การคัดเลือกและทดสอบสายพันธุ์ Bacillus ที่มีศักยภาพในการควบคุมเชื้อรา P. parasitica
#1
การคัดเลือกและทดสอบสายพันธุ์ Bacillus ที่มีศักยภาพในการควบคุมเชื้อรา Phytophthora parasitica
บุษราคัม อุดมศักดิ์, สุรีย์พร บัวอาจ, ณัฏฐิมา โฆษิตเจริญกุล และอมรรัตน์ ภู่ไพบูลย์
กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          ปี พ.ศ. 2554 ได้ทำการทดสอบศักยภาพของแบคทีเรีย Bacillus ที่แยกได้จากดินปลูก วัสดุปลูก ปุ๋ยคอก และเศษซากพืชจำนวน 85 ไอโซเลท ในการควบคุมเชื้อรา P. parasitica สาเหตุโรคเน่าดำหน้าวัว โดยวิธี dual plate technique บนอาหาร PDA พบว่า มี Bacillus 15 ไอโซเลท ที่สามารถยับยั้งเส้นใยของเชื้อรา P. parasitica ได้ โดยพบว่า 6 ไอโซเลท ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ได้แก่ GM011 17G5 20W14 19W13 22W11 และ 17G15 จากนั้นนำทั้ง 6 ไอโซเลท ไปการทดสอบการควบคุมโรคเน่าดำบนต้นหน้าวัวในโรงเรือนพบว่า ไอโซเลท 17G15 GM011 และ 22W11 มีศักยภาพในการลดการเกิดโรคเน่าดำของหน้าวัวในระดับโรงเรือน โดยสามารถลดอาการแผลเน่าบนใบหน้าวัวได้ประมาณ 15 % ในปี พ.ศ. 2555 ได้ทำการทดสอบประสิทธิภาพ Bacillus รวม 110 ไอโซเลท ในการยับยั้งเชื้อรา P. parasitica สาเหตุโรคเน่าดำกล้วยไม้ในห้องปฏิบัติการพบว่า มี Bacillus จำนวน 73 ไอโซเลท ที่สามารถยับยั้งเส้นใยของเชื้อรา P. parasitica บนอาหาร PDA ได้ จากนั้นได้ทำการคัดเลือก Bacillus ไอโซเลทที่มีประสิทธิภาพสูงสุดจำนวน 6 ไอโซเลท ได้แก่ 2G23 KA2 3G14 19W13 2G24 และ 8W14 นำไปทดสอบประสิทธิภาพการควบคุมโรคเน่าดำในกล้วยไม้ตระกูลแวนด้า โดยการพ่นและบ่มเชื้อไว้เป็นเวลา 24 ช.ม. ก่อนปลูกเชื้อโดยวิธี detached leaf ผลการทดลองพบว่า ที่ 3 วันหลังการทดสอบ ไอโซเลท 19W123 และ 8W14 มีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคเน่าดำกล้วยไม้ในระดับโรงเรือนได้ดีกว่ากรรมวิธีที่ไม่มีการพ่น Bacillus โดยมีค่าฉลี่ยของพื้นที่แผลโรคเน่าดำเท่ากับ 1.47 และ 1.65 ตร.ซม. ตามลำดับ โดยที่กรรมวิธีควบคุมที่ไม่มีการพ่น Bacillus มีค่าฉลี่ยของพื้นที่แผลโรคเน่าดำเท่ากับ 1.75 ตร.ซม. แต่ทั้งนี้ทุกไอโซเลทมีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคเน่าดำกล้วยไม้ไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับกรรมวิธีที่ไม่มีการพ่น Bacillus


ไฟล์แนบ
.pdf   2384_2555.pdf (ขนาด: 424.78 KB / ดาวน์โหลด: 3,743)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม