ตามที่กรมวิชาการเกษตร ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง การส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและการต่อยอดงานวิจัยภาคการเกษตร (MOU) กับ 8 หน่วยงาน ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของ (MOU) ดังกล่าว นายพงศ์ไท ไทโยธิน รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร จึงเป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและการต่อยอดงานวิจัยภาคการเกษตร ครั้งที่ 2/2567 วันอังคารที่ 20 สิงหาคม 2567 เวลา 09.30 – 14.00 น. ณ ห้องประชุม 201 ชั้น 2 ตึกกสิกรรม กรมวิชาการเกษตร และผ่านระบบออนไลน์ (ZOOM Meeting) เพื่อสรุปผลและรายงานก้าวหน้าการขับเคลื่อนเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตร ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย ปีงบประมาณ 2567 และกรมวิชาการเกษตร ได้มีการเสนอเทคโนโลยีที่พร้อมจะถ่ายทอดให้กับหน่วยงานภาคีเครือข่าย ในครั้งนี้ 3 เทคโนโลยีได้แก่

  1. เทคโนโลยีระบบให้น้ำอัจฉริยะในพืชไร่ (มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์)           
  2. เทคโนโลยีการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ย่อยสลายวัสดุอินทรีย์
  3. เทคโนโลยีชีวภัณฑ์แบคทีเรีย Bacillus subtilis สายพันธุ์ BS-DOA 19W6 เพื่อควบคุมโรคแอนแทรคโนสของพริก

วันที่  30 กรกฎาคม – 1 สิงหาคม 2567 กลุ่มวิจัยและวิเคราะห์ทางสถิติงานวิจัยเกษตร กองแผนงานและวิชาการ  ได้จัดฝึกอบรมหลักสูตร “การใช้สถิติกับงานทดสอบในพื้นที่” รุ่นที่ 14  ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 1 ตึก 8 ชั้น กองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร กรมวิชาการเกษตร ให้แก่ข้าราชการกรมวิชาการเกษตรจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อให้งานทดสอบในพื้นที่มีความน่าเชื่อถือและสามารถนำไปใช้หรืออ้างอิงได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยใช้วิชาการสถิติทางด้านการสุ่มตัวอย่างเพื่อใช้เป็นตัวแทนของประชากร  การเก็บรวบรวมข้อมูล  การใช้ตัวสถิติที่ถูกต้องในการวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูล   ตลอดจนการนำเสนอผลการทดสอบในรูปแบบต่างๆ

วันที่  23 – 26 กรกฎาคม 2567 กลุ่มวิจัยและวิเคราะห์ทางสถิติงานวิจัยเกษตร กองแผนงานและวิชาการ  ได้จัดฝึกอบรมหลักสูตร “การใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติ (IRRISTAT)” รุ่นที่ 40 ณ ห้องประชุม 314 ชั้น 3 ตึกกสิกรรม กรมวิชาการเกษตร เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมได้มีความรู้  ความสามารถในการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลงานวิจัย   มีความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการใช้โปรแกรมวิเคราะห์ข้อมูล   และสามารถแปลผลการวิเคราะห์ได้อย่างถูกต้อง  

โดยนายพงศ์ไท ไทโยธิน รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้มอบหมายให้ นางศศิญา ปานตั้น ผู้อำนวยการกองแผนงานและวิชาการ เป็นประธานในการประชุมเตรียมจัดงานเปิดบ้านงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร ประจำปี 2567 วันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม 2567 เวลา 14.00 – 18.30 น. ณ ห้องประชุมอารียันต์ ชั้น 3 ตึกจักรทอง สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร และผ่านทางระบบออนไลน์ โดยในการจัดงานเปิดบ้านงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร ประจำปี 2567 มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยที่มีศักยภาพ และมีความพร้อมในการนำไปใช้ประโยชน์ผลความสำเร็จจากการดำเนินงาน และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และข้อคิดเห็นระหว่างนักวิจัย เกษตรกร ผู้ประกอบการ เจ้าหน้าที่ภาครัฐ และผู้บริหาร ผลักดันให้เกิดช่องทางการเชื่อมโยงผลงานวิจัยระหว่างผู้ผลิตงานวิจัยกับผู้ใช้ประโยชน์ผลงานวิจัย

วันที่ 2 สิงหาคม 2567 นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้มอบหมายให้ ดร.สุรกิตติ ศรีกุล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการผลิตพืช และนางศศิญา ปานตั้น ในฐานะผู้บริหารที่กำกับการปฏิบัติงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กองแผนงานและวิชาการ เข้าร่วมการประชุมชี้แจงเป้าหมายการสนับสนุนงบประมาณการด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ณ ห้องเวิลด์บอลรูม ชั้น 23 โรงแรมเซ็นทารา บางกอก คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) เป็นประธานการประชุม กิจกรรมการประชุมประกอบด้วย

1. รับชมวีดิทัศน์ “การเปิดรับคําของบประมาณ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2569” และ “หลักเกณฑ์และการบริหารงบประมาณเพื่อสนับสนุนงานมูลฐาน”

2. การปาฐกถานำ “นโยบายและเป้าหมายด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ” โดย ศาสตราจารย์ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.)

3. การปาฐกถา “การขับเคลื่อนระบบ ววน. ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2569” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

4. การเสวนา “เจาะลึกมีอะไรใหม่ในการบริหาร ววน.” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.อภิศักดิ์ ธีระวิสิษฐ์ รองศาสตราจารย์ ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ และดร.ณิรวัฒน์ ธรรมจักร์ รองผู้อํานวยการ สกสว. และ รองศาสตราจารย์ ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ผู้อํานวยการหน่วยกลยุทธ์ข้อมูลและดิจิทัล สกสว.

5. การหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการงบประมาณด้าน ววน. แบ่งกลุ่ม สถาบันอุดมศึกษา หน่วยงานในกระทรวง อว. และหน่วยงานนอกกระทรวง อว.