ประวัติหน่วยงาน

ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรภูเก็ต  ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี   พ.ศ. 2497  เดิมเรียกว่า  “แปลงเพาะขยายพันธุ์ยาง”  ตำบลเทพกระษัตรี อำเภอถลาง  จังหวัดภูเก็ต มีหน้าที่ผลิตและขยายยางพันธุ์ดีสู่เกษตรกรเท่านั้น ต่อมาในปี พ.ศ.2517 เปลี่ยนเป็น “สถานีทดลองยางถลาง สังกัด กองการยาง” กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปฏิบัติงานด้านวิจัยทดลองยาง การผลิตและขยายพันธุ์ยางและการถ่ายทอดเทคโนโลยียาง  ในปี พ.ศ. 2525 มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ในกรมวิชาการเกษตรจึงจัดให้สถานีทดลองยางถลาง เป็นเครือข่ายของ ศูนย์วิจัยยางสุราษฎร์ธานี สังกัดสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร

ในปี 2535 เปลี่ยนชื่อเป็น “สถานีทดลองยางภูเก็ต” ต่อมาปี พ.ศ. 2546 ปรับเปลี่ยนโครงสร้างใหม่เป็น “ศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตภูเก็ต”  สังกัดสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 กรมวิชาการเกษตร  และในวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ.2552 เปลี่ยนเป็น “ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรภูเก็ต” จนถึงปัจจุบัน

ในปี พ.ศ. 2545 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรภูเก็ต ได้รับงบประมาณ ตามโครงการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เพื่อดำเนินการพัฒนาพื้นที่และกิจกรรมของศูนย์ฯ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร (Ago-Tourism) โดยมุ่งให้ความรู้ทางการเกษตร ควบคู่กับความเพลิดเพลินจากการชมกิจกรรมและพืชพรรณที่หลากหลาย รวมทั้งเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจอันร่มรื่น

พื้นที่ภายในศูนย์รวม 144 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นแปลงปลูกพืชชนิดต่างๆ และเนื่องจากภารกิจเดิมนั้นได้ปฏิบัติงานด้านยางพาราเป็นหลัก ดังนั้นจุดเน้นศูนย์จึงมุ่งให้สถานที่แห่งนี้เป็น “ศูนย์ท่องเที่ยวยางพารา” ที่ประกอบด้วยกิจกรรมของยางพาราอย่างครบวงจร

ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรภูเก็ต ตั้งอยู่เลขที่ 166 หมู่ 9 ตำบลเทพกระษัตรี อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต 83110 โทรศัพท์ 076-612157  โทรสาร 076-621077 เปิดทำการทุกวัน ในวันและเวลาราชการ 08.00 – 16.30 น