การศึกษาเชื้อราสาเหตุโรคใบไหม้ใบจุดของปทุมมาและกระเจียว
#1
การศึกษาเชื้อราสาเหตุโรคใบไหม้ใบจุดของปทุมมาและกระเจียว
ธารทิพย ภาสบุตร, ทัศนาพร ทัศคร, พีระวรรณ พัฒนวิภาส, อภิรัชต์ สมฤทธิ์ และสุธามาศ ณ น่าน
กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช และศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย สถาบันวิจัยพืชสวน

          จากการเก็บตัวอย่างใบ ก้านดอก และดอก ที่แสดงอาการโรคใบไหม้ใบจุดของปทุมมาพันธุ์เชียงใหม่ชมพู ไขมุกสยาม ปทุมรัตน์ ลัดดาวัลย์ และทับทิมสยาม ในแหล่งปลูกปทุมมาเขตภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย และจังหวัดลำปาง เขตภาคกลางที่จังหวัดนครปฐม และจังหวัดกาญจนบุรี ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2553 ถึงเดือนกันยายน 2555 พบอาการ 2 อาการ คือ 1. อาการจุดสนิม ใบ ก้านดอก และใบประดับใบประดับ แสดงอาการเป็นจุดแผลกลมขนาดเล็ก สีน้ำตาลคล้ายสีสนิม แผลยุบตัวลงเล็กน้อย เนื้อเยื่อรอบแผลสีเหลืองใส จุดแผลกระจายอยู่ทั่วไป แผลบริเวณใกล้เคียงจะเชื่อมต่อถึงกันได้ 2. อาการใบไหม้ใบจุด ใบแสดงอาการจุดแผลสีน้ำตาล เนื้อเยื่อรอบแผลเป็นสีเหลืองเข้ม ต่อมาจุดแผลสีน้ำตาลจะลุกลามติดต่อกันเป็นแผลขนาดใหญ่และเกิดอาการใบไหม้ ผลการแยกเชื้อราและศึกษาลักษณะทางสัณฐานของเชื้อราเพื่อจำแนกชนิด ได้เชื้อรา 9 ไอโซเลท ดังนี้ Sphaceloma sp. 3 ไอโซเลท Curvularia sp. 1 ไอโซเลท Acremonium sp. 2 ไอโซเลท Fusarium sp. 1 ไอโซเลท และเชื้อราที่จำแนกไม่ได้ 2 ไอโซเลท จากการพิสูจน์โรคโดยปลูกเชื้อราที่คาดว่าเป็นสาเหตุโรคที่แยกได้ลงบนพืชพบว่า เชื้อรา Sphaceloma sp. สามารถทำให้ปทุมมาเป็นโรคได้ โดยแสดงจุดแผลกลมขนาดเล็ก สีน้ำตาลคลายสีสนิม แผลยุบตัวลงเล็กนอย เนื้อเยื่อรอบแผลสีเหลืองใสเหมือนกับที่พบในแปลงปลูก ส่วนการปลูกเชื้อรา Curvularia sp., Acremonium sp. และ Fusarium sp. และเชื้อราที่จำแนกไม่ได้พบว่า เชื้อรา Acremonium sp. ทำให้ใบปทุมมาเป็นโรค เกิดอาการใบจุดสีน้ำตาล เนื้อเยื่อรอบแผลเป็นสีเหลืองเข้มเหมือนกับที่พบในแปลงปลูก ส่วนเชื้อรา Curvularia sp. และ Fusarium sp. และเชื้อราที่จำแนกไม่ได้ไม่ทำให้ใบปทุมมาเป็นโรค จากนั้นนำใบที่แสดงอาการโรคมาแยกเชื้อ นำเชื้อที่แยกได้มาศึกษาลักษณะทางสัณฐานพบว่ามีลักษณะเช่นเดียวกับเชื้อราที่ปลูกเชื้อให้กับพืช


ไฟล์แนบ
.pdf   2325_2555.pdf (ขนาด: 111.58 KB / ดาวน์โหลด: 1,494)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม