ในระยะที่มีฝนตก และฝนตกหนักบางพื้นที่ในช่วงนี้ อาจส่งผลกระทบต่อการปลูกถั่วลิสง กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรผู้ปลูกถั่วลิสงให้หมั่นสังเกตอาการของโรคใบจุดสีดำ (Cercosporidium personatum) และโรคใบจุดสีน้ำตาล (Cercosporidium arachidicola) ที่สามารถพบได้ทุกระยะการเจริญเติบโตของถั่วลิสง

สำหรับโรคใบจุดสีดำ จะพบแสดงอาการในระยะแรกบนใบที่อยู่ด้านล่าง โดยพบแผลจุดสีดำหรือสีน้ำตาลเข้ม รูปร่างค่อนข้างกลม ขนาดไม่แน่นอน ขอบแผลอาจมีวงสีเหลืองล้อมรอบ หากอาการรุนแรง แผลจะขยายขนาดมาชนกัน ใบจะเหลือง ขอบใบบิดเบี้ยว ใบไหม้เป็นสีน้ำตาลดำ และร่วงก่อนกำหนด โรคจะลุกลามขึ้นสู่ใบด้านบน หรืออาจพบอาการของโรคบนหูใบ ก้าน ลำต้น และขั้วฝัก

ในส่วนของโรคใบจุดสีน้ำตาล  มักพบแสดงอาการของโรคในระยะเริ่มแรกมีแผลจุดสีน้ำตาลบนใบที่อยู่ด้านล่าง ขอบแผลอาจมีวงสีเหลืองล้อมรอบ หากอาการของโรครุนแรง อาจจะพบอาการของโรคบนหูใบ ก้าน ลำต้น และขั้วฝัก ทำให้ใบร่วงก่อนกำหนด และโรคจะลุกลามขึ้นสู่ใบด้านบน

ให้เกษตรกรหมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากในแปลงปลูกถั่วลิสงเริ่มพบแสดงอาการของทั้ง 2 โรค ให้พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชเบโนมิล 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 15 – 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารแมนโคเซบ 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 20 – 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นทุก 7 – 10 วัน

นอกจากนี้ ภายหลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตถั่วลิสง เกษตรกรควรทำลายซากต้นถั่วลิสงด้วยการไถกลบให้ลึก เพื่อตัดวงจรของเชื้อสาเหตุโรค กรณีในแปลงที่พบการระบาดของโรค เกษตรกรควรปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว และข้าวโพด เป็นต้น อีกทั้งควรล้างทำความสะอาดอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ทางการเกษตรต่างๆ ให้สะอาด และผึ่งแดดให้แห้งหลังการใช้งานทุกครั้งอยู่เสมอ เมื่อได้นำไปใช้กับต้นที่เป็นโรคในแปลงที่มีการระบาดก่อนนำกลับมาใช้ใหม่ในครั้งต่อไป