วันอังคารที่ 9 กรกฎาคม 2567 เวลา 08.45 น. รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร(ดร.พงศ์ไท ไทโยธิน) เป็นประธานเปิดการฝึกอบรม เรื่อง การประเมินผลกระทบจากงานวิจัย (Research Impact Evaluation) ระหว่างวันที่ 9-10 กรกฎาคม 2567 ณ โรงแรมเดอะเกรช อัมพวา รีสอร์ท จังหวัดสมุทรสงคราม จัดโดย กองแผนงานและวิชาการ ดำเนินการภายใต้แผนงานเสริมสร้างความเข้มแข็งการบริหารจัดการแผนงานและโครงการด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของกรมวิชาการเกษตร ปี 2567 เพื่อพัฒนาบุคลากรในระบบวิจัยและนวัตกรรมของกรมวิชาการเกษตร ให้เป็นต้นแบบการประเมินผลกระทบจากงานวิจัย สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการออกแบบโครงการและการประเมินงานวิจัยของหน่วยงานตนเองได้ พร้อมทั้งคัดเลือกผลงานเพื่อประเมินผลกระทบรวม 8 โครงการ เพื่อแสดงศักยภาพและความคุ้มค่าในการดำเนินงานวิจัยที่สามารถนำไปสู่การสร้างผลลัพธ์ และผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ ตามเงื่อนไขคำรับรองของการอนุมัติงบประมาณด้านการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2567 วงเงินรวม 316.9340 ล้านบาท ตามที่กรมวิชาการเกษตรได้ลงนามไว้กับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(สกสว.) โดยเชิญคณาจารย์จาก คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แก่ รศ.ดร.สุวรรณา ประณีตวตกุล รศ.ดร.กัมปนาท วิจิตรศรีกมล และ ผศ.ดร.นภสม สินเพิ่มสุขสกุล ซึ่งเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญ ด้านศาสตร์การประเมิน ด้านเศรษฐศาสตร์ และการประเมินโครงการด้านการเกษตรและสิ่งแวดล้อม มาเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้และฝึกปฏิบัติ แก่ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย และผู้เกี่ยวข้องในระวิจัยและพัฒนากรมฯ รวมทั้งสิ้น 100 คน และในการฝึกอบรมครั้งนี้มีหน่วยงานเสนอผลงานวิจัย เพื่อคัดเลือกเข้าประเมินผลกระทบ รวม 16 หน่วยงาน / 18 เรื่อง

วันที่ 2-4 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 กลุ่มวิเคราะห์การใช้ประโยชน์ผลงานวิจัย กองแผนงานและวิชาการ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร “การสร้างเนื้อหา (Content) ผลงานวิจัยให้น่าสนใจเพื่อนำไปใช้เผยแพร่” ณ โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจในการทำเนื้อหาผลงานวิจัยให้น่าสนใจอย่างสร้างสรรค์และสามารถสื่อสารให้กลุ่มเป้าหมายเข้าใจผลงานวิจัยได้อย่างง่าย โดยฝึกปฏิบัติให้แก่นักวิจัยที่เข้าร่วมอบรมในการสร้างเนื้อหา (Content) การเล่าเรื่อง (Content Story) และ การจัดทำวีดีโอ (Video Content) อันนำไปสู่การเผยแพร่องค์ความรู้ผลงานวิจัยให้มีความเข้าใจง่าย เนื้อหามีความน่าสนใจ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเป็นวงกว้าง

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร มอบหมายให้กองแผนงานและวิชาการดำเนินการจัดประชุมเพื่อเตรียมการชี้แจงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ขั้นกรรมาธิการ กรมวิชาการเกษตร ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 เวลา 13.30 น. เป็นต้นไป ณ ห้องประชุม 201 ชั้น 2 ตึกกสิกรรม กรมวิชาการเกษตร เพื่อให้การชี้แจงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ขั้นกรรมาธิการ ของกรมวิชาการเกษตร เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยนายพงศ์ไท ไทโยธิน รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธานในการประชุม

วันที่ 26 มิถุนายน 2567 กองแผนงานและวิชาการ นำโดยนางศศิญา ปานตั้น ผู้อำนวยการกองแผนงานและวิชาการ เข้าร่วมพิธีเปิดงานมหกรรมสินค้าเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้ชื่อกิจกรรม “เกษตรพากิน พาเที่ยว @ลานคนเมือง” ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร โดยกิจกรรมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 – 30 มิถุนายน 2567 และเจ้าหน้าที่ของกองแผนงานและวิชาการร่วมปฏิบัติภารกิจ Chief of the Day ในวันที่ 30 มิถุนายน 2567

การประชุมคณะกรรมการวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืช ครั้งที่ 1/2567 เพื่อพิจารณารับรองพันธุ์พืช 10 พันธุ์ วันที่ 26 มิถุนายน 2567 นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืช ครั้งที่ 1/2567 ณ ห้องประชุม ชั้น 2 สำนักงานอธิบดีกรมวิชาการเกษตร อาคารฝึกอบรมด้านมาตรฐานการผลิตพืช กรมวิชาการเกษตร โดยมีคณะกรรมการร่วมการประชุมประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานภายนอก คณะผู้บริหาร ผู้อำนวยการกอง/สถาบัน/สำนัก กรมวิชาการเกษตร และมีผู้อำนวยการ กองแผนงานและวิชาการ (นางศศิญา ปานตั้น) ร่วมกับทีมกลุ่มระบบวิจัย กลุ่มวิเคราะห์การใช้ประโยชน์ผลงานวิจัย ทำหน้าที่คณะกรรมการและเลขานุการ และเพื่อพิจารณารับรองพันธุ์พืชใหม่ๆ กรมวิชาการเกษตร ก่อนเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัยด้านพันธุ์พืชของกรมฯ ให้เกษตรกรหรือผู้ที่สนใจ นำไปปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อสร้างรายได้ต่อไป สอดคล้องตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้แถลงวิสัยทัศน์ “IGNITE THAILAND” จุดประกายเกษตรไทย สู่การเป็นศูนย์กลางการเกษตรและอาหารของโลก ซึ่งมีความมุ่งมั่นยกระดับภาคเกษตรกรรม ส่งเสริมเกษตรกรไทย ด้วยการใช้ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” พร้อมผลักดันเป้าหมายสร้างรายได้เกษตรกรไทยเพิ่มขึ้น 3 เท่าใน 4 ปี สรุปผลงานด้านพันธุ์ประจำปี 2567 จำนวน 10 พันธุ์ ดังนี้ กระเจี๊ยบเขียวพันธุ์ กวก. กาญจนบุรี 1 ฟ้าทะลายโจรสายพันธุ์ กวก. พิจิตร 1 สับปะรดพันธุ์ กวก. เพชรบุรี 3 ถั่วฝักยาวสีม่วงพันธุ์ กวก. พิจิตร 1 กาแฟอะราบิกาพันธุ์ กวก.เชียงใหม่ 1 ถั่วหรั่งพันธุ์ กวก. สงขลา 3 เห็ดฟางพันธุ์ กวก. สทช. 1 เห็ดเป๋าฮื้อพันธุ์ กวก. สทช. 1 เห็ดถั่วฝรั่งพันธุ์ กวก. สทช. 1 และเห็ดภูฏานลูกผสมพันธุ์ กวก. สทช. 1 โดยมีทีมนักปรับปรุงพันธุ์ทั้ง 10 พันธุ์ เข้าร่วมการประชุมเพื่อชี้แจงและให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องด้วย ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตรมุ่งหวังว่าผลงานด้านพันธุ์พืชดังกล่าว จะทำให้เกษตรกรสนใจนำพันธุ์พืชดังกล่าวไปเป็นทางเลือกหนึ่งในการนำไปปลูกในพื้นที่ เพื่อเป็นการสร้างรายได้กลับคืนให้เกษตรกรได้เพิ่มขึ้น