การศึกษาศัตรูพืชกักกันที่ติดมากับเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดนำเข้าจากต่างประเทศ
#1
การศึกษาศัตรูพืชกักกันที่ติดมากับเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดนำเข้าจากต่างประเทศ
ชลธิชา รักใคร่, นงลัก มาอยู่ดี, ศรีวิเศษ เกษสังข์, วัญเพ็ญ ศรีชาติ, วานิช คำพานิช, ปรียพรรณ พงศาพิชณ์ และโสภา พิศวงปราการ
กลุ่มวิจัยการกักกันพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งในภูมิภาคแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีศักยภาพสูงในการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชไร่ที่สำคัญ โดยเฉพาะเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด (Zea mays L.) จากการสืบค้นข้อมูลพบว่า ในปี 2553 มีการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเพื่อการเพาะปลูกจำนวน 1,489,010 กิโลกรัม (สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร, 2553) ข้าวโพดมีข้อมูลศัตรูพืชที่รวบรวมจากศัตรูพืชทั่วโลกมีศัตรูพืชทั้งสิ้น 400 ชนิด เป็นแมลง 218 ชนิด ไร 9 ชนิด หอย 5 ชนิด วัชพืช 24 ชนิด ไส้เดือนฝอย 41 ชนิด เชื้อรา 63 ชนิด แบคทีเรีย 21 ชนิด ไวรัส 12 ชนิด และสัตว์ศัตรูพืชอื่นๆ 5 ชนิด ข้าวโพดจัดเป็นสิ่งต้องห้ามตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดพืชและพาหะจากแหล่งที่กำหนดเป็นสิ่งต้องห้ามข้อยกเว้นและเงื่อนไขตามพระราชบัญญัติกักกันพืช พ.ศ. 2507 (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2550 ปัจจุบันไม่ได้กำหนดให้ต้องมีการรับรองเชื้อโรคศัตรูพืชลงในใบรับรองสุขอนามัยพืชแต่อย่างใดซึ่งอาจมีศัตรูพืชกักกันติดเข้ามาได้ ดังนั้น การทดลองครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์ เพื่อตรวจสอบศัตรูพืชกักกันบนเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดนำเข้าจากต่างประเทศและนำข้อมูลศัตรูพืชที่ตรวจพบมาปรับปรุงมาตรการในการควบคุมการนำเข้าพืชให้มีประสิทธิภาพ การทดลองได้สุ่มตัวอย่างเมล็ดพันธุ์ระหว่างปี 2552 - 2553 จำนวน 42 ตัวอย่าง นำเข้าจากประเทศสหรัฐอเมริกา อินเดีย ไต้หวัน เม็กซิโก ออสเตรเลีย ฟิลลิปปินส์ และอินโดนีเซีย นำมาตรวจวินิจฉัยเชื้อโรคและศัตรูพืชขั้นละเอียดในห้องปฏิบัติการด้วยวิธี Blotter method, Dilution technique, ELISA และ Seedling symptom ผลการตรวจพบเชื้อโรคศัตรูพืช ได้แก่ Fusarium solani, Trichoderma sp., Drechstlera reostrata, Didymella sp., Curvularia lunata, Cladosporium sp., Cladosporium maydis, Cephalosporium acremonium, Alternaria tenuissima, Curvularia lunata, Colletotrichum graminicola Bipolaris sp., Sphaceopsis sp., Curvularia eraglostidis ศัตรูพืชที่ตรวจพบไม่จัดเป็นศัตรูพืชที่สำคัญด้านกักกันพืช อย่างไรก็ตาม ได้จัดทำข้อมูลศัตรูพืชที่ตรวจพบ สำหรับนำไปใช้ประกอบการวิเคราะห์ความเสี่ยงเพื่อควบคุมการนำเข้าพืชให้รัดกุมและมีประสิทธิภาพ


ไฟล์แนบ
.pdf   1665_2553.pdf (ขนาด: 70.99 KB / ดาวน์โหลด: 564)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม