ความเป็นมา

ความเป็นมา

ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่

สถาบันวิจัยพืชสวน    กรมวิชาการเกษตร
Chiang Mai Royal Agricultural Research Center
Horticulture Research Institute     Department of Agriculture      

****************************************************

ประวัติศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2523 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  บรมนาถบพิตรเสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์ พระที่นั่งไปยังหน่วยหลวงอนุรักษ์ต้นน้ำที่ 5 (หน่วยขุนวาง) และเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรพื้นที่ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ของชาวไทยภูเขา หมู่ที่ 10 (ปัจจุบัน คือ หมู่ที่ 12) ตำบลแม่วิน อำเภอสันป่าตอง (ปัจจุบันเป็นอำเภอแม่วาง) จังหวัดเชียงใหม่ แต่เดิมพื้นที่แห่งนี้เป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ ทำให้น้ำเสีย  พระองค์ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้ กรมวิชาการเกษตร ดำเนินการใช้ทุ่งหญ้าแห่งนี้เป็นสถานที่ทดลอง และขยายพันธุ์พืชสำหรับเกษตรกรบนที่สูง เช่น กาแฟ ข้าวไร่ นาปรัง ไม้ผลเมืองหนาว พืชผัก และไม้ดอกไม้ประดับ

กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินงานตามพระราชดำริโดยให้กองพืชสวน (สถาบันวิจัยพืชสวน) ทำการบุกเบิก ทำเป็นสถานีทดลองสถานีวิจัย 2 แห่งเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2523 โดยสถานีแรกคือ สถานีทดลองเกษตรที่สูงขุนวาง อ.สันป่าตอง (ปัจจุบันคือ อ.แม่วาง) จ.เชียงใหม่  ซึ่งขณะนั้นสถานีฯ ไม่มีงบประมาณเป็นของตัวเอง แต่ได้รับการสนับสนุนพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ผ่านโครงการหลวง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอาชีพด้านการปลูกพืชสำหรับเกษตรกรบนที่สูง หรือชาวไทยภูเขา และสถานีที่ 2 คือ สถานีทดลองเกษตรที่สูงแม่จอนหลวง อ. แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ซึ่งได้รับงบประมาณโดยตรงจากกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปัจจุบันมีพื้นที่ปฏิบัติงาน 5 แห่ง ได้แก่ แม่เหียะ ขุนวาง แม่จอนหลวง โป่งน้อย และผาแง่ม หน้าที่และภารกิจของศูนย์ฯ 1) ศึกษาวิจัยและพัฒนาด้านพืชเมืองหนาวและกึ่งหนาว
2) ผลิตพันธุ์พืชหลักและพันธุ์ดี 3) ปฏิบัติงานส่งเสริมการดำเนินงานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 4) ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเกษตร และให้บริการทางวิชาการ 5) ปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ

ต่อมา ปี 2543 กรมวิชาการเกษตรได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้านการเกษตร ภายใต้การสนับสนุนของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2543 อนุมัติให้มีการดำเนินโครงการไทยเที่ยวไทยและท่องเที่ยวเชิงเกษตร ภายใต้มาตรการส่งเสริมการพัฒนาชนบทและชุมชน (มพช.) กวก. คัดเลือกศูนย์วิจัยฯ  9 แห่ง ปัจจุบันมีศูนย์วิจัยฯ ที่ดำเนินงานโครงการท่องเที่ยวฯ ของกรมวิชาการเกษตร รวม 22 แห่ง โดย ศกล.ชม.(ขุนวางและแม่จอนหลวง) เข้าร่วมดำเนินโครงการดังกล่าว โดยมีรายละเอียดดังนี้

หน้าที่รับผิดชอบ

1.ปรับปรุงพันธุ์พืชเมืองหนาว และกึ่งหนาวบางชนิด

  • ไม้ผลเมืองหนาว และกึ่งหนาว เช่น พี้ช สตรอว์เบอร์รี พลับ  พลัม  เกาลัด  ฯลฯ
  • ไม้ผลอุตสาหกรรม ได้แก่ มะคาเดเมีย กาแฟอะราบิกา ชาจีน และชาน้ำมันพืชผัก สมุนไพรและเครื่องเทศ เช่น กล้วยไม้ และสมุนไพร
  • ไม้ดอกและไม้ประดับ เช่น ซิมบิเดียม และเฟิร์น

2.วิจัยเทคโนโลยีการผลิตพันธุ์พืชให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่

3.วิจัยระบบการปลูกพืชบนพื้นที่สูง

4.เป็นแหล่งเรียนรู้ ดูงาน และฝึกงาน ของ เกษตรกร นักเรียน นิสิต นักศึกษา หน่วยงานราชการ เอกชน และประชาชนทั่วไป

5.เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้านการเกษตร   (ขุนวาง–แม่จอนหลวง)  ซึ่งศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ มีพื้นที่งาน        ทดลอง 5 สถานที่ ได้แก่ แม่เหียะ ขุนวาง แม่จอนหลวง โป่งน้อย และผาแง่ม

ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (แม่เหียะ)  
313 ม.12 ตำบลหนองควาย อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ 50230 พื้นที่ประมาณ 150 ไร่

ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง)
หมู่ 10 ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่ประมาณ 450 ไร่ พื้นที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,300-1,400 เมตร

ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (แม่จอนหลวง)
หมู่บ้านแม่ขุนวาก หมู่ 18 ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่ 1,250 ไร่ มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1300-1400 เมตร

ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (โป่งน้อย)
หมู่บ้านโป่งน้อย ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่ประมาณ 200 ไร่ พื้นที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,100 เมตร

ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ผาแง่ม)
บริเวณผาแง่ม ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่ประมาณ 100 ไร่ พื้นที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,500-1,600 เมตร