วิจัยและพัฒนาสถานภาพการเป็นพืชอาศัยและวิธีกำจัดแมลงด้วยความร้อนกำจัดแมลงวันทองในมะนาว
#1
วิจัยและพัฒนาสถานภาพการเป็นพืชอาศัยและวิธีกำจัดแมลงด้วยความร้อน สำหรับกำจัดแมลงวันทองในผลมะนาวเพื่อการส่งออก
สลักจิต พานคำ, ชัยณรัตน์ สนศิริ,มลนิภา ศรีมาตรภิรมย์,รัชฎา อินทรกำแหง,อุดร อุณหวุฒิ
กลุ่มวิจัยการกักกันพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช และผู้เชี่ยวชาญ สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          ศึกษาความเสียหายของมะนาวจากวิธีกำจัดแมลงด้วยความร้อน 2 กรรมวิธี คือ วิธีอบไอน้ำ และวิธีอบไอน้ำปรับสภาพความชื้นสัมพัทธ์ เพื่อหากรรมวิธีกำจัดแมลงด้วยความร้อนที่เหมาะสมโดยอบมะนาวพันธุ์แป้น (Citrus aurantifolia Swing.) โดยการเพิ่มอุณหภูมิภายในสุดผลให้คงอยู่ที่ 46 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 0, 1 และ 2 ชั่วโมง ตามลำดับ และลดอุณหภูมิผลมะนาวทันทีหลังสิ้นสุดการให้ความร้อนโดยเป่าด้วยลมนาน 1 ชั่วโมง การอบมะนาวด้วยวิธีอบไอน้ำ ผลมะนาวจะอยู่ภายใต้สภาพอากาศร้อนความชื้นสัมพัทธ์มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ตลอดเวลา ขณะที่วิธีอบไอน้ำปรับสภาพความชื้นสัมพัทธ์นั้น ในช่วงแรกของการเพิ่มอุณหภูมิผลมะนาวถึง 43 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศเป็น 65 เปอร์เซ็นต์ หลังจากนั้นความชื้นสัมพัทธ์ถูกปรับให้เพิ่มสูงขึ้นอยู่ที่ระดับมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ผลการทดลองพบว่า มะนาวที่ผ่านความร้อนทั้ง 2 วิธี การสูญเสียน้ำหนัก และความเป็นกรดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งแตกต่างจากมะนาวที่ไม่ผ่านความร้อน มะนาวที่ผ่านความร้อนที่อุณหภูมิ 46 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 0 ชั่วโมง ทั้งวิธีไม่แตกต่างกันทางสถิติกับมะนาวที่ไม่ผ่านความร้อน เมื่อพิจารณาข้อมูลจากงานวิจัยนี้ วิธีการกำจัดแมลงด้วยความร้อนกรรมวิธีอบไอน้ำมีศักยภาพ และความเหมาะสมกับมะนาวมากกว่าวิธีอบไอน้ำปรับสภาพความชื้นสัมพัทธ์ อย่างไรก็ดีจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมในด้านการเพิ่มอุณหภูมิที่สูงขึ้นทั้ง 2 วิธี เพื่อใช้พิจารณายอมรับกรรมวิธีที่เหมาะสมในการกำจัดศัตรูพืชด้านกักกันพืช สำหรับกำจัดแมลงวันผลไม้ในผลมะนาวก่อนส่งออกไปยังประเทศที่มีความเข้มงวดด้านกักกันพืช


ไฟล์แนบ
.pdf   2478_2555.pdf (ขนาด: 341.97 KB / ดาวน์โหลด: 689)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม