การค้นหายีนควบคุมการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตจากพันธุกรรมของยางพาราวิธี Association
#1
การค้นหายีนควบคุมการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตจากพันธุกรรมของยางพาราโดยวิธี Association 
ฐิตาภรณ์ ภูมิไชย์ , กรรณิการ์ ธีระวัฒนสุข  และนายกฤษดา สังข์สิงห์
สถาบันวิจัยยาง, ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุราษฎร์ธานี

          ยางพาราเป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ สามารถนำรายได้เข้าสู่ประเทศได้มากพืชหนึ่ง และเพื่อเป็นการรักษาสภาพการผลิตและการส่งออกไม่ให้ลดต่ำกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน พันธุ์ยางใหม่ที่มีการเจริญเติบโตดีและมีผลผลิตสูงจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เพื่อเป็นการลดระยะเวลาในการปรับปรุงพันธุ์ การใช้เทคนิคทางเครื่องหมายโมเลกุล (Molecular Marker) จึงเป็นวิธีการหนึ่งที่จะเพิ่มประสิทธิภาพของการปรับปรุงพันธุ์แบบดั้งเดิม ในการวิจัยนี้ได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเครื่องหมายโมเลกุลไมโครแซทเทิลไลท์กับการแสดงออกในการควบคุมการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตในยางพาราโดยวิธี Association mapping จากการวิเคราะห์ความหลากหลายของแอลลีลของเครื่องหมายไมโครแซทเทิลไลท์ จำนวน 128 เครื่องหมาย ในยางพาราลูกผสมจำนวน 97 สายพันธุ์ พบว่ามีจำนวนแอลลีลรวมทั้งหมด 836 แอลลีล เฉลี่ย 6.53 แอลลีลต่อ 1 เครื่องหมายไมโครแซทเทิลไลท์  ค่า PIC มีค่าระหว่าง 0.2 ถึง 0.86 มีค่าเฉลี่ย 0.57  และค่าความหลากหลายของยีนมีค่าระหว่าง 0.23 ถึง 0.87 มีค่าเฉลี่ย 0.62 ข้อมูลผลผลิตและการเจริญเติบโตรอบลำต้นจำนวน 23 ลักษณะได้ถูกนำมาวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ร่วมกันกับเครื่องหมายโมเลกุล พบความสัมพันธ์กับเครื่องหมายโมเลกุลจำนวน 54 เครื่องหมาย เป็นความสัมพันธ์กับผลผลิตจำนวน 26 เครื่องหมาย และความสัมพันธ์กับการเจริญเติบโต จำนวน 33 เครื่องหมาย มีจำนวน 5 เครื่องหมาย ได้แก่ EHB012 hbe4 M692 mA2388 และ mt460 ซึ่งมีความสัมพันธ์ร่วมกันระหว่างผลผลิตและการเจริญเติบโต ผลการศึกษาครั้งนี้เป็นประโยชน์ในการนำเครื่องหมายโมเลกุลมาใช้ในการคัดเลือกพันธุ์ยางที่มีการเจริญเติบโตดีและให้ผลผลิตสูงในโครงการการปรับปรุงพันธุ์ยางต่อไป


ไฟล์แนบ
.pdf   2_2557.pdf (ขนาด: 1.11 MB / ดาวน์โหลด: 1,114)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม