การพัฒนาเครื่องอบแห้งกาแฟกะลาโรบัสต้า
#1
การพัฒนาเครื่องอบแห้งกาแฟกะลาโรบัสต้า
เวียง  อากรชี, พิมล  วุฒิสินธุ์, วิบูลย์ เทเพนทร์, นิทัศน์ ตั้งพินิจกุล, ปรีชา อานันท์รัตนกุล, ยงยุทธ คงซ่าน และสุภัทร หนูสวัสดิ์
ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมจันทบุรี และสถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม

          การออกแบบและพัฒนาเครื่องอบแห้งสำหรับกาแฟกะลาพันธุ์โรบัสต้า โดยนำเครื่องอบแห้งแบบโรตารีที่เคยมีการวิจัยมาแล้วแต่ยังมีจุดที่ต้องการแก้ไขและพัฒนาอีกหลายจุด ซึ่งเครื่องที่ปรับปรุงและพัฒนาประกอบด้วยส่วนสำคัญคือ 1)ถังอบลดความชื้นเมล็ดกาแฟ ได้ออกแบบไว้ 2 ขนาดความจุ คือ จุครั้งละ 400 และ 800 กิโลกรัม ลักษณะถังอบจากเดิมเป็นรูปทรงกระบอกกลม เปลี่ยนเป็นถังทรงกระบอกแปดเหลี่ยมมีท่อลมร้อนสำหรับเป่าอัดลมร้อนผ่านเมล็ดกาแฟอยู่ตรงกลางถัง ถ้ามองจากหน้าตัดถังจะเห็นเป็นรูปวงแหวนแปดเหลี่ยมด้านนอก เส้นผ่านศูนย์กลางถังอบ 1,000 และ 1,800 มิลลิเมตร ตามลำดับความจุ ความยาวถัง 1,200 มิลลิเมตร เท่ากันทั้งสองขนาด ซึ่งการออกแบบถังอบเป็นรูปทรงเหลี่ยมช่วยให้สามารถสร้างถังอบที่แข็งแรง มีช่องระบายความชื้นได้ดี มีการกระจายลมร้อนทั่วถึง ติดตั้งระบบขับเคลื่อนการหมุนถังอบได้แข็งแรงทนทานมากขึ้น มีห้องกักเก็บความร้อนเพื่อหมุนเวียนความร้อนกลับมาใช้บางส่วนในช่วงเมล็ดกาแฟความชื้นลดต่ำลงเป็นการประหยัดเชื้อเพลิงความร้อนและที่สำคัญมีประสิทธิภาพในการอบแห้งดีขึ้น 2)ระบบขับเคลื่อนการหมุนถังอบ ใช้โซ่พันแน่นรอบถังมีเฟืองขับและเกียร์ทดความเร็วรอบ ถังหมุนที่ความเร็วประมาณ  2.5 รอบ/นาที  3)พัดลมเป่าอัดความร้อนเข้าถังเป็นชนิดใบพัดแบบแรงเหวี่ยงหนีศูนย์กลางใบโค้งหน้าหรือพัดลมหอยโข่ง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใบพัด 457 มิลลิเมตร ความเร็วรอบใบพัดลม 973 รอบ/นาที 4)แหล่งกำเนิดความร้อน ออกแบบให้ใช้ได้ 2 แบบด้วยกัน คือ ชุดกำเนิดลมร้อนแบบหัวพ่นแก๊สหุงต้มพร้อมอุปกรณ์ควบคุมอุณหภูมิ และแบบชุดแลกเปลี่ยนความร้อนจากเตาเชื้อเพลิงชีวมวล หรือใช้ทั้งสองแบบร่วมกัน 5)อุปกรณ์ลำเลียงป้อนกาแฟเข้าถังเป็นกระพ้อขนาด 100 มิลลิเมตร และสายพานใต้ถังอบนำกาแฟออกจากถังเมื่ออบแห้งแล้ว ผลการทดสอบการอบแห้งกาแฟกะลา อุณหภูมิที่ใช้อบเริ่มต้น 100 องศาเซลเซียส และปรับลดลงตามอุณหภูมิเมล็ดที่สูงขึ้นโดยอุณหภูมิเมล็ดไม่ควรเกิน 45 องศาเซลเซียส ใช้เวลาอบแห้งแต่ละครั้งประมาณ 16-18 ชั่วโมง ที่ความชื้นเมล็ดกาแฟเริ่มต้น 55% ลดลงเหลือ 12% จากวิธีการอบแห้งแบบการเวียนลมร้อนบางส่วนกลับมาใช้ใหม่ มีค่าประสิทธิภาพความร้อนประมาณ 80% การประยุกต์ใช้สามารถใช้อบแห้งพืชเมล็ดเกือบทุกชนิด เช่น กาแฟโรบัสต้า อาราบิก้าได้ทั้งแบบเปลือกสดหรือกะลา ข้าวโพด ถั่วชนิดต่างๆ พริกไทย เป็นต้น เพียงเปลี่ยนตะแกรงช่องระบายความชื้นให้มีขนาดเหมาะสมกับขนาดเมล็ดพืชชนิดนั้นๆ


ไฟล์แนบ
.pdf   1889_2554.pdf (ขนาด: 151.93 KB / ดาวน์โหลด: 1,132)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม