ทดสอบและพัฒนาจอบหมุนเพื่อสับกลบใบอ้อยสำหรับรถแทรกเตอร์ ขนาดกลาง
#1
ทดสอบและพัฒนาจอบหมุนเพื่อสับกลบใบอ้อยสำหรับรถแทรกเตอร์ ขนาดกลาง
ยุทธนา เครือหาญชาญพงค์, สุภาษิต เสงี่ยมพงศ์, อานนท์ สายคำฟู, พงษ์ศักดิ์ ต่ายก้อนทอง และอัคคพล เสนาณรงค์
สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม

          ผู้วิจัยได้พัฒนาจอบหมุนแถวเดี่ยวเพื่อพรวนดิน และสับกลบใบอ้อยในระหว่างร่องอ้อยขึ้นมาสองรุ่น คือ รุ่นที่ใช้กับรถแทรกเตอร์ขนาด 34-50 แรงม้า ซึ่งจะต้องวิ่งคร่อมร่อง สามารถทำงานได้ดีในอ้อยตอที่มีความสูงของตออ้อยไม่เกิน 40 เซนติเมตร และรุ่นที่ใช้กับรถแทรกเตอร์ขนาด 24 แรงม้า สามารถทำงานในร่องอ้อยได้เหมาะสำหรับแปลงอ้อยตอที่ผ่านการตัดด้วยรถตัดอ้อยที่มีความหนาของใบอ้อยไม่มากนัก (ไม่เกิน 10 เซนติเมตร) จอบหมุนขนาด 24 แรงม้า สามารถนำไปใช้ในกิจกรรมกำจัดวัชพืชได้ด้วย จอบหมุนทั้งสองแบบจะช่วยลดอัตราเสี่ยงจากการเกิดไฟไหม้อ้อยตอ และลดมลภาวะจากการเผาใบและเศษซากอ้อย จอบหมุนสำหรับรถแทรกเตอร์ขนาด 34-50 แรงม้าออกแบบจอบหมุนเยื้องไปทางขวาในแนวล้อของรถแทรกเตอร์ หน้ากว้างในการทำงาน 80 เซนติเมตร ต่อพ่วงกับรถแทรกเตอร์แบบพ่วง 3 จุดใช้เกียร์ทดรับกำลังจากเพลาอำนวยกำลังขนาด 50 แรงม้า ถ่ายทอดกำลังจากห้องเกียร์ผ่านเฟืองโซ่ไปยังเพลาจอบหมุนเพื่อให้ได้ความเร็วรอบประมาณ 500 รอบต่อนาที เพลาจอบหมุนมีจานยึดใบจอบหมุน 3 จาน ในแต่ละจานมีใบจอบหมุนแบบ L ผสม C 6 ใบ ชุดใบจอบหมุนเรียงกันเป็นเกลียวเพื่อไม่ให้กระทบดินพร้อมกัน ซึ่งใช้กำลังในการทำงานน้อยสุด ในการทดสอบที่จังหวัดกาญจนบุรีสำหรับรถแทรกเตอร์ 50 แรงม้า ที่ความชื้นดินเฉลี่ย (มาตรฐานแห้ง) 12.43 % ความยาวใบอ้อยก่อนการสับกลบ 119.2 เซนติเมตร น้ำหนักใบอ้อยต่อพื้นที่ 2,060 กิโลกรัมต่อไร่ ความหนาของใบอ้อย 18 เซนติเมตร ความสามารถในการทำงานทางทฤษฏี 2.09 ไร่ต่อชั่วโมง ความสามารถในการทำงานจริง 1.85 ไร่ต่อชั่วโมง ประสิทธิภาพการทำงาน 83.6 % ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 3.25 ลิตรต่อไร่ สำหรับรถแทรกเตอร์ขนาด 34 แรงม้า ทดสอบที่จังหวัดกาญจนบุรี พบว่า ที่ความชื้นดินเฉลี่ย (มาตรฐานแห้ง) 11.05 % ความยาวใบอ้อยก่อนการสับกลบ 132 เซนติเมตร น้ำหนักใบอ้อยต่อพื้นที่ 1,960 กิโลกรัมต่อไร่ ความหนาของใบอ้อย 14 เซนติเมตร ความสามารถในการทำงานทางทฤษฏี 2.05 ไร่ต่อชั่วโมง ความสามารถในการทำงานจริง 1.91 ไร่ต่อชั่วโมง ประสิทธิภาพการทำงาน 93.08 % ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 3.12 ลิตรต่อไร่

          ส่วนจอบหมุนแบบ 24 แรงม้าออกแบบให้ทำงานในระหว่างร่องอ้อยได้ (เหมาะกับแปลงที่ตัดด้วยรถตัดอ้อย) มีหน้ากว้างในการทำงาน 80 เซนติเมตร ต่อพ่วงกับรถแทรกเตอร์แบบพ่วง 3 จุดใช้เกียร์ทดรับกำลังจากเพลาอำนวยกำลังขนาด 40 แรงม้า ถ่ายทอดกำลังจากห้องเกียร์ผ่านเฟืองโซ่ไปยังเพลาจอบหมุนเพื่อให้ได้ความเร็วรอบประมาณ 336 รอบต่อนาที เพลาจอบหมุนมีจานยึดใบจอบหมุน 4 จาน ในแต่ละจานมีใบจอบหมุนแบบ L ผสม C 6 ใบ ชุดใบจอบหมุนเรียงกันเป็นเกลียวเพื่อไม่ให้กระทบดินพร้อมกัน ซึ่งใช้กำลังในการทำงานน้อยสุด ในการทดสอบที่จังหวัดกาญจนบุรีพบว่า ที่ความชื้นดินเฉลี่ย (มาตรฐานแห้ง) 11.47 % ความยาวใบอ้อยก่อนการสับกลบ 21.5 เซนติเมตร น้ำหนักใบอ้อยต่อพื้นที่ 480 กิโลกรัมต่อไร่ ความหนาของใบอ้อย 7 เซนติเมตร ความสามารถในการทำงานทางทฤษฏี 2.12 ไร่ต่อชั่วโมง ความสามารถในการทำงานจริง 1.95 ไร่ต่อชั่วโมง ประสิทธิภาพการทำงาน 91.98 % ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 1.58 ลิตรต่อไร่ สำหรับการใช้จอบหมุนสำหรับกำจัดวัชพืช ทดสอบในแปลงจังหวัดกาญจนบุรีพบว่า ที่ความชื้นดินเฉลี่ย (มาตรฐานแห้ง) 12.56 % น้ำหนักวัชพืชก่อนการสับกลบ 780 กิโลกรัมต่อไร่ ความสามารถในการทำงานทางทฤษฏี 2.06 ไร่ต่อชั่วโมง ความสามารถในการทำงานจริง 1.98 ไร่ต่อชั่วโมง ประสิทธิภาพการทำงาน 96.12 % ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 1.35 ลิตรต่อไร่ น้ำหนักวัชพืชหลังการกำจัด 19.04 กิโลกรัมต่อไร่ ประสิทธิภาพการกำจัดวัชพืช 97.55 %


ไฟล์แนบ
.pdf   2280_2556.pdf (ขนาด: 1.47 MB / ดาวน์โหลด: 2,216)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม