ประวัติความเป็นมา

ประวัติความเป็นมา 

           จากแปลงเพาะขยายพันธุ์ยางมาสู่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรรือเสาะ

                ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรรือเสาะ ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2494  ใช้ชื่อว่า “แปลงเพาะขยายพันธุ์ยางรือเสาะ อำเภอรือเสาะ  จังหวัดนราธิวาส  สังกัดกรมกสิกรรม  กระทรวงเกษตร  อยู่ในความรับผิดชอบกำกับดูแลของกสิกรรม  อำเภอรือเสาะ  มีหน้าที่ ผลิต และขยายยางพันธุ์ดีสู่เกษตรกร  ในพื้นที่อำเภอรือเสาะ  และเขตอำเภอใกล้เคียง เดิมมีพื้นที่  6 ไร่เศษ  หลังจากนั้นในปีต่อ ๆ มา ได้ขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นจนกระทั่งมีพื้นที่รวมเป็น  38  ไร่เศษ  โดยได้รับการจัดสรรงบประมาณ จากกรมกสิกรรมในสมัยนั้น 

                หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2517  แปลงเพาะขยายพันธุ์ยางรือเสาะ  เปลี่ยนชื่อเป็น “สถานีทดลองยางรือเสาะ” สังกัด กองการยาง  กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นสถานีเครือข่ายขึ้นกับศูนย์วิจัยยางคอหงส์(ศูนย์วิจัยยางสงขลาในปัจจุบัน)  ปฏิบัติงานด้านวิจัยทดลอง  ผลิตและขยายยางพันธุ์ดีและยางชั้นดี  ตลอดถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยียางสู่เกษตรกรในท้องถิ่น  และเกษตรกรในพื้นที่อำเภอใกล้เคียง    ต่อมาในปีพ.ศ.2525 ได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ ในกรมวิชาการเกษตรสถานีทดลองยางรือเสาะ อยู่ในสังกัดสถาบันวิจัยยาง  กรมวิชาการเกษตร  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  แต่ยังเป็นสถานีฯเครือข่ายขึ้นกับศูนย์วิจัยยางสงขลา  และได้ขยายพื้นที่เพิ่มในปีงบประมาณ พ.ศ.2525  และปีงบประมาณ พ.ศ.2527    โดยซื้อที่ดินของเอกชนที่มีอาณาเขตติดกับสถานีฯ  โดยใช้เงินงบพิเศษงานค้นคว้ายาง  ประมาณ  88  ไร่เศษ  รวมพื้นที่ของสถานีฯ  ทั้งหมด  126  ไร่เศษ 

              หลังจากนั้นในเดือนตุลาคม พ.ศ.2545 รัฐบาลปฏิรูประบบราชการ กรมวิชาการเกษตร ต้องปรับภารกิจและโครงสร้างภายในตามนโยบายของรัฐ โดยยุบสถานีทดลองยางบาเจาะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส รวมกับสถานีทดลองยางรือเสาะ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เปลี่ยนชื่อยกระดับเป็น “ศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตนราธิวาส” สังกัดสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 8 กรมวิชาการการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดใหม่ให้มีภารกิจ วิจัยและพัฒนาพืชสวน  พืชไร่ และยางพารา บริการวิชาการ ผลิตท่อนพันธุ์ เมล็ดพันธุ์และกิ่งพันธุ์ยางพารา รวมถึงการฝึกอบรมเกษตรกรถ่ายทอดเทคโนโลยี พืชสวน พืชไร่ และยางพาราจวบจนกระทั่งถึงเดือนกรกฎาคม ปี พ.ศ.2552 กรมวิชาการเกษตรมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างใหม่อีกครั้งหนึ่ง และได้มีการเปลี่ยนชื่อ    จาก ศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตนราธิวาส มาเป็น “ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรรือเสาะ”                                                                                                  สังกัดสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 8 จ.สงขลา กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

เส้นทาง / ระยะทาง 

  • ระยะทางรถไฟจาก รือเสาะ  –กทม. ประมาณ 1,087  กิโลเมตร
  • ระยะทางรถยนต์จาก รือเสาะ  –กทม.ประมาณ 1,150  กิโลเมตร
  • ระยะทางห่างจากที่ว่าการอำเภอรือเสาะ ประมาณ 1 กิโลเมตร
  • ระยะทางห่างจากอำเภอรือเสาะจังหวัดนราธิวาส  ประมาณ  48  กิโลเมตร ระยะทางห่างจากพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์   ประมาณ  58  กิโลเมตร
  • ระยะทางห่างจากท่าอากาศยานจังหวัดนราธิวาส  ประมาณ  59  กิโลเมตร

 ลักษณะภูมิประเทศ

ตั้งอยู่ในพื้นที่เป็นที่ราบเชิงเขา พื้นที่มีความลาดชัน 0.5 – 12 องศา สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 40 เมตร

ลักษณะดินเป็นดินชุดรือเสาะและบาเจาะ  ค่า pH ของดิน 5.0 – 6.0

ลักษณะภูมิอากาศ

         มีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดผ่าน  อากาศร้อนชื้น กลางคืนอากาศค่อนข้างเย็นฤดูฝนเริ่ม ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม  ฝนจะตกชุกมากในเดือน ตุลาคม – ธันวาคม ในเดือนมกราคมฝนเริ่มลดน้อยลง และย่างเข้าฤดูร้อนในเดือนกุมภาพันธ์

                                – ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยตลอดปี                             2591.03  มิลลิเมตร

                                – จำนวนวันฝนตกเฉลี่ย                                     110  วัน / ปี

                                – อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย                                       33.8  องศาเซลเซียส

                                – อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย                                       21.0  องศาเซลเซียส

                                – อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี                                     27.0  องศาเซลเซียส

                                – ความชื้นสัมพัทธ์ประมาณ                                82.25  เปอร์เซ็นต์ 

แหล่งน้ำ

       ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรรือเสาะ มีลำธารน้ำไหลจากเนินเขาไหลผ่าน  2 สาย แต่จะแห้งขอดในฤดูแล้ง  ศูนย์วิจัยฯได้ ดำเนินการขุดสระเก็บน้ำความจุ 5,600 ลูกบาศก์เมตร เพื่อเก็บไว้ใช้ในการเกษตร

พื้นที่และการใช้ประโยชน์

  • พื้นที่รวม  126  ไร่  แบ่งเป็น
  • พื้นที่ทดลองเปรียบเทียบพันธุ์ยางชั้นปลายกับพันธุ์ KRS ชุดที่ 200 (AK 26 / 11) 47.7 ไร่
  • แปลงยางกรีดทั่วไป   17.8  ไร่
  • แปลงขยายพันธุ์ยางชั้น 1    9.25  ไร่
  • แปลงพันธุ์ไม้หอม / พืชสมุนไพร   3.2  ไร่
  • แปลงไม้ผลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี 90 พรรษา ปลูกระหว่างบ้านพักสถานี / สำนักงาน
  • อาคารสิ่งก่อสร้าง ถนน  สนามฟุตบอล  แปลงเพาะพันธุ์ปาล์มน้ำมัน สวนไม้ดอกไม้ประดับ  สระเก็บน้ำพื้นที่รวม  49.55  ไร่