ความผันแปรของความต้านทานต่อสารฆ่าแมลงในหนอนใยผักจากพื้นที่ปลูกต่างๆ
#1
ความผันแปรของความต้านทานต่อสารฆ่าแมลงในหนอนใยผัก (diamondback moth, Plutella xylostella (L.)) จากพื้นที่ปลูกต่างๆ
สุภราดา สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง, สมศักดิ์ ศิริพลตั้งมั่น, พวงผกา อ่างมณี และวนาพร วงษ์นิคง
กลุ่มบริหารศัตรูพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          การทราบความผันแปรของความต้านทานต่อสารฆ่าแมลงของหนอนใยผักในแต่ละท้องที่ช่วยในการเลือกชนิดสารฆ่าแมลงเพื่อใช้ในแผนการใช้สารฆ่าแมลงแบบหมุนเวียนกันอย่างถูกหลักการบริหารจัดการความต้านทานต่อสารฆ่าแมลง ดังนั้นจึงทำการทดลองเพื่อทราบความผันแปรของความต้านทานต่อสารฆ่าแมลงชนิดต่างๆ ในหนอนใยผักจากพื้นที่อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี อำเภอไทรน้อย และอำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี โดยใช้วิธีจุ่มใบผักกะหล่ำปลีในสารฆ่าแมลงที่อัตราแนะนำแล้วให้หนอนกิน ผลการทดลองในปี 2554 พบว่า สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพลดลงโดยทำให้หนอนตายลดน้อยลงจากเดิมมากกว่า 20% ในหนอนใยผักจากพื้นที่อำเภอท่าม่วง ได้แก่ indoxacarb ในหนอนใยผักจากพื้นที่อำเภอไทรน้อย ได้แก่ emamectin benzoate, chlorfenapyr, fipronil, flubendiamide, chlorantraniliprole, Bt. aizawai และ Bt. kurstaki ในหนอนใยผักจากพื้นที่อำเภอบางบัวทอง ได้แก่ indoxacarb, emamectin benzoate และ chlorfenapyr ข้อมูลล่าสุดชี้ว่า สารฆ่าแมลงที่หนอนใยผักต้านทานสูงโดยมีการตายน้อยกว่า 50% ที่อัตราแนะนำ ในหนอนใยผักจากพื้นที่อำเภอท่าม่วง ได้แก่ indoxacarb, tolfenpyrad และ flubendiamide ในหนอนใยผักจากพื้นที่อำเภอไทรน้อย ได้แก่ emamectin benzoate, chlorfenapyr, tolfenpyrad, flubendiamide, chlorantraniliprole และ Bt. kurstaki ในหนอนใยผักจากพื้นที่อำเภอบางบัวทอง ได้แก่ indoxacarb, tolfenpyrad, flubendiamide และ chlorantraniliprole ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้สารฆ่าแมลงดังกล่าวในแผนการใช้สารฆ่าแมลงแบบหมุนเวียนกัน


ไฟล์แนบ
.pdf   2114_2554.pdf (ขนาด: 96.69 KB / ดาวน์โหลด: 983)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม