วันที่ 26 ธันวาคม 2567 นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารการดำเนินงานวิจัยด้านการเกษตร ครั้งที่ 3/2567 ผ่าน Zoom Meeting เพื่อพิจารณาอนุมัติงานวิจัยด้านการเกษตรที่สำคัญประจำปี 2568 จำนวน 1 โครงการ :
“โครงการพัฒนาระบบช่วยให้คำแนะนำการจัดการพืชที่เป็นเลิศ ” AI Chatbot “
ทุเรียน มะพร้าวน้ำหอม และกาแฟ ” ขับเคลื่อนองค์ความรู้ผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านพืชที่ถูก
ต้องของกรมวิชาการเกษตรไปสู่การใช้ประโยชน์รองรับพลวัตของสังคมดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลง
อย่างรวดเร็วด้วยปัญญาประดิษฐ์ช่วยตอบคำถามแม่นยำ รวดเร็ว อัตโนมัติ ไม่จำกัดเวลา ตลอด 24 ชั่วโมง รองรับภาษาที่หลากหลาย ให้บริการแก่ เกษตรกร ผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐภาคเอกชน และประชาชนที่สนใจ ผ่าน Web Application เชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ เช่น LINE และ Facebook Messenger
ยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและ
สหกรณ์ให้ทันต่อสถานการณ์จุดประกายเกษตรไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการเกษตรและอาหาร
ของโลก ยกระดับรายได้ของเกษตรกรและคว้าโอกาสในตลาดใหม่ๆ ด้วยการใช้ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” พร้อมผลักดันเป้าหมายสร้างรายได้เพิ่ม

วันอังคารที่ 24 ธันวาคม 2567 นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร มอบหมาย ดร.ณัฎฐิมา โฆษิตเจริญกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคพืช รักษาการในตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการผลิตพืช เป็นประธานการประชุมคณะทำงานพิจารณาโครงการวิจัยด้านการเกษตร ครั้งที่ 6/2567 ณ ห้องประชุม 501 ชั้น 5 ตึกกสิกรรม กรมวิชาการเกษตร และ ผ่านโปรแกรม Zoom Meeting เพื่อพิจารณากลั่นกรองโครงการวิจัยที่หน่วยงานเสนอขอรับสนับสนุน การวิจัยจากเงินรายได้การดำเนินงานวิจัยด้านการเกษตร ในประเด็นการปลูกมะคาเดเมียลดพื้นที่เผาป่าแก้ปัญหา PM 2.5 อย่างยั่งยืนใน จ.เชียงใหม่ การขยายผลชุดตรวจสอบแอฟลาทอกซินบี 1 โดยเทคนิค Competitive Latreal Flow Immunoassay เชิงพาณิชย์ การพัฒนาเครื่องมือเก็บเกี่ยวและแปรรูปลำไย การพัฒนาเครื่องขึ้นมะพร้าวทดแทนแรงงานลิง การปรับปรุงฟื้นฟูสวนทุเรียนแบบคาร์บอนต่ำ และ การพัฒนาระบบช่วยให้คำแนะนำการจัดการพืชที่เป็นเลิศ ” AI Chatbot ” ทุเรียน มะพร้าวน้ำหอมและกาแฟ ก่อนเสนอคณะกรรมการบริหารการดำเนินงานวิจัยด้านการเกษตรพิจารณาอนุมัติตามกระบวนการพิจารณาของกรมวิชาการเกษตร เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาภาคการเกษตรเร่งด่วนและผลักดันขยายผลต่อยอดผลงานวิจัยพืชพันธุ์ดีและเทคโนโลยีการผลิตพืชพันธุ์ดีของกรมวิชาการเกษตรไปใช้ประโยชน์สู่กลุ่มเป้าหมาย ตอบสนองนโยบายรัฐบาล กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ทันต่อสถานการณ์

วันที่ 18 – 19 ธันวาคม พ.ศ. 2567 ณ โรงแรมมารวยการ์เด้น กรุงเทพฯ เพื่อผลักดันให้เกิดการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมของกรมวิชาการเกษตร ไปใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง และส่งเสริมให้บุคลากรพัฒนาทักษะการเขียนคำขอข้อเสนอโครงการวิจัยด้านการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ (Research Utilization; RU) พร้อมทั้งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์และข้อคิดเห็นระหว่างวิทยากรและผู้เข้าร่วมฝึกอบรม ร่วมทั้งเป็นการบูรณาการการทำงานวิจัยร่วมกับหน่วยงานภายนอก เช่น กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้บรรยาย ดังนี้

1 เรื่อง กรอบโครงการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ และการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากด้วยการพัฒนาชุมชนและฐานทุนทางวัฒนธรรม และเทคนิคการจัดทำข้อเสนอโครงการวิจัย  

โดย นายบุญเยี่ยม เหลาสะอาด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเมืองน่าอยู่ และการกระจายศูนย์กลางความเจริญ หน่วยบริหารจัดการทุนด้านการพัฒนาระดบพื้นที่ (บพท.)

2. เรื่อง กรอบโครงการวิจัยและนวัตกรรมด้านการจัดการความรู้การวิจัยและถ่ายทอดเพื่อการใช้ประโยชน์ (KM) และเทคนิคการจัดทำข้อเสนอโครงการวิจัย

โดย นางสาวภาวดี คำชาลี ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมพัฒนาศักยภาพบุคลากรการวิจัย รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

          3. เรื่อง กรอบโครงการวิจัยและนวัตกรรมด้านการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ (Research Utilization; RU)

โดย ดร. สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ที่ปรึกษาประจำสำนักงานด้านการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.)

          4. เรื่อง เทคนิคการจัดทำข้อเสนอโครงการวิจัยด้านการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ (Research Utilization; RU)

โดย นางสาวภาวดี ใจเอื้อ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการใช้ประโยชน์ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.)

          5. เรื่อง ผลสำเร็จของการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยด้านการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ (Research Utilization; RU)

โดย ดร.ปริญญารัตน์ ภูศิริ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยด้านส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร

6. เรื่องแนวทางบริหารจัดการงบประมาณที่ได้รับจากหน่วยบริหารและจัดการทุน (PMU)

โดย นางวรางคนางค์ เสมาทอง นักวิชาการเงินและบัญชีชำนาญการ กลุ่มเงินนอกงบประมาณ กองคลัง กรมวิชาการเกษตร

วันที่ 6 ธันวาคม 2567 เวลา 7.30 – 10.00 น. นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร พร้อมด้วย ดร.ภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร คณะผู้บริหารกรมวิชาการเกษตร ผู้อำนวยการกองแผนงานและวิชาการ และเจ้าหน้าที่กองแผนงานและวิชาการ เข้าร่วมพิธีทำบุญตักบาตรและพิธีน้อมรำลึกวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร 5 ธันวาคม ณ สวนเฉลิมพระเกียรติ 55 พรรษา กรมวิชาการเกษตร

วันที่ 3 ธันวาคม 2567 นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้มอบหมาย ดร.ณัฎฐิมา โฆษิตเจริญกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคพืช รักษาการในตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการผลิตพืช เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านวิชาการกรมวิชาการเกษตร ครั้งที่ 6/2567 (กำหนดจัดระหว่างวันที่ 2 – 3 ธันวาคม 2567) โดยมี ที่ปรึกษาอธิบดีกรมวิชาการเกษตร คณะผู้เชี่ยวชาญกรมวิชาการเกษตรทุกท่าน ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 จ.อุบลราชธานี ผู้อำนวยการกองแผนงานและวิชาการ เข้าร่วมการประชุม และทีมกองแผนงานและวิชาการเป็นฝ่ายเลขานุการ โดยที่ประชุมได้ร่วมรับฟังการบรรยายสรุปและลงพื้นที่เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานวิจัยแผนงานวิจัย/โครงการวิจัยของ สวพ.4 ในสภาพห้องปฏิบัติการ โรงเรือน และแปลงทดลอง ในพื้นที่ สวพ.4 และหน่วยงานเครือข่าย โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

  1. งานวิจัยการตรวจสอบความใช้ได้วิธีวิเคราะห์สารออกฤทธิ์ fipronil imidacloprid และ dinotefuran ในผลิตภัณฑ์สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ภายใต้โครงการวิจัยและพัฒนาเทคนิคการทดสอบแบบสารรวมและสารเดี่ยวในการวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายทางการเกษตรที่จำหน่ายในท้องตลาด ณ ห้องปฏิบัติการทดสอบวัตถุอันตรายทางการเกษตร อาคารปฏิบัติการตรวจสอบรับรองคุณภาพมาตรฐาน สวพ.4
  2. งานวิจัยการตรวจวิเคราะห์สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชในสิ่งแวดล้อมพื้นที่เกษตรกรรมลุ่มน้ำมูล และการสำรวจสารพิษตกค้างในเงาะ มะม่วง และทุเรียนจากแหล่งผลิตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภายใต้โครงการวิจัยการตรวจวิเคราะห์สารพิษตกค้างในผลิตผลเกษตรและสิ่งแวดล้อม ณ ห้องปฏิบัติการทดสอบสารพิษตกค้าง อาคารปฏิบัติการตรวจสอบรับรองคุณภาพมาตรฐาน สวพ.4
  3. การผลิตชีวภัณฑ์และปุ๋ยชีวภาพเพื่อใช้ในโครงการวิจัยและพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชสมุนไพรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ณ อาคารผลิตชีวภัณฑ์และปุ๋ยชีวภาพ สวพ.4
  4. การผลิตและใช้ประโยชน์เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีควบคุมโรคพืชในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ณ อาคารผลิตชีวภัณฑ์และปุ๋ยชีวภาพ สวพ.4
  5. การขยายผลชีวภัณฑ์ของกรมวิชาการเกษตร ได้แก่ บาซิลลัส ซับทีลิส 20W1 (ควบคุมโรคใบจุด) บีที กำจัดหนอนกระทู้ผัก เพื่อนำไปใช้ในพื้นที่แปลงสาธิตฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริฯ และแปลงสาธิตปลูกพืชผสมผสานพื้นที่ 10 ไร่ ที่ปลูกไม้ผลผสมผสานการผลิตพืชอินทรีย์ และการสร้างบ่อขยายแหนแดง 1 บ่อ บ่อแม่พันธุ์ 5 บ่อ แจกจ่ายเกษตรกรที่เข้ามาศึกษาดูงานและเกษตรกรพื้นที่ใกล้เคียง ณ โครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ อำเภอเขื่องใน จ.อุบลราชธานี

อีกทั้งที่ประชุมยังได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อมูลสะท้อนกลับที่เป็นประโยชน์ เพื่อผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายทิศทางงานวิจัยและนวัตกรรมของกรมวิชาการเกษตร ไปสู่การปฏิบัติวิจัยเชิงรุกตามแนวทางนโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ที่มุ่งเน้นพัฒนางานวิจัยตามพันธกิจของกรมฯ และดำเนินงานตามแนวทาง “BALANCE DOA TOGETHER” ให้ได้ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดและประเทศก้าวทันต่อบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป