Search for:
สวส.ร่วมกับสวพ.3 จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “การพัฒนาบุคลากรด้านการตรวจวิเคราะห์สมุนไพร”

     วันที่ 13 มีนาคม 2567 นายธงชัย คำโคตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพืชสวน เป็นประธานพิธีเปิดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร การพัฒนาบุคลากรด้านการตรวจวิเคราะห์สมุนไพร ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 – 14 มีนาคม 2567 เวลา 08.30 – 18.00 น. ณ อาคารห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ กลุ่มพัฒนาการตรวจสอบพืชและปัจจัยการผลิต สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 จังหวัดขอนแก่น โดยมี นางสุภัทรา เลิศวัฒนาเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญด้านไม้ผล พร้อมด้วย นายไกรสิงห์ ชูดี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 3  คณะผู้จัดฝึกอบรม วิทยากรบรรยาย และผู้เข้ารับการฝึกอบรม เข้าร่วมพิธีเปิดฯ

     ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพืชสวน กล่าวว่า แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566  2570 กําหนดวัตถุประสงค์สําคัญที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร คือ
1) พัฒนาเกษตรกร หรือวิสาหกิจชุมชน ด้านการปลูก ขยายพันธุ์ แปรรูวัตถุดิบ สมุนไพรเบื้องต้นที่ปลอดภัยให้เพียงพอต่อความต้องการ

2) ยกระดับการผลิต สมุนไพรตลอดห่วงโซ่การผลิตของเกษตรกรให้ได้มาตรฐาน GAP เพื่อให้ได้วัตถุดิบสมุนไพรที่มีคุณภาพมาตรฐาน

3) เพิ่มพื้นที่แปลงปลูกพืชสมุนไพร ปลอดภัยได้ตามมาตรฐาน โดยมีเป้าหมายให้เกิดพื้นที่เพาะปลูกสมุนไพรที่ได้ มาตรฐาน GAP/เกษตรอินทรีย์ 5๐,๐๐๐ ไร่ และกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ มีการแปรรูปสมุนไพรเบื้องต้นที่ได้มาตรฐาน 3๐๐ แห่ง ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวจําเป็นต้องมีห้องปฏิบัติการวิเคราะห์สารสำคัญที่ได้มาตรฐานเพียงพอสําหรับให้บริการอย่างทั่วถึง 
การตรวจวิเคราะห์สารสําคัญจึงเป็นขั้นตอนสําคัญที่บ่งชี้คุณภาพของสมุนไพร ปัจจุบันห้องปฏิบัติการที่รับวิเคราะห์สารสําคัญในพืชสมุนไพรยังมีไม่เพียงพอทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค นอกจากนั้นการวิเคราะห์ ด้วยเครื่องมือชั้นสูง เช่น GC HPLC LC-MS/MS ต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ ความชำนาญเฉพาะด้าน ทําให้เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงบริการได้ โดยง่าย เกษตรกรจึงต้องส่งตัวอย่างไปวิเคราะห์สารสําคัญกับภาคเอกชน หรือ ส่วนกลางของภาครัฐ ทําให้มีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงและมีระยะเวลาในการวิเคราะห์นาน 

     กรมวิชาการเกษตร มีหน่วยงานส่วนภูมิภาค 8 เขต ที่มีหน้าที่ ให้บริการรับรองมาตรฐานการผลิตพืช การวิเคราะห์ทดสอบด้านการเกษตร มีห้องปฏิบัติการวิเคราะห์พืชและปัจจัยการผลิตที่สามารถพัฒนาเป็น ศูนย์บริการวิเคราะห์คุณภาพและความปลอดภัยในพืชสมุนไพรได้ โดย จําเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพ 3 ด้าน คือ 1) ด้านมาตรฐาน 2) ด้านการรับรองระบบงาน และ 3) ด้านการตรวจสอบและรับรอง ซึ่งการ พัฒนาทั้ง 3 ด้านนี้ จําเป็นต้องพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะและเข้าใจกระบวนการ ในด้านการวิเคราะห์ วิจัย มาตรฐานสมุนไพร และการบริการที่มีประสิทธิภาพ โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนงานด้านพัฒนาระบบการผลิตพืชสมุนไพรให้ได้มาตรฐานตามความต้องการของตลาด รองรับงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตร และให้บริการเกษตรกรหรือผู้ประกอบการในพื้นที่ เพื่อเข้าสู่มาตรฐานการผลิต GAP และ เกษตรอินทรีย์ รองรับยุทธศาสตร์การส่งเสริมการผลิตและแปรรูป วัตถุดิบพืชสมุนไพรให้มีคุณภาพและมาตรฐาน ภายใต้แผนปฏิบัติงานเพิ่มจํานวนห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC17025 สําหรับบริการตรวจสอบคุณภาพวัตถุดิบพืชสมุนไพร

     ดังนั้น สถาบันวิจัยพืชสวน ร่วมกับสํานักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 3 จึงได้จัดอบรมหลักสูตร การพัฒนาบุคลากรด้านการตรวจวิเคราะห์ สมุนไพร ให้กับบุคลากรของกรมวิชาการเกษตร ผู้ประกอบการ และหน่วยงาน ภายนอก ให้มีความรู้ความเข้าใจ สามารถนําความรู้ที่ได้ไปปรับใช้และพัฒนาการตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารสําคัญในสมุนไพรเพื่อรองรับแผนปฏิบัติการเพิ่มจํานวน ห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC17025 ที่พร้อมให้บริการแก่ เกษตรกร และผู้ประกอบการได้เพียงพอ

ผอ.สวส.เข้าร่วมพิธีถวายพระพรชัยมงคล พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และร่วมกิจกรรมจิตอาสาบำเพ็ญประโยชน์ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

       วันที่ 12 มีนาคม 2567 นายธงชัย คำโคตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพืชสวน เข้าร่วมพิธีถวายพระพรชัยมงคล พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และร่วมกิจกรรมจิตอาสาบำเพ็ญประโยชน์ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมี นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย ดร.วิลาวัณย์ ใคร่ครวญ รองอธิบดีฯ และคณะผู้บริหารกรมวิชาการเกษตรเข้าร่วม ณ ไร่ภูตะวันออร์แกนิคฟาร์ม บ้านหนองเม็ก ตำบลคึมใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ

ผอ.สวส.ร่วมงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี 76 จังหวัด 76 โมเดล “กาฬสินธุ์โมเดล ผักอินทรีย์เงินล้าน”

   วันที่ 10 มีนาคม 2567 นายธงชัย คำโคตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพืชสวน ร่วมงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี 76 จังหวัด 76 โมเดล “กาฬสินธุ์โมเดล ผักอินทรีย์เงินล้าน” โดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ นายสนั่น พงษ์อักษร กล่าวต้อนรับ และ นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธานเปิดงาน ณ สวนปันบุญ บ้านดอนแคน ตำบลฆ้องชัยพัฒนา อำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมร่วมชม การเตรียมพันธุ์และการเพาะกล้า เทคโนโลยีการผลิตผักอินทรีย์แบบกลางแจ้ง และแบบโรงเรือน เทคโนโลยีการใช้ชีวภัณฑ์และปุ๋ยชีวภาพ และการจัดการผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยว

     อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่ากรมวิชาการเกษตรเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายด้านการเกษตรสู่ความสำเร็จ และเห็นผลเป็นประจักษ์ภายใน 100 วัน ตามนโยบายของร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเน้นการผลิตที่ได้คุณภาพมาตรฐาน มีความปลอดภัย เพื่อที่จะนำไปสู่สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ยกระดับรายได้ภาคการเกษตรของเกษตรกรให้สูงขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งแปลงต้นแบบการผลิตสินค้ามูลค่าสูงของจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นแปลง ผลิตผักอินทรีย์ “กาฬสินธุ์โมเดล ผักอินทรีย์เงินล้าน” ของนางสุจารี ธนสิริธนากร ที่ให้ผลตอบแทนสูงถึง 1,071,216 บาท/ไร่/ปี ซึ่งเกษตรกรได้นำเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตรไปปฏิบัติในแปลง เช่น ปุ๋ยชีวภาพ ชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดศัตรูพืชและการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์

สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 จัดงาน 76 จังหวัด 76 โมเดล สินค้าเกษตรมูลค่าสูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน “กาฬสินธุ์โมเดล ผักอินทรีย์เงินล้าน” กิจกรรมหลักของงานประกอบด้วย แปลงสาธิต นิทรรศการ แปลงต้นแบบระดับเขตและระดับจังหวัด จำนวน 11 ต้นแบบ เสวนาการจัดการความเสี่ยงและความสมดุลในการผลิต โดย เกษตรกรต้นแบบ 11 จังหวัด 11 โมเดล และฐานเรียนรู้ 4 ฐานเรียนรู้ ประกอบด้วย การเตรียมพันธุ์และการเพาะกล้า เทคโนโลยีการผลิตผักอินทรีย์แบบกลางแจ้งและแบบโรงเรือน เทคโนโลยีการใช้ ชีวภัณฑ์และปุ๋ยชีวภาพ การจัดการผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยว และการจัดนิทรรศการผลิตพืชมูลค่าสูงในภาคตะวันออกเฉียงตอนบน ตลอดจนการแจกพันธุ์พืช ปัจจัยการผลิต แก่ผู้เข้าร่วมงาน ซึ่งผู้ร่วมงานประกอบด้วย เกษตรกร ประชาชน ข้าราชการ พนักงาน บุคลากรภาครัฐ และเจ้าหน้าที่ จำนวน 300 ราย

 

ประชุมคณะอนุกรรมการพืชสวน ครั้งที่ 2/2567

     วันที่ 8 มีนาคม 2567 เวลา 13.30 น. นายธงชัย คำโคตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพืชสวน และคณะทำงาน เข้าร่วมประชุม “คณะอนุกรรมการพืชสวน ครั้งที่ 2/2567” โดยมี นายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ณ ห้องประชุม134 ชั้น 3  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  และผ่านระบบออนไลน์ โดยมีเรื่องเพื่อพิจารณา ดังนี้

  1. การขอนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป ปี 2567 ครั้งที่ 1 ภายใต้ความตกลง AFTA

  2. การขอนำเข้ากาแฟสำเร็จรูปผสม ปี 2567 ครั้งที่ 1 ภายใต้ความตกลง AFTA

ร่วมแถลงข่าว การจัดงาน NORTHERN THAI COFFEE PARADISE 2024 “ภาคเหนือ สวรรค์ของคนรักกาแฟ”

     วันที่ 5 มีนาคม 2567 เวลา 13.30 น.  นางวิไลวรรณ ทวิชศรี นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพืชสวน  เข้าร่วมแถลงข่าวการจัดงาน NORTHERN THAI COFFEE PARADISE 2024 “ภาคเหนือสวรรค์ของคนรักกาแฟ” ในหัวข้อ : การส่งเสริมพัฒนากาแฟของกรมวิชาการเกษตร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้กาแฟมีความโดดเด่น และมีคุณภาพในระดับสากล ณ ห้องจูปีเตอร์ 4 – 5 อาคารชาเลนเจอร์ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี

     งาน NORTHERN THAI COFFEE PARADISE 2024 “ภาคเหนือสวรรค์ของคนรักกาแฟ” จัดขึ้นภายใต้แนวคิด”การผลิตอย่างยั่งยืน และความหลากหลายทางชีวภาพ” กำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 14-18 มีนาคม 2567 ณ Alive Park Hall ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต เพื่อแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ ตอบสนองการตลาดเชิงรุกที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคใหม่ ในงานประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆมากมาย อาทิ คัดสุดยอดผลิตภัณฑ์กาแฟที่มีเอกลักษณ์ความโดดเด่น ของ 17 จังหวัดภาคเหนือ กว่า 100 บูธ มาจัดแสดงเชื่อมโยงสร้างโอกาสช่องทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ สร้างรายได้กระจายสู่ชุมชนอย่างยั่งยืน นิทรรศการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพการผลิต “ต้นน้ำถึงปลายน้ำ” กิจกรรมมอบรางวัลประกาศเกียรติคุณ กิจกรรมการแข่งขัน และอื่นๆที่เกี่ยวข้อง