วันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร (นายพงศ์ไท ไทโยธิน) ได้มอบหมาย นางสาววิยวรรณ บุญทัน ผู้อำนวยการกลุ่มระบบวิจัย กองแผนงานและวิชาการ พร้อมทีมงาน เข้าร่วมพิธีเปิดและเข้าร่วมการประชุมเครือข่ายบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (TSRI-RDP 2024 : Preparing Today for Tomorrow’s Challenges) ซึ่งกำหนดจัดระหว่างวันที่ 21 – 23 พฤศจิกายน 2567 ณ โรงแรมรีเจ้นท์ ชะอำ บีช รีสอร์ท จ.เพชรบุรี และได้มอบหมายนักวิจัยรุ่นใหม่ของกรมวิชาการเกษตร ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เข้าร่วมนำเสนอผลงานวิจัยโครงการวิจัยที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนงานมูลฐานของหน่วยงาน (Fundamental Fund : FF) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2566 จากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในรูปแบบ Oral Presentation และ Poster Presentation จำนวน 23 ผลงาน ในการประชุมดังกล่าว อีกทั้งนักวิจัยรุ่นใหม่ของกรมวิชาการเกษตรยังได้เข้าร่วมกิจกรรมสร้างเครือข่ายระหว่างนักวิจัยรุ่นใหม่และนักวิจัยอาวุโสในหน่วยรับงบประมาณของกองทุนส่งเสริม ววน. และพัฒนาทักษะความรู้ให้นักวิจัยรุ่นใหม่ด้านเทคนิคการวิจัยการนำเสนอผลงาน

วันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 นางศศิญา ปานตั้น ผู้อำนวยการกองแผนงานและวิชาการ ได้มอบหมายกลุ่มระบบวิจัย กลุ่มติดตามและประเมินและทีมนักวิชาการของกองแผนงานและวิชาการ เข้าร่วมการประชุมเชิงปฎิบัติการ ฟังบรรยาย และร่วมเป็นวิทยากรบรรยายในการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “การจัดทำโครงการด้านสังคมศาสตร์ในประเด็นการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบ” การส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารกับกติกาโลก “สุขอนามัยและสุขอนามัยพืช”
การวิเคราะห์ผลกระทบกฎหมายด้วยวิธีทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อการกำกับดูแลที่ดี ณ โรงแรม มารวยการ์เด้น กรุงเทพ จัดโดย กองพัฒนาระบบและรับรองมาตฐานสินค้าพืช กรมวิชาการเกษตร โดยกลุ่มระบบวิจัย กผง. มอบหมาย นางสรวงสรรค์ ทาเวียง นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ เข้าร่วมเป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อเรื่อง ทิศทางงานวิจัย ของกรมวิชาการเกษตร และการจัดทำแผนงาน/โครงการวิจัย เพื่อเสนอขอรับงบประมาณจากหน่วยบริหารและจัดการทุน (PMU) ของกองทุนส่งเสริม ววน. สกสว. โดยได้ให้ความรู้เกี่ยวกับยุทธศาสตร์งานวิจัยของประเทศและแนวทางการพัฒนางานวิจัยตามความต้องการของประเทศทิศทางงานวิจัยกรมวิชาการเกษตร ขั้นตอนการเสนอโครงการวิจัยเพื่อขอรับการสนับสนุนเงินงบประมาณ จากหน่วยงานให้ทุนวิจัยภายนอก และการดำเนินงานวิจัยร่วมกับหน่วยงานภายนอกของกรมวิชาการเกษตรที่สอดคล้องตามประกาศกรมวิชาการเกษตร และนางสาวปฎิมา ประภาสะวัต ผู้อำนวยการกลุ่มติดตามและประเมินผล เข้าร่วมเป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อเรื่อง การติดตามและประเมินผล แนวทางการติดตามและประเมินผล ใน ระบบ ววน. การติดตามและประเมินผลงานวิจัย (งบ สกสว.) ของกรมวิชาการเกษตร และทำอย่างไร เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี ในการประเมิน โดยในการประชุมได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ตลอดการประชุม

วันที่ 22 ตุลาคม 2567 นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธานและมอบนโยบายขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมกรมวิชาการเกษตร รวมทั้งการดำเนินงานตามภารกิจของคณะผู้เชี่ยวชาญ ในการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านวิชาการกรมวิชาการเกษตร ครั้งที่ 5/2567 โดยมี ดร.ณัฎฐิมา โฆษิตเจริญกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคพืช รักษาการในตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการผลิตพืช กล่าวต้อนรับและรายงานผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ผู้เข้าร่วมการประชุมเพื่อรับมอบนโยบายประกอบด้วย ที่ปรึกษาอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการผลิตพืช คณะผู้เชี่ยวชาญกรมวิชาการเกษตรทุกท่าน และทีมงานกองแผนงานและวิชาการ เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 2 อาคารศูนย์ปฏิบัติการฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี กรมวิชาการเกษตร
สรุปสาระสำคัญขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมกรมวิชาการเกษตร รวมทั้งการดำเนินงานตามภารกิจของคณะผู้เชี่ยวชาญ :

  1. การขอกำหนดตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญ (เพิ่มเติม) โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามขั้นตอน และมีเนื้องานตามภารกิจไม่ซ้ำซ้อนกับตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญที่มีอยู่ในปัจจุบัน
  2. การมีบทบาทร่วมของผู้เชี่ยวชาญในการเสนอผลงานวิจัยเพื่อขอรับรางวัลระดับกรมและระดับประเทศตามภารกิจของหน่วยงาน
  3. การมีบทบาทร่วมของผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารหน่วยงานร่วมกับผู้บริหารหน่วยงาน
  4. แนวทางและมาตรการเยียวยาภายหลังภัยพิบัติน้ำท่วม โดยเร่งกำหนดมาตรการสกัดการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืชภายหลังประสบภัยพิบัติน้ำท่วมตามภารกิจกรมวิชาการเกษตร
  5. แนวทางและมาตรการป้องกันกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลังโดยการใช้ท่อนพันธุ์ต้านทาน/ทนทาน
  6. การเร่งรัดขยายผลการผลิตถั่วเหลืองอินทรีย์และเพิ่มพื้นที่การผลิตถั่วเหลืองอินทรีย์ในพื้นที่ปลูกข้าวอินทรีย์ จ.อุบลราชธานี ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และยโสธร เป็นต้น
  7. แนวทางและมาตรการผลิตขยายชีวภัณฑ์เพื่อสนับสนุนมาตรการสกัดการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืชภายหลังประสบภัยพิบัติน้ำท่วมตามภารกิจกรมวิชาการเกษตร
  8. ระบบตรวจสอบย้อนกลับ GAP บูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน และการตรวจวิเคราะห์โลหะหนักแคดเมียมที่ปนเปื้อนในผลผลิตเกษตร
  9. แผนการเปิดตลาดสินค้าเกษตร ปี 2568 – 2569
  10. การพัฒนาศักยภาพเรื่อง Gene Editing ของกรมฯ ทั้งระบบครบทุกมิติ ตั้งแต่ด้านนวัตกรรม ห้องปฏิบัติการ เครื่องมือ และพัฒนาศักยภาพนักวิจัยด้วยการส่งนักวิจัยไปเรียนรู้ดูงานที่ต่างประเทศ GED โดยมุ่งเน้นนำเทคโนโลยีด้านการเกษตร เช่น เกษตรแม่นยำ เกษตรอัจฉริยะ และเทคโนโลยีด้านการเกษตรขั้นสูง มาพัฒนาอาชีพด้านการเกษตร

อีกทั้งที่ประชุมยังได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อมูลสะท้อนกลับที่เป็นประโยชน์ เพื่อผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายทิศทางงานวิจัยและนวัตกรรมของกรมวิชาการเกษตร ไปสู่การปฏิบัติวิจัยเชิงรุกตามแนวทางนโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ที่มุ่งเน้นพัฒนางานวิจัยตามพันธกิจของกรมฯ และดำเนินงานตามแนวทาง “BALANCE DOA TOGETHER” ให้ได้ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดและประเทศก้าวทันต่อบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป