วันที่ 7 ธันวาคม 2566 นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร มอบหมายให้ นายสุรกิตติ ศรีกุล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการผลิตพืช เป็นประธานการประชุมคณะทำงานพิจารณาโครงการวิจัยด้านการเกษตร ครั้งที่ 2/2566 ณ ห้องประชุม 201 ชั้น 2 ตึกกสิกรรม กรมวิชาการเกษตร เวลา 09.30 – 16.30 น. โดยมีคณะทำงานประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคพืช (นางณัฎฐิมา โฆษิตเจริญกุล) ผู้เชี่ยวชาญด้านปรับปรุงพันธุ์พืชไร่ (นายสุริพัฒน์ ไทยเทศ) รักษาการในตำแหน่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการผลิตพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ (ภาคใต้ตอนล่าง) (น.ส.บุญณิศา ฆังคมณี) ผู้อำนวยการกองแผนงานและวิชาการ (นางศศิญา ปานตั้น) และมี ผู้อำนวยการกลุ่มระบบวิจัย (น.ส.วิยวรรณ บุญทัน) ทำหน้าที่คณะทำงานและเลขานุการ โดยที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณากลั่นกรองโครงการวิจัยที่หน่วยงานเสนอขอรับสนับสนุนการวิจัยจากเงินรายได้การดำเนินงานวิจัยด้านการเกษตร ก่อนเสนอคณะกรรมการบริหารการดำเนินงานวิจัยด้านการเกษตร (อธิบดีกรมวิชาการเกษตร : ประธาน) เพื่อพิจารณาอนุมัติสนับสนุนงบประมาณจากกรอบเงินรายได้งานวิจัย ปี 2567 ของกรมวิชาการเกษตร เพื่อแก้ปัญหาภาคเกษตรเร่งด่วนและขยายผลงานวิจัยตอบสนองนโยบายรัฐบาล กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” เช่น การศึกษาเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อแบบรวดเร็วเพื่อผลิตมะพร้าวพันธุ์ดีของกรมวิชาการเกษตร การใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์ย่อยสลายวัสดุอินทรีย์ของกรมวิชาการเกษตร การผลิตและการนำไปใช้ประโยชน์ถ่านชีวภาพจากเศษซากข้าวโพดและผักตบชวาเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกและฝุ่น PM 2.5 ทั้งนี้ยังได้เชิญ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักนิติการ (นายแสนศักดิ์ เหลืองเกื้อกูลชัย) ผู้อำนวยการกองคลัง (นางเพลิน สิริวีระพันธุ์) และผู้อำนวยการกลุ่มของกองคลัง เข้าร่วมให้ข้อมูล/ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะในประเด็นที่เกี่ยวข้องอีกด้วย

วันที่ 31 ตุลาคม 2566 นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร มอบหมายให้ นายสุรกิตติ ศรีกุล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการผลิตพืช เป็นประธานการประชุม “ ชี้แจงแนวทางการจัดสรรงบประมาณการวิจัยของกรมวิชาการเกษตร ประจำปี 2567 ที่ได้รับอุดหนุนเพื่อการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนงานมูลฐาน (Fundamental Fund) จากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ” เวลา 09.30 น. เป็นต้นไป ผ่านโปรแกรม ZOOM Meetings (ห้องประชุมหลักประธาน ผชช.ด้านโรคพืช (ดร.ณัฏฐิมาโฆษิตเจริญกุล) ผอ.กองแผนงานและวิชาการ (ดร.ประพิศ วองเทียม) ผอ.กลุ่มเงินนอกงบประมาณ กคง. (นายสิทธิเดช มีนิล) และทีมงานกองแผนงานและวิชาการ : ห้องประชุมผู้บริหาร ชั้น 2 อาคารศูนย์ปฏิบัติการฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี กรมวิชาการเกษตร) ให้กับผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 500 คน ประกอบด้วย ผอ.หน่วยงาน ผู้เชี่ยวชาญ ผอ.แผนงานวิจัย/หน.โครงการวิจัย ประจำปี 2567 และผู้เกี่ยวข้องในหน่วยงาน โดยในการประชุม นางสาววิยวรรณ บุญทัน ผู้อำนวยการกลุ่มระบบวิจัย กองแผนงานและวิชาการ ได้ชี้แจงเพื่อสร้างการรับรู้ให้เกิดความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน ในประเด็นการจัดสรรงบประมาณการวิจัยของกรมวิชาการเกษตร ประจำปี 2567 ที่ได้รับอุดหนุนเพื่อการวิจัยด้าน ววน. เพื่อสนับสนุนงานมูลฐาน (Fundamental Fund) จากกองทุนส่งเสริม ววน. สกสว. ระบบวิจัยและพัฒนากรมวิชาการเกษตร ประจำปี 2567 และหลักเกณฑ์ แนวทาง และวิธีปฏิบัติที่เกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินอุดหนุนเพื่อการวิจัยด้าน ววน. ของกรมวิชาการเกษตร ที่ได้รับจากกองทุนส่งเสริม ววน. สกสว. ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รวมทั้ง ผู้อำนวยการกลุ่มต่างๆ ของ กผง. ร่วมชี้แจงและตอบข้อซักถามของผู้เข้าร่วมประชุม

วันที่ 18 ตุลาคม 2566 นายสุรกิตติ ศรีกุล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการผลิตพืช มอบหมายให้ ดร.ณัฎฐิมา โฆษิตเจริญกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคพืช เป็นประธาน และ ดร.ประพิศ วองเทียม ผู้อำนวยการกองแผนงานและวิชาการ นางเพลิน สิริวีระพันธุ์ ผู้อำนวยการกองคลัง ผู้อำนวยการกลุ่มต่างๆ ของกองแผนงานและวิชาการ/กองคลัง ร่วมประชุมเพื่อให้สัมภาษณ์ เรื่อง “บทบาทของหน่วยวิจัยและนวัตกรรมของรัฐและการบริหารจัดการงานวิจัยด้านการเกษตรและอาหาร” ของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เวลา 09.30 – 14.00 น. ผ่านโปรแกรม ZOOM Meetings (ห้องประชุมหลัก : ห้องประชุมผู้บริหาร ชั้น 2 อาคารศูนย์ปฏิบัติการฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี กรมวิชาการเกษตร) โดยฝ่ายกรมวิชาการเกษตรได้ให้สัมภาษณ์ในประเด็นการจัดการงานวิจัย การจัดสรรงบประมาณงานวิจัย การติดตามประเมินผล การนำผลงานไปใช้ประโยชน์ การบูรณาการความร่วมมือในการทำงานวิจัย ความเห็นต่อนโยบายที่เกี่ยวกับการวิจัยในปัจจุบัน รวมทั้งได้ให้ข้อเสนอแนะที่ต้องการได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมเพื่อให้งานวิจัยสามารถสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม