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของข้าวโพดหวานพันธุ์ไฮบริก
#1
การศึกษาผลของปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของข้าวโพดหวานพันธุ์ไฮบริกซ์ 3
กัลยกร โปร่งจันทึก, ภัสชญภณ หมื่นแจ้ง, นงลักษ์ ปั้นลาย และวีระพงษ์ เย็นอ่วม
ศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชลพบุรี, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครสวรรค์ และกองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร

          งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของข้าวโพดหวานพันธุ์ไฮ-บริกซ์ 3 โดยใช้ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ 2 แบบ ที่มีชนิดแบคทีเรียกลุ่ม Azospirillum sp. และวัสดุพาที่ใช้วิธีปลอดเชื้อแตกต่างกัน (แบบนึ่งฆ่าเชื้อและแบบฉายรังสี) วางแผนการทดลองแบบ RCB จำนวน 4 ซ้ำ มี 7 กรรมวิธีทดลองดำเนินการศึกษาในแปลงทดลอง ณ ศูนย์ขยายเมล็ดพันธุ์พืชลพบุรี (ดินร่วนปนเหนียว) และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครสวรรค์ (ดินร่วนปนทราย) ระหว่างปี 2559 – 2564

          ผลการทดลองพบว่า การใช้ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ทั้งสองแบบในแปลงทดลองศูนย์ขยายเมล็ดพันธุ์พืชลพบุรีให้ผลใกล้เคียงกันทั้ง 6 ปี โดยมี 4 กรรมวิธีที่ทำให้ข้าวโพดหวานพันธุ์ไฮ-บริกซ์ 3 มีน้ำหนักฝักสดรวมเปลือกและน้ำหนักฝักสดปอกเปลือกสูง (1,642-3,621 และ 1,195-2,142 กิโลกรัมต่อไร่ ตามลำดับ) คือ กรรมวิธีที่ 1 ใส่ปุ๋ยเคมี 20-5-10 กิโลกรัม N-P2O5-K2O ต่อไร่ (อัตราแนะนำ) กรรมวิธีที่ 4 ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์แบบที่ 1 ร่วมกับปุ๋ยเคมี 20-5-10 กิโลกรัม N-P2O5-K2O ต่อไร่ กรรมวิธีที่ 5 ใส่ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์แบบที่ 2 ร่วมกับปุ๋ยเคมี 20-5-10 กิโลกรัม N-P2O5-K2O ต่อไร่ (อัตราแนะนำ) และกรรมวิธีที่ 6 ใส่ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์แบบที่ 1 ร่วมกับปุ๋ยเคมี 15-0-7.5 กิโลกรัม N-P2O5-K2O ต่อไร่ (75 เปอร์เซ็นต์ของอัตราแนะนำ)

          ส่วนผลการทดลองของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครสวรรค์พบว่า ทั้ง 4 ปีมีผลการทดลองไปในทิศทางเดียวกัน คือ กรรมวิธีที่ 4 ใส่ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์แบบที่ 1 ร่วมกับปุ๋ยเคมี 30-10-5 กิโลกรัม N-P2O5-K2O ต่อไร่ (อัตราแนะนำ) ข้าวโพดหวานพันธุ์ไฮ-บริกซ์ 3 มีน้ำหนักฝักสดรวมเปลือกและน้ำหนักฝักสดปอกเปลือกสูงที่สุด คือ 1,800 – 3,037 และ 1,267 – 2,146 กิโลกรัมต่อไร่ ตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบว่าการใส่ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ทั้งสองแบบทำให้ผลผลิตข้าวโพดหวานพันธุ์ไฮ-บริกซ์ 3 ของทั้ง 2 แปลงทดลองมีความหวานได้มาตรฐานตามมาตรฐาน มกษ.1512-2554 (8–18 obrix) และทำให้จำนวนประชากร Azospirillum sp. Azotobacter sp. และ Beijerinkia sp. ในดินเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 5 – 68 เมื่อเทียบกับกรรมวิธีที่ 1 และแบคทีเรียทั้งสามสกุลมีประสิทธิภาพในการตรึงไนโตรเจนอยู่ระหว่าง 0.005 – 0.636 μmolC2H2/hr ชี้ให้เห็นว่าการใช้ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์สามารถช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมีไนโตรเจนลงได้และเพื่อให้ได้ผลที่ชัดเจนจึงควรมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

คำสำคัญ: ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-วัน ข้าวโพดหวาน ไฮบริกซ์ 3 ดินร่วนปนเหนียว ดินร่วนปนทราย


ไฟล์แนบ
.pdf   6. การศึกษาผลของปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของข้าวโพดหวานพันธุ์ไฮบริกซ์ 3.pdf (ขนาด: 545.42 KB / ดาวน์โหลด: 386)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม