ข้อมูลพื้นฐานจังหวัดตราด

ขนาดและที่ตั้ง

จังหวัดตราด ตั้งอยู่ระหว่างเส้นละติจูดที่ 11 องศา  ถึง  12 องศา 45 ลิปดาเหนือ  และระหว่างเส้นลองติจูดที่ 102 องศา 15 ลิปดา ถึง 102 องศา 55 ลิปดาตะวันออก  ทั้งหมดมีประมาณ 2,819 ตารางกิโลเมตร หรือ ประมาณ 1,761,875 ไร่  และยังมีพื้นที่ตามเขตปกครองทางทะเล ประมาณ 7,257 ตารางกิโลเมตร โดยมีชายฝั่งทะเลยาวประมาณ 165 กิโลเมตร  คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ ร้อยละ 7.72 ของภาค  อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34 (บางนา-ตราด) เป็นระยะทาง 315 กิโลเมตร โดยมีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดต่าง ๆ ดังนี้

 

ทิศเหนือ               อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี และประเทศกัมพูชาประชาธิปไตย

ทิศใต้                   อ่าวไทย และน่านน้ำทะเลของประเทศกัมพูชาประชาธิปไตย

ทิศตะวันออก           ประเทศกัมพูชาประชาธิปไตย

ทิศตะวันตก            อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี

ลักษณะภูมิประเทศ

  • ที่ราบลุ่มบริเวณลุ่มน้ำ ได้แก่ บริเวณที่ราบตอนกลางและตะวันออก ประกอบด้วยลำน้ำสำคัญหลายสาย ซึ่งเกิดจากภูเขาสูงทางตอนเหนือและตะวันออก เช่น คลองสะตอ คลองแอ่ง คลองห้วยแร้ง ที่ราบบริเวณนี้ ได้แก่ ตำบลสะตอ วังตะเคียน และตำบลเขาสมิง เขตท้องที่อำเภอเขาสมิง และตำบลวังกระแจะ    เนินทราย  ท่ากุ่ม ท่าพริก ตะกาง ชำราก และตำบลแหลมกลัด  เขตท้องที่อำเภอเมืองตราด
  • ที่ราบบริเวณภูเขา มีพื้นที่กว้างขวางมาก เนื่องจากมีภูเขากระจายอยู่ทั่วไปในแทบทุกส่วนของจังหวัด โดยเฉพาะทางตอนเหนือ ได้แก่ ตำบลหนองบอน ช้างทูน บ่อพลอย และด่านชุมพล เขตท้องที่อำเภอบ่อไร่ เป็นบริเวณที่มีภูเขาสูงเป็นส่วนมาก พื้นที่แถบนี้จึงมีความชุ่มชื้นมากเป็นพิเศษ  มีป่าไม้สีเขียวปกคลุมอยู่อย่างหนาแน่น

ในบริเวณตอนกลางของตอนใต้ มีภูเขาสลับกันอยู่อย่างหนาแน่น แต่ป่าไม้บริเวณนี้ มีเหลืออยู่ไม่มากนัก  เนื่องจากประชาชนเข้าไปบุกรุกเพื่อใช้เป็นที่ทำกิน    ตอนกลางของตำบลท่าโสม เขตท้องที่อำเภอเขาสมิง ตำบลวังกระแจะ หนองโสน และตำบลน้ำเชี่ยว เขตท้องที่อำเภอเมือง  ตำบลแหลมงอบ และตำบลบางปิด เขตท้องที่อำเภอแหลมงอบ  บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ทำการเกษตรเป็นส่วนใหญ่  เช่น  สวนผลไม้  ยางพารา  และปลูกสับปะรด

3) ที่สูงบริเวณภูเขา  ภูเขาในจังหวัดตราด มีบริเวณกว้างขวางมากทางตอนเหนือแผ่ลงมาทางตอนใต้ตามพรมแดนจนถึงสุดเขตทางตอนใต้ของจังหวัด  ซึ่งเป็นแนวภูเขาสลับซับซ้อน ส่วนด้านตะวันตกมีภูเขาที่ไม่สูงนักรวมกันอยู่ในบริเวณแคบ ๆ ซึ่งได้แก่ บริเวณตอนกลางของอำเภอแหลมงอบ ติดกับอำเภอเขาสมิง

4) บริเวณที่ราบต่ำฝั่งทะเล  ตามบริเวณฝั่งทะเลเกือบตลอดแนว เป็นบริเวณที่ถูกน้ำจากแม่น้ำลำคลองต่าง ๆ  พัดเอาโคลนตมมาทับถมเป็นจำนวนมาก  ทำให้เกิดที่ราบต่ำขึ้น บริเวณดังกล่าว ได้แก่ บริเวณฝั่งแม่น้ำเวฬุ ตำบลแสนตุ้ง ท่าโสม และบางส่วนของตำบลบางปิด ตำบลน้ำเชี่ยว  อำเภอแหลมงอบ   ลงมาจนถึงสุดชายแดนที่ตำบลหาดเล็ก เขตท้องที่อำเภอคลองใหญ่ บริเวณนี้จะมีน้ำทะเลท่วมถึงอยู่เสมอ จึงเป็นบริเวณที่มีป่าไม้ชายเลนเกิดขึ้นอย่างหนาแน่นตลอดแนว

การปกครอง

จังหวัดตราดแบ่งการปกครองออกเป็น 7 อำเภอ คือ เมือง  เขาสมิง  แหลมงอบ คลองใหญ่ บ่อไร่  เกาะกูด และ เกาะช้าง  แยกเป็น ตำบล จำนวน 38 ตำบล  หมู่บ้าน จำนวน 261 หมู่บ้าน

 

สภาพภูมิอากาศ

ลักษณะภูมิอากาศของจังหวัดตราด นอกจากจะได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมที่พัดผ่านประจำแล้ว ยังได้รับอิทธิพลจากลมทะเลอีกด้วย จึงทำให้ภูมิอากาศเป็นแบบร้อนชื้น  จากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาเฉลี่ยคาบ 30ปี (รายละเอียดดังแสดงในตารางที่ 1 )  จังหวัดตราดมีอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุด  18.5 องศาเซลเซียสในเดือนมกราคม   และสูงสุด  34.5 องศาเซลเซียส ในเดือนพฤษภาคม  และอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปี 27.4 องศาเซลเซียส

ฤดูกาล

ฤดูฝน : เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน-เดือนพฤศจิกายน  ระยะเวลารวม 6 เดือน โดยได้รับอิทธิพล   จากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ นับเป็นจังหวัดที่มีฝนตกชุกมากเป็นอันดับที่ 2 รองจากจังหวัดระนอง โดยปริมาณน้ำฝนจะมีมากที่สุดในเดือนสิงหาคม เดือนสิงหาคมมีปริมาณฝนสูงสุด 1,062 มม. และต่ำสุดในเดือนธันวาคม 19 มม. ปริมาณน้ำฝนรวมเฉลี่ย  4.880 มม./ปี จำนวนวันที่มีฝนตกต่ำสุดในเดือนธันวาคม จำนวน 2.6 วัน สูงสุดในเดือนสิงหาคม จำนวน 27.2 วัน เฉลี่ยทั้งปี 192  วัน

ฤดูหนาว : เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ถึง เดือนกุมภาพันธ์ โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้  โดยจากข้อมูลปี 2520-2549 พบว่า อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุดเดือนมกราคม 18.5 องศาเซลเซียส

ฤดูร้อน : เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม ถึง เดือนมิถุนายน โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้  อุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดเดือนเมษายน   34.5  องศาเซลเซียส

ป่าไม้

สภาพป่าไม้จังหวัดตราด มีทั้งป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ และป่าชายเลน ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ยาง ชุมแพรก กระบาก และโกงกาง  จำแนกได้ดังนี้

1) ป่าสงวนแห่งชาติ  มีจำนวน 14 แห่ง  เนื้อที่รวม 853,564.50 ไร่

2) อุทยานแห่งชาติ  มีจำนวน 2 แห่ง คือ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง  เนื้อที่รวม 406,250 ไร่  และอุทยานแห่งชาติน้ำตกคลองแก้ว  เนื้อที่รวม 65,525 ไร่

3) ป่าชายเลน  บริเวณป่าชายเลนที่สำคัญอยู่บริเวณปากแม่น้ำเวฬุ และชายฝั่งอำเภอแหลมงอบ  อำเภอเขาสมิง อำเภอคลองใหญ่ และอำเภอเมืองตราด มีเนื้อที่ 7,706.30 ไร่

แหล่งน้ำ

แหล่งน้ำจากอากาศ 

จังหวัดตราดมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 4,000 – 5,000  มิลลิเมตรต่อปี  นับว่ามีปริมาณน้ำฝนสูงปริมาณน้ำในแม่น้ำลำคลองมีน้ำไหลตลอดปี  แต่จะมีปัญหาน้ำเค็มในช่วงฤดูแล้ง  เนื่องจากน้ำทะเลเข้ามายังแม่น้ำลำคลอง ทำให้ไม่สามารถนำน้ำไปใช้ประโยชน์ในด้านการเกษตรและการอุปโภคบริโภคได้

แหล่งน้ำผิวดิน

1 )  แม่น้ำตราด  เป็นแม่น้ำที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดตราด  มีความยาวประมาณ  150 กิโลเมตร  มีชื่อเรียกแตกต่างไปตามบริเวณที่ไหลผ่าน  ต้นน้ำเกิดจากทิวเขาบรรทัดตอนเหนือ  ที่สำคัญ คือ คลองเขาสมิง  หรือคลองใหญ่  ปัจจุบันลำคลองนี้ก็ยังคงเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญในการเกษตร เพราะอำเภอเขาสมิงมีพื้นที่เพาะปลูกมากที่สุด  ในจังหวัดตราด  โดยเฉพาะสวนผลไม้ เมื่อไหลสู่เขต อ.เมืองตราด คลองเขาสมิงได้บรรจบกับคลองห้วยแร้ง ที่บริเวณปากคลองห้วยแร้ง หมู่บ้านจุฬามณี  ต.ห้วยแร้ง  ในช่วงนี้เองที่เรียกชื่อว่าแม่น้ำตราด

2 )  แม่น้ำเวฬุ  ต้นน้ำอยู่ในเขตจังหวัดจันทบุรี ที่เขาชะอมและเขาสระบาป มีความสำคัญเพราะไหลผ่านเขตเกษตรกรรมของจังหวัดตราดและจังหวัดจันทบุรี ช่วงที่ไหลผ่านจังหวัดตราดมีความยาวประมาณ 2 0กิโลเมตร ไหลผ่านด่านท่าจอด ต.แสนตุ้ง อ.เขาสมิง  ลงสู่ทะเลบริเวณอ่าวบ้านบางกระดาน  อ.แหลมงอบ จ.ตราด

3 )  คลองสะตอ ต้นน้ำเกิดจากเขาชะอม ในเขตจังหวัดจันทบุรี และเขาคลองปุกในจังหวัดตราด คลองสะตอเป็นแนวคลองแบ่งเขตจังหวัดตราด คลองสะตอเป็นแนวคลองแบ่งเขตจังหวัดตราด และจังหวัดจันทบุรีไหลผ่านบ้านสะตอ บ้านท่าฉาง บ้านเกาะลอย ไหลมาบรรจบกับคลองแอ่งบริเวณบ้านศรีบัวทอง รวมกันเป็นคลองใหญ่หรือแม่น้ำตราด

4 )  คลองแอ่ง  ต้นน้ำเกิดจากเขาคลองปุกไหลผ่านบ้านหนองบอน บ้านช้างทูน บ้านท่าจีน

5 ) คลองฟิด  ต้นน้ำเกิดจากเขาตาแว้ง เขาอีฮิม ไหลผ่านบ้านคลองซาก บ้านหนองฟิด บ้านห้วยตากาด บ้านหินโค้ง ไหลรวมกับคลองห้วยแร้ง บริเวณบ้านขนุน

6 )  คลองห้วยแร้ง  ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาบรรทัด ไหลผ่านฉางเกลือ บ้านขนุน บ้านหนองคล้า บ้านท่าศาลเจ้า ไหลรวมกับแม่น้ำตราด บริเวณบ้านปากคลองห้วยแร้ง

7 ) คลองท่าเลื่อน  ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาบรรทัด ไหลผ่านบ้านหัวนา บ้านสะพานช้าง ไหลลงสู่บริเวณทะเลบ้านคลองท่าเลื่อน

8 )  คลองน้ำชี่ยว  ต้นกำเนิดเกิดจากเขาห้วยน้ำขาว เขาวังปลา ไหลผ่านบ้านชากตาดา บ้านหนองโพรง บ้านน้ำเชี่ยว ไหลลงสู่ทะเลบริเวณบ้านปากคลอง

แหล่งน้ำชลประทาน 

จากข้อมูลของโครงการชลประทานตราด  สำนักงานชลประทานที่ 9  ปี 2553 พบว่ามีพื้นที่ชลประทาน ครอบคลุมพื้นที่ 74,500 ไร่  หรือคิดเป็นร้อยละ 14 ของพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมด

ทรัพยากรดิน

พื้นที่จังหวัดตราดทั้งหมด 1,716,875 ไร่  ประกอบด้วยดินชุดต่างๆ  จำนวน 70 ชุด  เป็นดินชุดคลองชำรากมากที่สุด รองลงมาคือ เป็นพื้นที่ลาดเชิงซ้อน ร้อยละ 31.88 และร้อยละ 16.93 ของพื้นที่ทั้งจังหวัด ตามลำดับ

ลักษณะดินของจังหวัดตราด สามารถจำแนกกลุ่มดินใหญ่ได้ 7 ประเภท ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ ร้อยละ 45  มีลักษณะเป็นกลุ่มดินตื้น ร้อยละ 30  เป็นกลุ่มดินภูเขา  ส่วนที่เหลือมีลักษณะเป็นดินเค็ม  ดินนา ดินไร่ และดินทราย

กรมพัฒนาที่ดินแบ่งลักษณะของดินในจังหวัดตราด ออกได้ตามความสัมพันธ์ของวัตถุต้นกำเนิดของดิน สภาพพื้นที่และอายุของดินเป็นหลัก ดังนี้

1)  ดินบริเวณหาดทรายและสันทราย พบเป็นแนวยาวขนานไปกับชายฝั่งทะเล วัตถุต้นกำเนิดเป็นพวกตะกอนทรายที่ถูกน้ำทะเลพัดพาทับถมริมฝั่งมีการระบายน้ำดีมาก    เป็นดินลึก   เนื้อดินหยาบ   มีการพัฒนาชั้นดินไม่ดีถึง ปานกลาง ดินที่พบในบริเวณนี้เป็นชุดระยะ ชุดพัทยา และดินชุดบ้านทอน

2)  ดินบริเวณที่ราบลุ่มน้ำทะเลท่วมถึง พบเป็นแนวแคบๆ  ตามชายฝั่งทะเลหรือบริเวณปากแม่น้ำ ซึ่งมีน้ำทะเลขึ้นลงเป็นประจำ  วัตถุต้นกำเนิดเป็นพวกตะกอนน้ำทะเลหรือตะกอนน้ำกร่อย ถูกพัดพามาทับถมกันทุกปี ดินที่ทับเป็นดินที่มีการระบายน้ำเลวถึงเลวมาก เนื้อดินเป็นดินเหนียวมีจุดปะในตอนบน ตอนล่างจะมีสีเทาอมน้ำเงิน เนื่องจากก๊าซออกซิเจน ดินพวกนี้ส่วนใหญ่มีป่าโกงกาง หรือพืชทนเค็ม ดินที่พบในบริเวณนี้เป็นดินชุดชะอำ ดินชุดบางปะกง และชุดดินวังเปรียง

3)  ดินบริเวณที่น้ำเค็มเข้าถึง (Lagoon)  พบบริเวณที่ลุ่มเป็นแนวอยู่หลังสันทราย หรือชายหาดมีวัตถุต้นกำเนิด ดินเป็นพวกตะกอนทราย ที่ถูกน้ำทะเลพัดพาทับถม มีการระบายน้ำเลวถึงค่อนข้างเลว เป็นดินลึกเนื้อหยาบ ดินที่พบบริเวณนี้ ได้แก่ ดินชุดบางละมุง และดินชุดบางละมุงประเภทที่เป็นที่ต่ำ

4)  ดินบริเวณที่ราบลุ่มน้ำทะเลเคยท่วมถึงมาก่อน (Format fidal flat) พบที่เกิดถัดเขามาจากที่ราบลุ่มน้ำทะเลท่วมถึง วัตถุกำเนิดดินในบริเวณนี้เกิดจากตะกอนน้ำกร่อย เป็นดินที่มีการระบายน้ำเลว เนื้อดินเป็นดินเหนียว ดินที่พบได้แก่ ดินชุดรังสิต ดินชุดดอนเมือง

5)  ดินบริเวณลานตะพักลำน้ำระดับต่ำ พบอยู่ถัดขึ้นไปจากบริเวณที่กบน้ำท่วมถึงของลำน้ำต่างๆ  วัตถุต้นกำเนิดเป็นพวกตะกอน ลำน้ำเป็นดินที่มีการระบายน้ำค่อนข้างเลวถึงเลว  มีเนื้อดินแตกต่างกันตั้งแต่หยาบถึงละเอียด ส่วนใหญ่ใช้ทำนา ดินที่พบ ได้แก่ ดินตะกอนหลายชนิดปะปนกัน ดินชุดบ้านค่าย ดินชุดระแงะ ดินชุดแกลง  ดินชุดสตูล ดินชุดน้ำกระจาย ดินชุดวิสัย และดินชุดเพ็ญ

6)  ดินบริเวณลานตะพักลำน้ำระดับกลาง  พบเกิดถัดขึ้นมาจากลานตะพักต่ำ  สภาพพื้นที่ที่พบจะมีลักษณะเป็นลูกคลื่นลอนชัย  วัตถุต้นกำเนิดดินเป็นพวกตะกอนลำน้ำเลวที่ถูกน้ำพัดพามาทับถมกันนาน ดินที่พบจะเป็นดินที่มีเนื้อละเอียดถึงเนื้อหยาบ  มีการระบายน้ำดีถึงปานกลางดินที่พบได้แก่ดินชุดคอหงษ์ ดินชุดสะท้อน ดินชุดท่าแซะ ดินชุดสวี ดินชุดชุมพร และดินชุดหาดใหญ่

7)  ดินบริเวณเนินตะกอนรูปพัดติดต่อกัน สภาพพื้นที่ซึ่งเป็นเนินตะกอนรูปพัดจะเกิดในบริเวณใกล้ๆ  เทือกเขา ดินที่พบเกิดจากตะกอนของหอนแกรนิตที่ถูกน้ำพัดพามา ลักษณะเป็นดินร่วนปนทราย ระบายน้ำดี เป็นดินกรดจัดถึงกรดน้อย ดินที่พบ ได้แก่ดินชุดทุ่งหว้า และดินห้วยโป่ง

8)  ดินบริเวณพื้นที่ผิวเหลือค้างจากการกัดกร่อน เป็นดินบริเวณเนินเขาหรือเทือกเขามาก่อน แต่ถูกน้ำกัดกร่อนหรือชะล้างมาเป็นเวลานาน จนกระทั่งทำให้มีพื้นที่เป็นลูกคลื่นลอนลาดจนถึงเป็นเขาดิน    ที่พบจะผันแปรไปตากลักษณะของหินที่เป็นวัตถุต้นกำเนิด

9)  ดินบริเวณพื้นที่เป็นธารลาวาที่ถูกกัดกร่อน  บริเวณที่มีลักษณะเช่นเดียวกันกับบริเวณพื้นผิวเหลือค้าง จากการกัดกร่อน แต่สภาพดินเค็ม เกิดจากธารลาวาภูเขาไฟ วัตถุต้นกำเนิดดินเป็นพวกวัตถุตกค้าง หรือดินลาดเชิงเขาที่เป็นหินบะซอลท์ จะให้ดินมีเนื้อละเอียด มีการระบายน้ำดี เป็นดินลึก เป็นดินกรดแก่จนถึงปานกลาง  ดินที่พบได้แก่ ดินชุดหนองบอน และดินชุดท่าใหม่

10)  ดินบริเวณและภูเขา  บริเวณนี้มีสภาพสูงชัน  ลักษณะของดินที่พบ จะมีลักษณะผันแปรไปตามชนิดของหินซึ่งเป็นวัตถุต้นกำเนิด ดินส่วนใหญ่เป็นดินตื้น หรือมีหินโผล่ จึงไม่เหมาะสมที่จะทำการเกษตรกรรมแต่อย่างใด