การจัดชั้นมาตรฐานไม้ยางพาราระดับแปลงเกษตรกร เพื่อสู่ระบบซื้อขายผ่านตลาดกลางไม้ยางพารา
#1
การจัดชั้นมาตรฐานไม้ยางพาราระดับแปลงเกษตรกร เพื่อนำสู่ระบบซื้อขายผ่านตลาดกลางไม้ยางพารา
กฤษดา สังข์สิงห์, อารักษ์ จันทุมา, สุพินยา จันทร์มี, สมมาต แสงประดับ, มาตุวรรณ บุณยัษเฐียร และพนัส แพชนะ
ศูนย์วิจัยยางสุราษฎร์ธานี, สำนักงานตลาดกลางยางพาราสุราษฎร์ธานี, สถาบันวิจัยยาง

          สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการเปิดตลาดกลางไม้ยางพาราในปี พ.ศ. 2555 ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดและให้มีการแข่งขันเสรีทางการค้า ระบบตลาดเป็นแบบเสนอราคาสุทธิเหมาสวนทางอิเลคทรอนิคส์ผู้เสนอราคาสูงสุดเป็นผู้ชนะการประมูล เพื่อให้การดำเนินการของตลาดกลางไม้ยางพาราบรรลุตามวัตถุประสงค์ การจัดชั้นมาตรฐานไม้ยางพาราในแปลงเกษตรกรจึงเป็นเครื่องมือ (tool) ที่สำคัญของระบบตลาดกลาง สำหรับการนำผลการจัดชั้นที่ได้ของแต่ละสวนประกาศบนเว็บไซท์ (www.Rubberthaiwoodauction.com) ก่อนที่จะประมูลผ่านระบบอิเลคทรอนิคส์ของตลาดกลางไม้ยางพาราต่อไป การจัดชั้นมาตรฐานไม้ยางพาราดำเนินการระหว่างปี พ.ศ. 2553 - 2555 ประกอบด้วย 4 ขั้นตอนหลัก คือ 1) สำรวจข้อมูลจากโรงงานรับซื้อไม้ยางพาราในเขตภาคใต้และภาคตะวันออก จำนวน 25 โรง เพื่อหาลักษณะที่ต้องใช้ในการจัดชั้นมาตรฐานไม้ยาง 2) นำข้อมูลตัวแปรจากขั้นตอนที่ 1 พร้อมค่าถ่วงน้ำหนัก ผนวกกับวิธีการประเมินปริมาณไม้ที่ได้ศึกษาไว้แล้วมาคำนวณด้วยสมการทางคณิตศาสตร์ในการจัดชั้นมาตรฐาน ซึ่งผลการคำนวณสามารถแบ่งชั้นมาตรฐานไม้ยางได้เป็น 16 ชั้นตามปริมาณไม้และข้อจำกัด 3) จัดทำประชาพิจารณ์ร่วมกับผู้เกี่ยวข้อง พัฒนารูปแบบการประเมินการจัดชั้นมาตรฐานไม้ยาง และจัดสัมมนาถ่ายทอดวิธีการจัดชั้นมาตรฐานไม้ยางแก่เจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรเพื่อให้สามารถจัดชั้นมาตรฐานไม้ยางได้ผลเช่นเดียวกัน 4) ดำเนินการจัดชั้นมาตรฐานไม้ยางในสวนยางที่แจ้งความประสงค์ขายไม้ผ่านตลาดกลางไม้ยางพาราและนำข้อมูลของสวนยางมาประกาศบนเว็บไซท์จนถึงขณะนี้มีเกษตรกรและส่วนราชการได้ยื่นความประสงค์ขายไม้ยางพาราผ่านตลาดกลาง จำนวน 26 แปลง เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปสำรวจ จัดชั้นมาตรฐานและนำผลข้อมูลประกาศบนเว็บไซท์แล้ว จำนวน 18 แปลง มีการประมูลซื้อขายผ่านตลาดกลางเสร็จสิ้นและดำเนินการตัดโค่นแล้ว จำนวน 7 แปลง ผลจากการขายไม้ยางพาราผ่านระบบการซื้อขายของตลาดกลางไม้ยางพาราทำให้เกษตรกรได้รับมูลค่าเพิ่มขึ้นจากราคาสุทธิที่พอใจเฉลี่ยร้อยละ 61.7


ไฟล์แนบ
.pdf   2272_2555.pdf (ขนาด: 337.4 KB / ดาวน์โหลด: 730)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม