ประสิทธิภาพสารสกัดพลู (Piper betle L.) เพื่อควบคุมวัชพืช
#1
ประสิทธิภาพสารสกัดพลู (Piper betle L.) เพื่อควบคุมวัชพืช
อัณศยา พรมมา, ศิริพร ซึงสนธิพร, ธัญชนก จงรักไทย และเอกรัตน์ ธนูทอง
สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          การทดสอบประสิทธิภาพสารสกัดพลู (Piper betle L.) เพื่อควบคุมวัชพืช ทำการทดลองระหว่างตุลาคม 2558 - กันยายน 2560 ณ ห้องปฏิบัติการและเรือนทดลอง กลุ่มวิจัยวัชพืชสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร โดยทำการทดสอบสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของพลู จำนวน 7 ส่วน ได้แก่ ใบอ่อน ใบแก่ ใบแก่เต็มที่ ก้านใบอ่อน ก้านใบแก่ ปล้อง และข้อ + ราก โดยแต่ละส่วนของพืช แยกเป็นตัวอย่างสด และตัวอย่างแห้ง นำไปทดสอบกับไมยราบยักษ์ (Mimosa pigra L.) พบว่า พลูแห้งมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการงอกและการเจริญของไมยราบยักษ์ดีกว่าพลูสด และพลูแห้งใบอ่อน และก้านใบอ่อนมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการงอกและการเจริญเติบโตดีกว่าทุกตัวอย่างของพลูแห้ง เมื่อนำพลูแห้งใบอ่อน ไปสกัดด้วยตัวทำละลาย 6 ชนิด ได้แก่ เฮกเซน (hexane) ไดคลอโรมีเทน (dichloromethane) เอทิลอะซิเตท (ethyl acetate) แอซีโทน (acetone) เอทิลแอลกอฮอล์ (ethyl alcohol) และเมทิลแอลกอฮอล์ (methyl alcohol) นำไปทดสอบกับไมยราบยักษ์พบว่า ตัวทำละลายเอทิลอะซิเตทมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการงอกและการเจริญเติบโตของไมยราบยักษ์ดีกว่าตัวทำละลายอื่นๆ และเมื่อนำไปทดสอบกับวัชพืช 7 ชนิด ได้แก่ หญ้าข้าวนก (Echinochloa crus-galli (L.) P. Beauv.) หญ้าปากควาย (Dactyloctenium aegyptium (L.) Willd.) ไมยราบเลื้อย (Mimosa diplotricha C. Wright ex Sauvallen) ไมยราบ (Mimosa pudica L.) ถั่วผี (Phaseolus lathyroides L.) ผักโขมหนาม (Amaranthus spinosus L.) และหงอนไก่ป่า (Celosia argentea L.) โดยใช้สารสกัดเทียบเท่าสกัดจากพลูอัตรา 0.01, 0.05, 0.1, 0.5 และ 1.0 กรัม พบว่าสามารถยับยั้งการงอก และการเจริญของวัชพืชชนิดต่างๆ ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ที่อัตราต่างกัน โดยหญ้าปากควาย ผักโขมหนาม และหงอนไก่ป่า ที่อัตรา 0.05, 0.1, 0.5 และ 1.0 กรัม หญ้าข้าวนก ที่อัตรา 0.1, 0.5 และ 1.0 กรัม และไมยราบเลื้อย ไมยราบ และถั่วผี ที่อัตรา 0.5 และ 1.0 กรัม ตามลำดับ เมื่อทดสอบในเรือนทดลองพบว่า สารสกัดเทียบเท่าสกัดจากพลูอัตรา 10 กรัม มีประสิทธิภาพสำหรับพ่นผักโขมหนามระยะ 2 - 3 ใบ เมื่อนำไปทดสอบกับวัชพืช 7 ชนิด สารสกัดเทียบเท่าสกัดจากพลูอัตรา 10 กรัม ทำให้หญ้าข้าวนกชะงักการเจริญเติบโตเพียงเล็กน้อย แต่พบการตายใน ไมยราบเลื้อย ไมยราบ และผักโขมหนาม และการทดสอบกับวัชพืชประเภทใบกว้าง 5 ชนิด ได้แก่ ไมยราบเลื้อย ไมยราบ ถั่วผี ผักโขมหนาม และหงอนไก่ป่า การพ่นสารสกัดเทียบเท่าสกัดจากพลู 20 กรัม มีประสิทธิภาพในการควบคุมวัชพืชประเภทใบกว้างแต่ละชนิดแตกต่างกัน โดยหลังพ่น 28 วัน พบการตายสูงสุดทุกชนิดแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติจากกรรมวิธีอื่น โดยพบการตายของ ไมยราบเลื้อย ไมยราบ ถั่วผี ผักโขมหนาม และหงอนไก่ป่า 48.0, 11.2, 52.8, 100.0 และ 64.0 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ไมยราบเลื้อย และไมยราบ มีความสูง น้ำหนักสด และน้ำหนักแห้ง น้อยสุดแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติจากกรรมวิธีอื่น และผักโขมหนามสามารถควบคุมได้สมบูรณ์ ใบของวัชพืชประเภทใบกว้างทั้ง 5 ชนิด ที่ได้รับสารสกัดพลู มีอาการฉ่ าน้ำ ใบและลำต้นเปลี่ยนเป็นสีขาว หรือน้ำตาล และแห้งตายในที่สุด


ไฟล์แนบ
.pdf   125_2560.pdf (ขนาด: 866.95 KB / ดาวน์โหลด: 827)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม