ศึกษาเทคนิคการพ่นสารเพื่อป้องกันกำจัดแมลงศัตรูกล้วยไม้บางชนิด
#1
ศึกษาเทคนิคการพ่นสารเพื่อป้องกันกำจัดแมลงศัตรูกล้วยไม้บางชนิด
พฤทธิชาติ ปุญวัฒโท, ดำรง เวชกิจ, จีรนุช เอกอำนวย, สรรชัย เพชรธรรมรส และสิริวิภา พลตรี
กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          ทำการศึกษาเทคนิคการพ่นสารป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟฝ้าย (Thrips palmi karny) ในกล้วยไม้ ทีสวนกล้วยไม้ของเกษตรกร อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ระหว่างเดือนกรกฎาคม - กันยายน 2552 ทำการทดลอง 2 ครั้ง วางแผนการทดลองแบบ RCB มี 6 กรรมวิธี จำนวน 4 ซ้ำคือ พ่นสารแบบน้ำมากด้วยเครื่องยนต์พ่นสารแบบแรงดันน้ำสูงประกอบหัวฉีดกรวยกลวงแบบแผ่นกระแสวนและหัวฉีดแยกกัน (disc and core) ที่อัตราพ่น 120, 120, 160 ลิตร/ไร่ ด้วยความกว้างแนวพ่นสาร 0.5, 1.0 และ 0.5 เมตร และพ่นสารแบบน้ำน้อยมากด้วยเครื่องพ่นสาร CDA (Controlled Droplet Application) แบบ Air-assisted (Turbair) ที่อัตราพ่น 6 ลิตร/ไร่ ด้วยความกว้างแนวพ่นสาร 0.5 และ 1.0 เมตร เปรียบเทียบกับกรรมวิธีไม่พ่นสาร ทำการพ่นสาร emamectin benzoate (Proclaim 1.92 %EC) อัตรา 20 มล./น้ำ 20 ลิตร พ่นสารทุก 4 วัน ตรวจนับเพลี้ยไฟจำนวน 25 ช่อ/แปลงย่อย (ช่อละดอก) ก่อนพ่นสารทุกครั้งและหลังพ่นสารครั้งสุดท้าย 4 วัน ผลการทดลองพบว่า ทุกกรรมวิธีการพ่นสารแบบน้ำมากมีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟไม่แตกต่างกัน จึงสามารถพ่นในอัตราการพ่น 120 ลิตร/ไร่ ได้สามารถประหยัดสารฆ่าแมลงได้ถึง 25 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบวิธีการของเกษตรกร ส่วนการพ่นสารแบบน้ำน้อยมากด้วยเครื่อง Turbair มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการพ่นแบบน้ำมาก โดยสามารถลดการใช้สารฆ่าแมลงได้ถึง 25 เปอร์เซ็นต์ เช่นกัน เมื่อเทียบกับวิธีการของเกษตรกร นอกจากนี้การพ่นสารทั้งแบบน้ำมากและน้ำน้อยมาก ด้วยความกว้างแนวพ่นสาร 1.0 เมตร สามารถลดเวลาการพ่นสารได้ 2 - 4 เท่า เมื่อเทียบกับการพ่นด้วยความกว้างแนวพ่นสาร 0.5 เมตร


ไฟล์แนบ
.pdf   1324_2552.pdf (ขนาด: 159.96 KB / ดาวน์โหลด: 424)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม