ประวัติศปผ.ขอนแก่น

ประวัติความเป็นมา

ศูนย์ศึกษาค้นคว้าและพัฒนาเกษตรกรรม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดตั้งศูนย์ศึกษาค้นคว้าและพัฒนาเกษตรกรรม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนขึ้น ตามมติของคระรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2525 เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานและอำนวยการบริหารโครงการที่ได้รับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการแบบไตรภาคี ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นและสหรัฐอมริกาได้ให้ความช่วยเหลือประเทศไทย โดยศูนย์ค้นคว้าและพัฒนาเกษตรกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ดำเนินงานตามบทบาทหน้าที่ คือ การประสานงานวิจัยระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร และองค์กรระหว่างประเทศในระยะแรก ได้เริ่มดำเนินการปี พ.ศ.2526 ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นได้ให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าเป็นเงินประมาณ 128 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างอาคารและจัดหาวัสดุอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ให้ โดย USAID ได้ให้ทุนในการจัดประชุม สัมมนา ศึกษาดูงาน และให้คำปรึกษาด้านวิชาการ และเมื่อสิ้นสุดโครงการระยะที่ 1 ในเดือนธันวาคม 2531 รัฐบาลญี่ปุ่นได้มีการขยายความช่วยเหลือเป็นระยะที่ 2 อีกเป็นเวลา 5 ปี จนถึงเดือนธันวาคม 2536 ได้มีการให้ความช่วยเหลือในการจัดตั้งแปลงทดสอบสาธิตเขาสวนกวาง ซึ่งเป็นสถานที่ทดสอบและทดลองเทคโนโลยีที่ค้นพบใหม่ โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ดอนเพื่อถ่ายทอดสู่เกษตรกรและเจ้าหน้าที่ส่งเสริมต่อไป
การดำเนินงานโครงการศูนย์ศึกษาค้นคว้าฯ เป็นลักษณะการประสานและร่วมงานวิจัยของหลายหน่วยงานได้แก่ กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางและศูนย์อำนวยการประสานงานวิจัยตามขอบเขตและแผนงานโครงการที่ได้มีแบบแผนกำหนดไว้ ในแต่ละระยะของโครงการ ซึ่งในช่วงปีแรก (ปี 2527-2531) การวิจัยได้เน้นหนักด้านการประเมินสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ การปรับปรุงพันธุ์พืช การปรับปรุงดินและนำเอาข้อมูลผลงานวิจัยมาขยายผลต่อในระยะที่ 2 (ปี 2532-2536) ซึ่งเน้นการจำแนกเขตนิเวศเกษตร การพัฒนาระบบการจัดการฟาร์มและการพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้ปัจจัยการผลิตต่ำและต่อมาในปี 2537 ได้มีความช่วยเหลือในระยะติดตามผล (Follow-up) อีก 1 ปี
ตลอดระยะเวลาของการดำเนินงานความร่วมมือทางวิชาการ นักวิจัยฝ่ายไทยและผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นมีผลงานทางวิชาการ ผลงานการวิจัยที่ได้รับเผยแพร่สู่หน่วยงานทั้งในและองค์กรระหว่างประเทศมากมายและนอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังให้การสนับสนุนทุนฝึกอบรม/ดูงาน สำหรับนักวิจัยฝ่ายไทยในการดูงานด้านการวิจัยอันทันสมัยที่ประเทศญี่ปุ่น อีกด้วย
เมื่อสิ้นสุดปีระยะติดตามผลปี 2537 โครงการศูนย์ศึกษาค้นคว้าฯ ยังได้รับความร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่นภายใต้โครงการศูนย์ฝึกอบรมพัฒนาการเกษตรนานาชาติ หลักสูตร “เทคโนโลยีการจัดการดิน” รัฐบาลไทยและญี่ปุ่น ร่วมมือกันให้ความสนับสนุนงบประมาณจัดให้มีการฝึกอบรมแก่ นักวิจัย นักวิชาการของรัฐจากกลุ่มประเทศเพื่อบ้านเอเชีย โดยเฉพาะประเทศภาคพื้นอินโนจีน โดยมีศูนย์ศึกษาค้นคว้าฯ เป็นสถานที่และเป็นศูนย์อำนวยการฝึกอบรม โดยความร่วมมือของหน่วยงานที่ร่วมปฏิบัติโครงการเดิม ได้แก่ กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ คณะนักวิจัยจากส่วนราชการที่เคยร่วมงานในโครงการศูนย์ศึกษาค้นคว้าฯ ก็ยังอาศัยการวิจัย ห้องทดลอง โรงเรือน แปลงทดลอง ตลอดจนใช้เครื่องมือวิจัยของศูนย์ศึกษาค้นคว้าฯ เพื่อดำเนินงานวิจัยของตนเองต่อไปและตลอดมาจนถึงปัจจุบัน และเมื่อปลายปี 2538 โครงการศูนย์ศึกษาค้นคว้าฯ ก็ได้มีการลงนามความร่วมมือทางด้านวิจัยการเกษตรกับองค์การวิจัยวิทยาศาสตร์นานาชาติประเทศญี่ปุ่น (JIRCAS) เป็นระยะเวลา 7 ปี ภายใต้โครงการ “Comprehensive Studies on Sustainable Agricultural Systems in Northeast Thailand” อีกด้วย ซึ่ง 3 ปีหลังนี้มีผลงานวิจัยร่วม 72 เรื่อง แปลงทดสอบสาธิตเฉลี่ยปีละ 4 เรื่อง และให้บริการวิเคราะห์ตัวอย่างรวมประมาณ 110,000 ตัวอย่าง

ศูนย์ฝึกอบรมการพัฒนาการเกษตรนานาชาติ

ได้มีการพิจารณาปรับโครงสร้างและบทบาทหน้าที่ของศูนย์ศึกษาค้นคว้าฯ ให้เป็นหน่วยงานภายในของสำนักงานปลัดกระทรวง ตามแผนอัตรากำลัง 3 ปี รอบที่ 3 โดยได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ศูนย์ฝึกอบรมการพัฒนาการเกษตรนานาชาติ” ตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน 2539 เป็นต้นมา โดยในการบริหารงานได้มีการมอบอำนาจหน้าที่การบังคับบัญชาให้เป็นหน่วยงานภายในเทียบเท่ากอง ภายใต้การกำกับดูแลและบังคับบัญชาของปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือรองปลัดกระทรวงที่ได้รับมอบหมาย
ต่อมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายทบทวนการดำเนินงานของศูนย์ฝึกอบรมการพัฒนาการเกษตรนานาชาติ โดยมีประเด็นหลักในการพิจารณาคือ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่ได้มีภารกิจหลักในการวิจัยและประสานการวิจัย ดังนั้น อธิบดีกรมวิชาการเกษตร (นายอนันต์ ดาโลดม) โดยความเห็นชอบของ ฯพณฯ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายเนวิน ชิดชอบ) จึงได้มีข้อเสนอแนวทางการปรับโครงสร้างและบทบาทหน้าที่ของศูนย์ฝึกอบรมการพัฒนาการเกษตรนานาชาติ เพื่อรับการพิจารณาให้ปรับเป็นหน่วยงานภายในกรมวิชาการเกษตร และต่อมาสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และสำนักงบประมาณได้มีความเห็นชอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โอนงาน/ข้าราชการและทรัพย์สินของศูนย์ฝึกอบรมการพัฒนาการเกษตรนานาชาติ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปสังกัดกรมวิชาการเกษตร ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการโอนงานและอัตรากำลัง ทรัพย์สิน ตลอดจนงบประมาณที่ได้รับจากการจัดสรรให้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2541 เป็นต้นมา และกรมวิชาการเกษตรได้มีคำสั่งให้จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมการพัฒนาการเกษตรนานาชาติขึ้นเป็นหน่วยงานเทียบเท่าระดับกอง ของกรมวิชาการเกษตร ภายใต้การกำกับดูแลของอธิบดีกรมวิชาการเกษตร

ศูนย์วิจัยและพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตรขอนแก่น

ศูนย์วิจัยและพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตรขอนแก่น (ศปผ.ขอนแก่น) เปลี่ยนจากศูนย์ฝึกอบรมการเกษตรนานาชาติจังหวัดขอนแก่น สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 จังหวัดขอนแก่น ตามคำสั่งกรมวิชาการเกษตร ที่ 360/2552 เรื่องการปรับปรุงหน่วยงานและระบบงานภายใน ลงวันที่ 27 มีนาคม 2552 และ สังกัดสำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร ตามคำสั่ง กรมวิชาการเกษตร เรื่องการปรับปรุงการแบ่งงานภายในและการตัดโอนตำแหน่ง ที่ 1139/2555 ลงวันที่ 10 สิงหาคม 2555

มีหน้าที่ ศึกษา วิจัย พัฒนา การจัดการดินและน้ำกับการเจริญเติบโตและผลผลิตทั้งปริมาณและคุณภาพของพืช
แบ่งงานภายในเป็น
1) ฝ่ายบริหารทั่วไป มีหน้าที่ ดำเนินงานเกี่ยวกับ งานสารบรรณ งานแผนงานและงบประมาณ
งานการเงินบัญชีและพัสดุ งานบุคคล และงานธุรการทั่วไป
2) กลุ่มวิจัย มีหน้าที่ศึกษาวิจัย พัฒนา การจัดการดินและน้ำกับการเจริญเติบโตและผลผลิต
ทั้งปริมาณและคุณภาพของพืช