การผลิตปุ๋ยชีวภาพสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินโดยใช้ปุ๋ยหมักมูลไก่สำหรับข้าวระยะกล้า
#1
การผลิตปุ๋ยชีวภาพสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินโดยใช้ปุ๋ยหมักมูลไก่ และการใช้ประโยชน์สำหรับข้าวระยะต้นกล้า
ประไพ  ทองระอา, สมปอง  หมื่นแจ้ง, ศิริลักษณ์  แก้วสุรลิขิต และกัลยกร โปร่งจันทึก
สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร

          สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินจำพวกที่มีเฮเทอโรซีสต์สามารถเจริญเติบโตในอาหารเลี้ยงเชื้อที่ปราศจากไนโตรเจนได้ จึงได้ทำการศึกษาวิธีการนำปุ๋ยหมักมูลไก่มาใช้เป็นอาหารเพาะเลี้ยงสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินและการคัดเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสมในระดับห้องปฏิบัติการ ผลการศึกษาพบว่าน้ำสกัดปุ๋ยหมักมูลไก่สัดส่วน 1:500 (น้ำหนักต่อปริมาตร) มีปริมาณธาตุอาหารเหมาะสมจึงนำมาใช้ทดสอบเลี้ยงสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน 6 สายพันธุ์เปรียบเทียบกับอาหารเลี้ยงเชื้อปราศจากไนโตรเจนสูตร BG-11 ในสภาพห้องปฏิบัติการพบว่า สายพันธุ์ Nostoc entophylum DASH06142 และ Calothrix weberi DASH 02103 ให้ผลผลิตน้ำหนักแห้งดีที่สุด จากผลการทดลองข้างต้นจึงคัดเลือก 1 สายพันธุ์ เพื่อนำมาทดสอบเลี้ยงขยายผลเปรียบเทียบอีกครั้งในสภาพเรือนทดลองโดยผลิตในขวดพลาสติกโพลีคาร์บอเนตขนาด 18 ลิตร โดยใช้สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินสายพันธุ์ Nostoc entophylum DASH06142 เปรียบเทียบการเลี้ยงในอาหารเหลว BG-11 และในน้ำสกัดปุ๋ยหมักมูลไก่สัดส่วน 1:500 อย่างเดียวหรือผสมกันในอัตราต่างๆ 5 กรรมวิธี เมื่อสาหร่ายเจริญเติบโตนาน 45 วัน คัดเลือกอาหารเพาะเลี้ยงที่ให้ผลผลิตเซลล์ดีที่สุดสำหรับใช้ในการผลิตปุ๋ยชีวภาพสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน รวมถึงศึกษาวิธีการนำปุ๋ยชีวภาพสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินที่ผลิตได้ไปทดสอบกับข้าวระยะต้นกล้าในรูปแบบสารสกัดเซลล์สาหร่าย ผลการทดลองในการผลิตปุ๋ยชีวภาพสาหร่ายพบว่า น้ำสกัดปุ๋ยหมักมูลไก่สัดส่วน 1:500 อย่างเดียว ให้น้ำหนักเซลล์สด และน้ำหนักเซลล์แห้งมากที่สุด รองลงมาคือ เลี้ยงในอาหารเหลวผสมระหว่างอาหารเหลว BG-11 และน้ำสกัดปุ๋ยหมักมูลไก่สัดส่วน 1:500 อัตรา 1:3  ในด้านผลการศึกษาการใช้สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินในรูปสารสกัดเซลล์สาหร่ายกับต้นกล้าข้าวพบว่า เมล็ดข้าวที่ใส่สารสกัดเซลล์สาหร่ายความเข้มข้นตั้งแต่ 10 ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ ทำให้กล้าข้าวเจริญเติบโตมากกว่าน้ำกลั่นอย่างชัดเจนทุกระดับความเข้มข้น โดยความสูง และน้ำหนักต้นแห้งของกล้าข้าวจะเพิ่มขึ้นเมื่อระดับความเข้มข้นของสารสกัดเซลล์เพิ่มขึ้น ในด้านการสะสมไนโตรเจนในต้นกล้าข้าวพบว่า ช่วงความเข้มข้นของสารสกัดเซลล์สาหร่ายตั้งแต่ 10 ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ และ 60 ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ มีการสะสมไนโตรเจนเพิ่มขึ้นจากน้ำกลั่นเฉลี่ย 0.13 และ 0.32 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ส่วนความเข้มข้นที่ 100 เปอร์เซ็นต์ มีการสะสมไนโตรเจนเพิ่มขึ้นจากน้ำกลั่นสูงสุด 0.78 เปอร์เซ็นต์ จากผลการทดลองข้างต้น การผลิตปุ๋ยชีวภาพสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินสามารถใช้น้ำสกัดจากปุ๋ยหมักมูลไก่สัดส่วน 1:500 ผลิตปุ๋ยชีวภาพสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินในสภาพเรือนทดลองได้ ส่วนผลการทดสอบกับกล้าข้าวในรูปแบบสารสกัดเซลล์สาหร่ายช่วงความเข้มข้นที่เป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของกล้าข้าวอยู่ระหว่าง 10 ถึง 100 เปอร์เซ็นต์


ไฟล์แนบ
.pdf   1859_2554.pdf (ขนาด: 174.12 KB / ดาวน์โหลด: 965)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม