วิจัยและพัฒนาวิธีกำจัดแมลงด้วยความร้อนสำหรับกำจัดแมลงวันผลไม้ในผลมะละกอเพื่อการส่งอ
#1
วิจัยและพัฒนาวิธีกำจัดแมลงด้วยความร้อนสำหรับกำจัดแมลงวันผลไม้ในผลมะละกอเพื่อการส่งออก
มลนิภา ศรีมีมาตรภิรมย์, ชัยณรัตน์ สนศิริ, สลักจิต พานคำ, อุดร อุณหวุฒิ และรัชฎา อินทรกำแหง
กลุ่มวิจัยการกักกันพืช และผู้เชี่ยวชาญ สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

         ได้รวบรวมข้อมูลลักษณะประจำพันธุ์ และสภาพพื้นที่ปลูกของมะละกอเพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานการทดลองพบว่า มะละกอมีชื่อวิทยาศาสตร์ Carica papaya L. วงศ์ Caricaceae ในปัจจุบันเกษตรกรนิยมปลูกมะละกอพันธุ์ฮอลแลนด์กันมากเพราะมีตลาดรองรับ ลักษณะเด่นของมะละกอพันธุ์ฮอลแลนด์ มีผลรูปทรงกระบอก ส่วนปลายของผลมีลักษณะป้านคล้ายผลฟักอ่อน เนื้อผลมีสีแดงอมส้ม เนื้อหนาและไม่เละ มีความหนาประมาณ 2.5-3.0 เซนติเมตร เปลือกหนา ทนทานต่อโรค และการขนส่งได้ดี มีรสชาติหวาน มะละกอพันธุ์นี้สามารถปลูกได้ในสภาพพื้นที่ที่เป็นดินเหนียวปนทราย ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา ลพบุรี กาญจนบุรี ปราจีนบุรี แพร่ และเชียงใหม่ จากการสำรวจและเก็บรวบรวมตัวเต็มวัยของแมลงวันผลไม้ในสวนมะละกอจังหวัดกาญจนบุรีมาจำแนกในห้องปฏิบัติการ พบแมลงวันผลไม้ 2 ชนิด ได้แก่ Bactrocera papayae และ B. dorsalis จึงได้นำมาเลี้ยงและขยายพันธุ์ให้มีจำนวนมากด้วยอาหารเทียมในห้องปฏิบัติการพบว่า สามารถเพิ่มปริมาณไข่ และหนอน B.dorsalis ได้ไม่ต่ำกว่า 50,000 ตัว ศึกษาลักษณะความเสียหายของผลมะละกอหลังผ่านความร้อนด้วยวิธีการอบไอน้ำ (Vapor Heat Treatment, VHT) กับวิธีการอบไอน้ำแบบปรับสภาพความชื้นสัมพัทธ์ (Modified Vapor Heat Treatment, MVHT) ในการอบผลมะละกอพันธุ์ฮอลแลนด์โดยให้อุณหภูมิภายในสุดผลอยู่ที่ 46 องศาเซลเซียส และคงอุณหภูมินาน 0, 1 และ 2 ชั่วโมง ตามลำดับ พบว่า มะละกอหลังผ่านความร้อนด้วยวิธีการอบไอน้ำแบบ (MVHT) มีความเสียหายน้อยกว่าวิธีการอบไอน้ำแบบ (VHT) จึงได้ศึกษาความเสียหายของมะละกอพันธุ์ฮอลแลนด์ด้วยวิธีการอบไอน้ำแบบปรับสภาพความชื้นสัมพัทธ์ (MVHT, 50-80%RH) โดยให้อุณหภูมิภายในสุดผลอยู่ที่ 46 องศาเซลเซียส และคงอุณหภูมิ นาน 0, 1 และ 2 ชั่วโมง ตามลำดับ หลังจากอบมะละกอแล้วนำไปเก็บไว้ที่อุณหภูมิ 13 องศาเซลเซียส พบว่าการสูญเสียน้ำหนัก และปริมาณน้ำตาลของมะละกอพันธุ์ฮอลแลนด์หลังผ่านความร้อน ไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติกับมะละกอที่ไม่ผ่านความร้อนแต่พบว่า การอบมะละกอที่อุณหภูมิ 46 องศาเซลเซียส นาน 2 ชั่วโมง จะทำให้สีผิวของมะละกอเปลี่ยนเป็นสีเหลือง และพบอาการเนื้อผลนิ่ม เมื่อใช้มือกดที่ผลมะละกอจะยุบตัวลงมากกว่ามะละกอที่อบด้วยอุณหภูมิ 46 องศาเซลเซียส นาน 0 และ 1 ชั่วโมง ตามลำดับ ศึกษาปริมาณความจุของมะละกอในระดับ 25, 50, 75 และ 100 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ พบว่าปริมาณความจุของมะละกอที่ระดับ 100 เปอร์เซ็นต์ จะใช้ระยะเวลาในการอบมะละกอมากที่สุด รองลงมาคือ ระดับ 75, 50 และ 25 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ (การทดลองจำนวน 2 ซ้ำ)


ไฟล์แนบ
.pdf   2175_2554.pdf (ขนาด: 1.91 MB / ดาวน์โหลด: 1,302)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม