วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 นางศศิญา ปานตั้น ผู้อำนวยการกองแผนงานและวิชาการ เป็นประธานในการประชุมตัวชี้วัดกองแผนงานและวิชาการ เพื่อพิจารณารายงานผลการปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 รอบ 6 เดือน และวางแผนการดำเนินงานตามคำรับรองการปฏิบัติราชการ รอบ 9 เดือน และรอบ 12 เดือน ให้เป็นไปตามเกณฑ์ และเป้าหมาย โดยมีผู้แทนจากกลุ่ม/ฝ่ายเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมกองแผนงานและวิชาการ

วันที่ 29 เมษายน 2568 กองแผนงานและวิชาการ นำโดยนางศศิญา ปานตั้น ผู้อำนวยการกองแผนงานและวิชาการ เข้าร่วมกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญญลักษณ์การต่อต้านการทุจริต (ท่ามือไขว้หน้าอก) ณ บริเวณหน้าอาคารศูนย์ปฏิบัติการฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี กรมวิชาการเกษตร

เรื่อง การประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านวิชาการกรมวิชาการเกษตร ครั้งที่ 2/2568 วันจันทร์ที่ 28 เมษายน 2568 เวลา 09.30 ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 2 อาคารศูนย์ปฏิบัติการการฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี กรมวิชาการเกษตร
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้มอบหมายให้ นางณัฎฐิมา โฆษิตเจริญกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคพืช รักษาการในตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิด้านการผลิตพืช ผู้อำนวยการสำนักผู้เชี่ยวชาญ เป็นประธานในการประชุม ร่วมกับคณะผู้เชี่ยวชาญ(กรรมการ) และมีกองแผนงานและวิชาการ เป็นฝ่ายเลขานุการ โดยมีวาระสำคัญในพิจารณาแนวทางการติดตามและรายงานความก้าวหน้าผลการดำเนินงานวิจัยประจำปี 2568 (รอบ 9 เดือน) เพื่อประกอบการพิจารณาการจัดทำแผนปฏิบัติงานโครงการพร้อมงบประมาณประจำ 2569 เพื่อจัดเตรียมทำคำรับรองการปฏิบัติตามเงื่อนไขของการอนุมัติงบประมาณ ววน. ประจำปี 2569 และการพิจารณาข้อเสนองานวิจัยเพื่อ เตรียมจัดทำคำของบประมาณด้าน ววน. ส่ง สกสว. ประจำปี 2570 ตลอดจนแนวทางการจัดทำแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เงินอุดหนุนคงเหลือจากการดำเนินงานวิจัยงานมูลฐาน (Fundamental Fund) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณงานวิจัย ปี 2568

วันที่ 22 เมษายน 2568 อธิบดีกรมวิชาการเกษตร มอบหมายให้ ดร.ณัฎฐิมา โฆษิตเจริญกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคพืช รษก. ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการผลิตพืช ผู้อำนวยการสำนักผู้เชี่ยวชาญ และรษก. ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการอารักขาพืช เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืช ครั้งที่ 2/2568 ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 2 อาคารศูนย์ปฏิบัติการฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี กรมวิชาการเกษตรร่วมกับท่านที่ปรึกษากรมวิชาการเกษตร ดร.สุรกิตติ ศรีกุล คณะผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านพืชสวน พืชไร่ และผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชาเฉพาะด้าน เข้าร่วมการประชุมและพิจารณาข้อมูลทางวิชาการงานด้านการปรับปรุงพันธุ์ เพื่อพิจารณารับรองพันธุ์ เป็นประเภท พันธุ์แนะนำ พันธุ์รับรอง ตามประกาศกรมและขั้นตอนการรับรองพันธุ์ที่ของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งในการประชุมดังกล่าวนี้ มีพันธุ์พืชที่เสนอขอเข้าพิจารณารวมจำนวนทั้งสิ้น 3 สายพันธุ์ จากสถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน ประกอบด้วย 1) ถั่วเหลืองฝักสดสายพันธุ์ CM0913-3 2) ถั่วเหลืองสายพันธุ์ MHS6 และ 3) อ้อยโคลน NSUT13-313 ก่อนเสนอคณะกรรมการวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืชกรมฯ และเมื่อผ่านการพิจารณาตามขั้นตอนของกรมฯ แล้ว หน่วยงานนำพันธุ์พืชไปใช้ขยายผล ต่อยอด และใช้ประโยชน์สู่กลุ่มเกษตรกรเป้าหมาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืช ให้มีคุณภาพ เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และสามารถเป็นทางเลือกให้เกษตรกรได้

วันที่ 22 เมษายน 2568 อธิบดีกรมวิชาการเกษตร มอบหมายให้ ดร.ภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการดูแลสิทธิประโยชน์ด้านทรัพย์สินทางปัญญา ครั้งที่ 2/2568 ณ ห้องประชุม 201 ชั้น 2 ตึกกสิกรรม กรมวิชาการเกษตร และผ่านระบบ ออนไลน์ (Zoom Application) โดยมีคณะกรรมการดูแลสิทธิประโยชน์ด้านทรัพย์สินทางปัญญา ร่วมกันพิจารณาอนุญาตให้สิทธิในผลงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตรในเชิงพาณิชย์ ให้กับผู้ประกอบการ จำนวน 6 เทคโนโลยีดังนี้
1. การผลิตปุ๋ยชีวภาพละลายฟอสเฟต
2. การผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ย่อยสลายวัสดุอินทรีย์
3. สูตรชีวภัณฑ์เชื้อราเขียวเมตาไรเซียมรูปแบบเชื้อสดอัดเม็ดและกรรมวิธีการผลิต
4. การผลิตชีวภัณฑ์เชื้อแบคทีเรีย Bacillus subtilis สายพันธุ์ BS-DOA24
5. การผลิตเชื้อแบคทีเรียปฏิปักษ์ Bacillus subtilis สายพันธุ์ BS-DOA 20W16
6. การผลิตเชื้อรา Trichoderma harzianum สายพันธุ์ DOA-TH50

และพิจารณาต่อสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในผลงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตรในเชิงพาณิชย์ ให้กับผู้ประกอบการ จำนวน 2 เทคโนโลยี ดังนี้
1. สูตรและกรรมวิธีการผลิตปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์สำหรับข้าวโพดและข้าวฟ่าง
2. สูตรและกรรมวิธีการผลิตปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์สำหรับอ้อยและมันสำปะหลัง