เตือนภัยการเกษตร3-9 ตุลาคม 2561

เตือนภัยการเกษตร

ช่วงวันที่ 3-9 ตุลาคม 2561

ภาคเหนือ ตอนล่าง

1.ส้มเขียวหวาน ทุกระยะการเจริญเติบโต (ศวส.สุโขทัย)

   -โรคแคงเกอร์ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Xanthomonas campestris pv. citri

การแพร่ระบาด : สามารถเกิดได้ง่ายและรุนแรงขึ้น ในสภาพอากาศที่ร้อนชื้น อุณหภูมิประมาณ 20 – 30 c และระยะที่มีหนอนชอนใบส้มเข้าทำลาย นอกจากนี้ก็แพร่กระจายได้ตามกระแสลม น้ำค้าง ฝน แมลง และ มนุษย์ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเคลื่อนย้ายกิ่งที่มีโรคโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จากแหล่งหนึ่งไปยังสถานที่อื่นๆ เป็นระยะทางไกลๆได้ ช่วงที่ระบาดจะเป็นช่วงเดือนพฤษภาคม- กันยายน พบบริเวณกิ่งอ่อน ระยะแรกแผลมีสีเหลืองนูนฟูคล้ายแผลที่เกิดบนใบต่อมาแผลจะขยายออกโดยรอบกิ่ง มีรูปร่างไม่แน่นอนหรือขยายออกตามความยาวของกิ่งก็ได้เป็นผลแห้ง แข็งสีน้ำตาลเข้ม  ซึ่งลักษณะแผลที่กิ่งก้านนี้จะมีสีน้ำตาลเข้มมากกว่าที่เกิดบนใบ บริเวณรอบนอกแผล ไม่มีสีเหลืองเป็นวงล้อมรอบอยู่ ใบ ระยะเริ่มแรกจะเห็นเป็นจุดขนาดประมาณหัวเข็มหมุดมองเห็นได้ไม่ชัด ลักษณะเป็นจุดกลมใส  โปร่งแสง ชุ่มน้ำ และมีสีซีดกว่าใบปกติ เมื่อเวลาผ่านไปแผลจะขยายใหญ่ขึ้น  สีคล้ำขึ้น มีลักษณะนูนและฟูคล้ายฟองน้ำ จากระยะเริ่มแรกที่แผลมีสีขาว หรือเหลืองอ่อนก็เปลี่ยนกลายเป็นสีน้ำตาลเข้ม ส่วนที่นูนและฟูคล้ายฟองน้ำก็จะแยกออกเป็นสะเก็ดขรุขระคล้ายเปลือกไม้แตก  มีรอยบุ๋มเล็กน้อยตรงกลาง และมีวงสีเหลืองซีดล้อมรอบรอยแผล หรืออาจไม่พบวงสีเหลืองที่ล้อมรอบก็ได้ในการเข้าทำลายนี้อาจพบเฉพาะด้านใดด้านหนึ่งของใบก่อนก็ได้ หรือพบทั้งสองด้านของใบก็ได้  แต่โดยมากจะเห็นชัดเจนบริเวณส่วนใต้ใบ  ผล มีลักษณะอาการคล้ายกับที่พบที่ใบ แผลที่เกิดเดี่ยวๆ มีลักษณะกลม บริเวณรอบแผลดูคล้ายกับฝังลึกลงไปในผิวของผล แผลจะนูน และปรุโปร่งคล้ายฟองน้ำ แต่มีสีเหลือง แข็ง และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อแผลแก่ บางครั้งแผลจะรวมกันมีขนาดใหญ่เป็นสะเก็ด รูปร่างไม่ แน่นอน ซึ่งเมื่อหลุดจะมียางไหลออกมาจากแผลได้  ลักษณะวงแหวนสีเหลืองรอบแผลไม่ปรากฏชัดเจนเท่าอาการบนใบ ผลส้มเขียวหวาน ที่เป็นโรคมักร่วงเร็วกว่าปกติ และร่วงได้ง่ายกว่าส้มพันธุ์อื่นๆ บางครั้งอาจทำให้ผลอ่อนซึ่งมีอายุประมาณ 4 – 6 เดือนแตกตามขวางโดยเริ่มปริจากแผลของโรคแคงเกอร์ เมื่อส้มได้รับน้ำอย่างเต็มที่ในระยะเวลาอันสั้น ต้นที่เป็นโรคมากๆมักแสดงอาการต้นโทรม แคระแกร็น ใบร่วงมาก กิ่งแห้งตาย  ผลผลิตลดลงและต้นอาจตายในที่สุด

การป้องกันกำจัด

   1. ใช้พันธุ์ต้านทานโรค

    2.ตัดแต่งกิ่งแห้ง กิ่งเป็นโรค แล้วนำไปเผาทิ้ง

    3.ป้องกันกำจัดโรคและแมลงอย่างสม่ำเสมอ ในช่วงที่ส้มแตกใบอ่อน จะมีแมลงพวกหนอนชอนใบเข้าทำลาย ป้องกันกำจัดด้วยฟลูเฟนนอกซูรอน อัตรา 60 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อิมิดาฌคลพริด อัตรา 8-16 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นยอดอ่อนมีหนอนชอนใบส้มลงทำลายกิน 50 % ยอดสำรวจแปลงละ 10 ต้นๆละ 5 ยอด

    4.ป้องกันกำจัดโรคพืชด้วย คอปเปอร์ออกซี่คลอไรด์ 77% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา10-20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นเมื่อพบโรคเข้าทำลายและพ่นซ้ำทุก 7-14 วัน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนล่าง

1.มังคุด เตรียมความพร้อมในการออกดอก (ศวส.จันทบุรี)

   -หนอนชอนใบ หนอนจะกัดกินใต้ผิวใบอ่อน ทำให้ใบอ่อนบิดเบี้ยว เล็ก ไม่เจริญเติบตามปกติ เมื่อดูใต้ใบจะพบรอยสีขาวตามรอยเป็นทางตามลักษณะการกินของหนอน ใบที่ถูกทำลายมีอาการคล้ายโรคใบไหม้ มีสีน้ำตาลแดง โดยหนอนเริ่มเจาะที่ฐานเส้นกลางใบแล้วเคลื่อนไปทางปลายใบ ก่อนถึงปลายใบหนอนจะชอนไชเข้าไปในส่วนเนื้อของใบ รอยที่หนอนเจาะเข้าไปจะพบมูลหนอนอยู่ด้วย เมื่อหนอนโตเต็มที่แล้ว จะออกมาเข้าดักแด้ข้างนอกตามใบมังคุดโดยชักใยห่อหุ้มตัวเองอยู่ภายในถ้ามีการระบาดรุนแรง ใบอ่อนจะถูกหนอนทำลายหมด

การป้องกันกำจัด

1. รวบรวมยอดอ่อนหรือใบอ่อนที่มีรอยทำลายของหนอนชอนใบ เผาทำลาย

2. เก็บดักแด้ของหนอนชอนใบ ซึ่งเจาะออกมาเข้าดักแด้ตามใบแก่หรือใบเพสลาด ลักษณะรังดักแด้คล้ายรังดักแด้ของหนอนเจาะขั้วผล แล้วนำไปทำลาย

3. ถ้ามีการระบาดของหนอนชอนใบรุนแรงขณะมังคุดแตกใบอ่อน ควรพ่นด้วยสารฆ่าแมลง เช่น อิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 8 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

   – โรคใบจุด ใบมังคุดจะเป็นจุดสีน้ำตาลแห้ง กลางแผลจะเป็นสีเทา ทำให้ใบแห้งเสียหาย

การป้องกันกำจัด

 2.ลองกอง  ตัดแต่งกิ่งเตรียมความพร้อมของต้น (ศวส.จันทบุรี)

    -ราสีชมพู เชื้อราจะเข้าทำลายกิ่ง ลำต้น ทำให้เกิดลักษณะกิ่งแห้ง ใบแห้ง และร่วงหล่น บริเวณที่ถูกเชื้อราเข้าทำลายเริ่มแรกจะเห็นเส้นใยของเชื้อราสีขาวขึ้นปกคลุมบางๆบริเวณโคนกิ่งและค่อยๆเจริญปกคลุม กิ่ง เส้นใยจะหนาขึ้นและค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีชมพู เปลือกและเนื้อไม้จะเป็นสีน้ำตาลทำให้ใบเป็นสีเหลืองและจะแห้งตายทั้งกิ่ง

การป้องกันกำจัด

  1. ตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง และกำจัดวัชพืชในแปลงปลูก เพื่อลดความชื้นสะสม
  2. ในช่วงฤดูฝนหมั่นตรวจสวนอย่างสม่ำเสมอ หากพบอาการของโรคที่กิ่งแม้เพียงเล็กน้อย ให้ตัดไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก หรือเฉือนเปลือกบริเวณเป็นโรคออก แล้วทาด้วยสารคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 45-60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ 62% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
  3. เมื่อพบอาการใบเหลือง ควรตรวจดูบริเวณกิ่ง หากพบอาการของโรค ให้ตัดกิ่งที่เป็นโรค นำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก หรือพบอาการของโรคบนง่ามกิ่ง หรือโคนกิ่งที่มีขนาดใหญ่ ให้ถากแผลบริเวณที่เป็นโรคออกให้หมด แล้วทาบริเวณแผลด้วยสารดังกล่าวตาม ข้อ 2 จากนั้นพ่นให้ทั่วต้น โดยเฉพาะที่บริเวณกิ่ง และลำต้นด้วยสารคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ 62% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือคาร์เบนดาซิม 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
  4. ในแปลงลองที่เคยพบโรคระบาดรุนแรง ในช่วงฤดูฝนควรป้องกันการเกิดโรคโดย พ่นด้วยสารดังกล่าว ตามกิ่งก้านที่อยู่ในทรงพุ่มเสมอๆ

     -โรคราสีขาว มีเส้นใยสีขาวหยาบ ขึ้นปกคลุมบริเวณปลายกิ่งและอาจจะลุกลามขึ้นปกคลุมใบ ทำให้กิ่งแห้ง ใบแห้งเหี่ยว

การป้องกันกำจัด

  1. กำจัดวัชพืชในแปลงปลูก และบริเวณใกล้เคียง
  2. ตัดแต่งใบแก่ออก เพื่อให้ต้นโปร่ง อากาศถ่ายเทสะดวก
  3. ตรวจแปลงปลูกสม่ำเสมอ เมื่อพบโรคตัดส่วนที่เป็นโรคไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก หากโรคยังคงระบาด พ่นด้วยสารเฮกซะโคนาโซล 5% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ทีบูโคนาโซล 43% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไดฟีโนโคนาโซล + โพรพิโคนาโซล 15%+15% อีซี อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 7 วัน
  4. พื้นที่ที่เกิดโรคระบาด ควรปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน
  5. ฤดูปลูกถัดไป ควรใช้กิ่งชำหรือต้นพันธุ์ที่ปราศจากโรค หรือก่อนปลูกแช่กิ่งชำหรือต้นพันธุ์ด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชชนิดใดชนิดหนึ่ง ตามข้อ 3. และปลูกให้มีระยะห่างพอควร เพื่อให้มีการระบายอากาศที่ดี

 3.ทุเรียน ตัดแต่งกิ่งเตรียมความพร้อมของต้น (ศวส.จันทบุรี)

     -หนอนด้วงหนวดยาวเจาะลำต้นทุเรียน ตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่โดยฝังไว้ใต้เปลือกตามลำต้นและกิ่งขนาดใหญ่ หนอนกัดกินชอนไชไปตามเปลือกไม้ด้านในไม่มีทิศทาง หรืออาจกัดควั่นเปลือกรอบต้น การทำลายที่เกิดจากหนอนขนาดเล็กไม่สามารถสังเกตได้จากภายนอก แต่เมื่อหนอนโตขึ้นจะพบขุยไม้ละเอียดซึ่งเป็นมูลของหนอนตามแนวรอยทำลาย หรือตรงบริเวณที่หนอนทำลายกัดกินเนื้อไม้อยู่ภายในจะเห็นมีของเหลวสีน้ำตาลแดงไหลเยิ้มอยู่ ในระยะต่อมาจึงจะพบมูลหนอนออกมากองเป็นกระจุกอยู่ข้างนอกเปลือก เมื่อใช้มีดปลายแหลมแกะเปลือกไม้ จะพบหนอนอยู่ภายใน เกษตรกรจะสังเกตพบรอยทำลายต่อเมื่อหนอนตัวโตและอาจเจาะเข้าเนื้อไม้ หรือกินควั่นรอบต้นทุเรียนแล้วซึ่งจะมีผลทำให้ท่อน้ำท่ออาหารถูกตัดทำลายเป็นเหตุให้ทุเรียนเริ่มทรุดโทรม ใบเหลืองและร่วง และยืนต้นตายได้

การป้องกันกำจัด

  1. หมั่นตรวจดูผลทุเรียน เมื่อพบรอยทำลายของหนอน ให้ใช้ไม้หรือลวดแข็งเขี่ยตัวหนอนออกมาทำลาย
  2. ตัดแต่งผลทุเรียนที่มีจำนวนมากเกินไป โดยเฉพาะผลที่อยู่ติดกันควรใช้กิ่งไม้หรือกาบมะพร้าวคั่นระหว่างผล เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเต็มวัยวางไข่หรือตัวหนอนเข้าหลบอาศัย
  3. การห่อผลด้วยถุงมุ้งไนล่อน ถุงรีเมย์ หรือถุงพลาสติกสีขาวขุ่น เจาะรูที่บริเวณขอบล่างเพื่อให้หยดน้ำระบายออก โดยเริ่มห่อผลตั้งแต่ผลทุเรียนมีอายุ 6 สัปดาห์ เป็นต้นไป จะช่วยลดความเสียหายได้
  4. สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพเมื่อจำเป็นต้องใช้ คือ แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คลอร์ไพริฟอส 40% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คาร์โบซัลแฟน 20% อีซี อัตรา 50มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นเฉพาะส่วนผลทุเรียนที่พบการทำลายของหนอนเจาะผลในแหล่งที่มีการระบาด พ่นหลังจากทุเรียนติดผลแล้ว 1 เดือน พ่น 3-4 ครั้ง ทุก 20 วัน

       -โรครากเน่าโคนเน่า

อาการที่ราก อาการเริ่มจากใบที่ปลายกิ่ง จะมีสีซีดไม่เป็นมันเงา เหี่ยวลู่ลง อาการรุนแรงมากขึ้นใบจะเหลืองและหลุดร่วง เมื่อขุดดูที่รากฝอยจะพบรากฝอยมีลักษณะเปื่อยยุ่ยเป็นสีน้ำตาลและหลุดล่อนง่าย เมื่อโรครุนแรงอาการเน่าจะลามไปยังรากแขนงและโคนต้น ทำให้ต้นทุเรียนโทรมและยืนต้นตาย

อาการที่กิ่งและที่ลำต้นหรือโคนต้น เริ่มแรกทุเรียนจะแสดงอาการใบเหลืองเป็นบางกิ่ง และจะสังเกตเห็นคล้ายคราบน้ำบนผิวเปลือกได้ชัดเจนในช่วงที่สภาพอากาศแห้ง เมื่อใช้มีดถากบริเวณคราบน้ำจะพบเนื้อเยื่อเปลือกและเนื้อไม้เป็นแผลสีน้ำตาล ถ้าแผลขยายใหญ่ลุกลามจนรอบโคนต้น จะทำให้ทุเรียนใบร่วงจนหมดต้นและยืนต้นแห้งตาย

อาการที่ใบ ใบช้ำดำตายนึ่งคล้ายถูกน้ำร้อนลวก และจะเกิดอาการไหม้แห้งคาต้นอย่างรวดเร็ว พบมากช่วงฝนตกหนักต่อเนื่องหลายวัน

การป้องกันกำจัด

  1. แปลงปลูกควรมีการระบายน้ำดี ไม่ควรมีน้ำท่วมขัง และเมื่อมีน้ำท่วมขังควรรีบระบายออก
  2. ปรับปรุงดิน โดยใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก
  3. บำรุงต้นทุเรียนให้แข็งแรงสมบูรณ์อยู่เสมอ
  4. ตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง เพื่อให้การถ่ายเทอากาศดี แสงแดดส่องถึง และควรหลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจทำให้รากหรือลำต้นเกิดแผล ซึ่งจะเป็นช่องทางให้เชื้อราสาเหตุโรคเข้าทำลายพืชได้ง่ายขึ้น
  5. ต้นทุเรียนที่เป็นโรครุนแรงมากหรือยืนต้นแห้งตายควรขุดออก แล้วนำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก ตากดินไว้ระยะหนึ่ง แล้วจึงปลูกทดแทน
  6. ตรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบส่วนของใบ ดอก และผลที่เป็นโรค ตัดแต่งส่วนที่เป็นโรคนำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก แล้วพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เมทาแลกซิล 25% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตรหรือ ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ให้ทั่วทรงพุ่ม
  7. ไม่นำเครื่องมือตัดแต่งที่ใช้กับต้นเป็นโรคไปใช้ต่อกับต้นปกติ และควรทำความสะอาดเครื่องมือก่อนนำไปใช้ใหม่ทุกครั้ง
  8. เมื่อพบต้นที่ใบเริ่มมีสีซีด ไม่เป็นมันเงาหรือใบเหลืองหลุดร่วง ใช้ฟอสโฟนิก แอซิด 40% เอสแอล ผสมน้ำสะอาด อัตรา 1:1 ใส่กระบอกฉีดยา ฉีดเข้าลำต้น อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อต้น และ/หรือราดดินด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เมทาแลกซิล 25% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
  9. เมื่อพบอาการโรคบนกิ่งหรือที่โคนต้น ถากหรือขูดผิวเปลือกบริเวณที่เป็นโรคออก ทาแผลด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 80-100 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร หรือ เมทาแลกซิล 25% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 50-60 กรัมต่อน้ำ 1ลิตร ทุก 7 วันจนกว่าแผลจะแห้ง หรือ ใช้ฟอสโฟนิก แอซิด 40% เอสแอล ผสมน้ำสะอาด อัตรา 1:1 ใส่กระบอกฉีดยา ฉีดเข้าลำต้นหรือกิ่งในบริเวณตรงข้ามอาการโรค หรือส่วนที่เป็นเนื้อไม้ดีใกล้บริเวณที่เป็นโรค อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อต้น

       – ด้วงกินใบ ด้วงมีลักษณะสีดำตัวเล็กและจะกินใบทำให้ใบทุเรียนเสียหาย

การป้องกันกำจัด

– หากพบหนอนกัดกินใบอ่อนเข้าทำลายประมาณ 20% ของยอด ให้พ่นสารคาร์บาริล 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่น 2 ครั้งห่างกัน 5 วัน

      -โรคใบติด  ใบทุเรียนจะเกิดอาการเหมือนถูกน้ำร้อนลวกบริเวณกลางใบและขอบใบและค่อยๆขยายลุกลามกลายเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ขนาดรูปร่างแผลไม่แน่นอน และใบที่เกิดโรคจะมีใบติดกัน

การป้องกันกำจัด

  1. ตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง และกำจัดวัชพืชในแปลงปลูก เพื่อลดความชื้นสะสม
  2. ควรใส่ปุ๋ยที่มีค่าไนโตรเจนให้เหมาะสม
  3. หมั่นสำรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบว่า เริ่มมีการระบาดของโรค ตัดส่วนที่เป็นโรค และเก็บเศษพืชที่เป็นโรคและใบที่ร่วงหล่น ไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก และพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืชวาลิดามัยซิน 3 % เอสแอล อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เฮกซะโคนาโซล 5% เอสซี อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือคอปเปอร์ออกซี
    คลอไรด์ 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ทุก 10 วัน4. เมื่อพบการระบาดของโรค ควรหลีกเลี่ยงการให้น้ำแบบพ่นฝอย

5.สละ เก็บเกี่ยว (ศวส.จันทบุรี)

     -โรคผลเน่า เปลือกผลสละมีสีน้ำตาล ถ้าความชื้นสูงจะพบเส้นใยของเชื้อราสีขาว หรือขาวอมชมพู เส้นใยของเชื้อราจะแทงทะลุเปลือกเข้าไปในผล ทำให้เปลือกเปราะแตก เนื้อด้านในเน่า และผลร่วงในที่สุด เส้นใยเชื้อราที่พบบนผลที่เป็นโรค เมื่อเจริญเต็มที่จะสร้างดอกเห็ดสีขาว เมื่อดอกเห็ดบานจะปลดปล่อยสปอร์แพร่ระบาดไปสู่ทะลายผลอื่นๆ และต้นอื่น

การป้องกันกำจัด

  1. ตัดแต่งทางใบแก่ โดยเฉพาะทางใบที่อยู่ด้านล่างๆ และปรับร่มเงาให้เหมาะสม เพื่อให้มีการถ่ายเทอากาศได้ดี ไม่มีความชื้นสะสมใต้ทรงพุ่มมากเกินไป
  2. ตัดแต่งช่อผล เพื่อลดการเบียดกันจนทำให้เกิดแผล ซึ่งเป็นช่องทางให้เชื้อโรคเข้าทำลายได้ง่าย
  3. ให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ และระวังอย่าให้พืชขาดน้ำในช่วง 10 สัปดาห์หลังติดผล เพื่อป้องกันผลแตกในขณะผลแก่ อันเนื่องมาจากการได้รับน้ำจากฝนตกชุกมากเกินไป
  4. ควรค้ำยันทะลายผลไม่ให้ติดดิน เพื่อป้องกันเชื้อราสาเหตุโรคในดินเข้าสู่ผล
  5. ตรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ ปลิดผลที่เป็นโรคบนทะลาย เก็บเศษซากพืช และผลที่ร่วงอยู่ใต้ต้น นำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก เพื่อลดปริมาณเชื้อสะสม และพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช ไพราโคลสโตรบิน 25% อีซี อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ทีบูโคนาโซล+ไตรฟลอกซีสโตรบิน 50%+25% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไดฟีโนโคนาโซล 25% อีซี อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ทุก 7 วัน อย่างน้อย 2 ครั้ง และควรหยุดพ่นสารก่อนเก็บเกี่ยว อย่างน้อย 15 วัน

6.พริกไทย ติดผลอ่อน/ผลแก่/ เก็บเกี่ยว (ศวส.จันทบุรี)

    -รากเน่าโคนเน่า มักเกิดในระยะพริกโตเต็มที่ ช่วงออกดอกติดผล อาการเริ่มแรกจะมีใบเหลืองและร่วง หากระบาดรุนแรง ต้นพริกจะเหี่ยวและยืนต้นตายโคนต้นจะพบเชื้อราเส้นใยสีขาวรวมเป็นก้อนกลมจากนั้นจะเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีน้ำตาลดำคล้ายเมล็ดผักกาด (ราเม็ดผักกาด)

การป้องกันกำจัด

  1. ถอนต้นที่เป็นโรคนำไปเผาทำลาย
  2. ใส่ปูนขาวก่อนปลูกเพื่อปรับสภาพดิน
  3. ใช้สารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น อีไตรไดอะโซล 24% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ
    ควินโตซีน 75% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ราดดินในหลุมที่ขุดเอาดินเก่าออกแล้ว หรือราดบริเวณ
    โคนต้น
  4. ถ้าโรคระบาดรุนแรง ให้ปลูกพืชอื่นสลับหมุนเวียน อย่างน้อย 5 ปี

7.มะละกอ ระยะเพาะกล้า (ศวส.ศรีสะเกษ)

   –ไวรัสจุดวงแหวน ใบอ่อนซีดเหลืองเส้นใบหยาบหนาขึ้น ใบด่างเป็นสีเขียวเข้มสลับสีเขียวอ่อน ถ้าเป็นมากใบจะมีขนาดเล็กลงบิดเบี้ยวผิดรูปร่าง บางครั้งใบเรียวเล็กลงเป็นเส้นยาวแทบจะไม่เห็นเนื้อใบ ใบแก่ขอบใบจะม้วนขึ้นและหยัก ลำต้นและก้านใบมีรอยเป็นขีดช้ำหรือรูปวงแหวน ต้นที่เป็นโรคการติดผลจะเร็วแต่ให้ผลผลิตต่ำ และผลมีจุดวงกลมคล้ายวงแหวน ถ้าเป็นรุนแรงมากใบจะร่วงแคระแกร็น แพร่ระบาดโดยมีเพลี้ยอ่อนเป็นพาหะ

การป้องกันกำจัด

ไวรัสเป็นเชื้อสาเหตุโรคที่ยังไม่มีสารเคมีกำจัดโดยตรง การป้องกันการระบาดทำได้โดยกำจัดเพลี้ยอ่อน และแมลงหวี่ขาวที่เป็นแมลงพาหะโดยพ่นสารคาร์บาริล 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ และทำความสะอาดแปลงทำลายวัชพืชหรือพืชอาศัยอื่นเพื่อไม่ให้เป็นที่ซ่อนตัวของแมลงพาหะ

8.มะขาม พัฒนาผล (ศวส.ศรีสะเกษ)

    -หนอนเจาะฝัก หนอนผีเสื้อกลางคืน ตัวเต็มวัย วางไข่เป็นฟองเดี่ยวๆ บนฝักมะขาม ตั้งแต่ยังเป็นฝักอ่อนจนถึงฝักสุกวางไข่ตามรอยหักหรือแตกมากกว่าฝักปกติ เมื่อตัวพัฒนาเป็นตัวหนอน ถ้าเป็นฝักอ่อนจะทำให้ฝักลีบ ส่วนฝักมะขามแก่จะกัดกินเนื้ออ่อนภายในและถ่ายมูลออกมาเป็นขุยอยู่บนฝักมะขาม

การป้องกันกำจัด

– หมั่นสำรวจและเก็บฝักมะขามที่ถูกทำลายทิ้ง หากพบการระบาด พ่นด้วยสารฆ่าแมลง ได้แก่
อีมาเมกตินเบนโซเอต 1.92% อีซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ แลมบ์ดาไซฮาโลทริน 2.5% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

ภาคใต้ตอนล่าง

1.กล้วยหิน ทุกระยะการเจริญเติบโต (ศวส.ยะลา)

    -โรคเหี่ยวของกล้วย ใบอ่อนแสดงอาการเหี่ยว ก้านใบหักพับ ปลีกล้วยแคระแกร็นและเหี่ยวแห้ง หน่อกล้วยยอดเปลี่ยนเป็นสีดำ เมื่อตัดดูลักษณะภายในลำต้นเทียมจะเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาลแดง อาการเหี่ยวจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้พืชแสดงอาการใบเหลือง และยืนต้นตาย เชื้อสามารถเข้าทำลายลำต้นเทียม ก้านใบ เครือกล้วย ผล และหน่อกล้วย

การกำจัดโรค

  1. ทำลายกอกล้วยหินโดยใช้สารกำจัดวัชพืช ซึ่งมีวิธีการดังนี้

        – ใช้ไม้เสียบลูกชิ้นความยาว 8 นิ้ว แช่ในกระป๋องที่ใส่สารกำจัดวัชพืช ไตรโคลเพอร์ บิวทอกซีเอทิลเอสเตอร์ 66.8% อีซีแช่ทิ้งไว้ข้ามคืน

       – นำไม้เสียบลูกชิ้นที่แช่สารกำจัดวัชพืชแล้ว เสียบที่บริเวณโคนต้นกล้วยที่เป็นโรคเหี่ยว ลึกประมาณ 5 นิ้ว โดยเลือกเสียบที่ต้นกล้วยขนาดใหญ่ในกอ ประมาณ ๒-๓ ต้น ต้นกล้วยจะตายภายในเวลาประมาณ 20-30 วัน

  1. โรยปูนขาว 5 กิโลกรัมต่อกอ ตรงบริเวณโคนและรอบรากต้นกล้วยที่เป็นโรค เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียสาเหตุโรคที่อยู่ในดิน
  2. ต้นกล้วยที่เป็นโรค หากมีปลี หรือเครือกล้วย ให้ใช้ถุงพลาสติกคลุม เพื่อป้องกันแมลงที่จะมาสัมผัสเชื้อสาเหตุโรค และยับยั้งการแพร่กระจายโรคไปสู่ต้นอื่น
  3. หลังจากต้นกล้วยตาย ให้สับต้นกล้วยเป็นท่อน แล้วราดด้วย พ.ด.1 ที่ผสมน้ำตามคำแนะนำข้างซอง ใช้ 1 ซองต่อกอ เพื่อให้ย่อยสลายได้เร็วขึ้น ประมาณ 3-4 สัปดาห์ ห้ามนำต้นกล้วยที่ย่อยสลายแล้วไปเป็นปุ๋ย
  4. ฆ่าเชื้อแบคทีเรียในดินอีกครั้ง โดยสับกอกล้วยที่ย่อยสลายแล้วกับดินบริเวณรอบกอกล้วย แล้วใช้ยูเรีย 0.5กิโลกรัม ผสมกับ ปูนขาว 5 กิโลกรัมต่อกอ โรยให้ทั่วกอ กลบดินบริเวณกอกล้วยให้แน่น รดน้ำให้ชุ่ม ทิ้งไว้ 3 สัปดาห์ เมื่อยูเรียและปูนขาวได้รับความชื้นจะแตกตัวเป็นแก๊สพิษฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เมื่อครบกำหนดใช้จอบสับดินให้แก๊สพิษที่อยู่ในดินออกมา แล้วปลูกพืชได้ตามปกติ

การดูแลป้องกันต้นกล้วยที่ยังไม่เป็นโรคแต่อยู่ในแปลงที่มีต้นกล้วยเป็นโรค

       ใช้ชีวภัณฑ์บาซิลัส ซับทีลิส สายพันธุ์ BS-DOA 24 ของกรมวิชาการเกษตร อัตรา 25 กรัม ผสมน้ำ 10 ลิตรต่อกอ รดให้ทั่วรอบต้น ทุก 30 วัน เป็นระยะเวลา 12 เดือน

การป้องกันโรค

  1. การฆ่าเชื้อแบคทีเรียสาเหตุโรคในดินก่อนปลูก

         – ในกรณีที่ปลูกกล้วยหินพืชเดียว ฆ่าเชื้อโดยใช้ยูเรีย อัตรา 80 กิโลกรัมผสมกับ ปูนขาว 800 กิโลกรัมต่อไร่ หว่านให้ทั่วแปลง ไถกลบให้ลึกพอสมควร ปาดหน้าดินให้เรียบ รดน้ำให้ชุ่มจนทั่ว ทิ้งไว้ 3 สัปดาห์ เมื่อครบกำหนดเปิดหน้าดินให้แก๊สพิษออกมา จากนั้นทำปลูกกล้วยได้ตามปกติ

       – ในกรณีที่ปลูกกล้วยหินแซมพืชอื่น ฆ่าเชื้อบริเวณหลุมปลูก โดยใช้ยูเรีย 0.5 กิโลกรัม ผสมกับปูนขาว 5 กิโลกรัมต่อหลุม โรยให้ทั่วหลุม กลบดินให้แน่น รดน้ำให้ชุ่มจนทั่ว ทิ้งไว้ ๓ สัปดาห์ เมื่อครบกำหนดใช้จอบสับดินให้แก๊สพิษออกมา แล้วปลูกกล้วยได้ตามปกติ

  1. ใช้หน่อกล้วยปลอดเชื้อ หรือไม่ใช้หน่อกล้วยจากแปลงที่เป็นโรคมาเป็นหน่อพันธุ์
  2. หลังปลูกหน่อกล้วย รดด้วยชีวภัณฑ์บาซิลัส ซับทีลิส สายพันธุ์ BS-DOA 24 อัตรา 50 กรัมผสมน้ำ 20 ลิตร รดให้ทั่วรอบต้นและรดซ้ำทุก 30 วัน นาน 12 เดือน
  3. ทำความสะอาดเครื่องมือ และอุปกรณ์ทางการเกษตร เช่น มีดตัดผลกล้วย จอบ เสียม ทุกครั้งก่อนนำไปใช้กับต้นต่อไป โดยใช้น้ำยาฟอกขาว เช่น ไฮเตอร์ อัตรา 250 มิลลิลิตรผสมน้ำ 3 ลิตร
  4. ไม่เดินจากต้นที่เป็นโรคไปยังต้นที่ไม่เป็นโรค หากจำเป็นต้องเดินให้ฆ่าเชื้อที่รองเท้าก่อน ด้วยน้ำยาฟอกขาว เช่น ไฮเตอร์ อัตรา 250 มิลลิลิตร ผสมน้ำ 3 ลิตร
  5. ไม่นำกล้วยหินที่เป็นโรคไปทำเป็นอาหารสัตว์

2. ทุเรียน ทุกระยะการเจริญเติบโต (ศวส.ยะลา)

     -โรคใบติด ใบที่พบจะมีรอยคล้ายๆ ถูกน้ำร้อนลวก ขอบแผลไม่แน่นอน อาจเริ่มที่ปลายใบ กลางใบ หรือโคนใบแล้วลุกลามจนเป็นทั้งใบ และจะสังเกตเห็นเส้นใยสีขาวนวลแผ่ปกคลุมคล้ายใยแมงมุมแผ่ไปตามผิวใบ ใบที่ถูกทำลายจะร่วงหล่นไปในที่สุด ถ้าใบที่เป็นโรคไปสัมผัสกับใบที่ปกติไมว่าจะเป็นใบที่อยู่ล่างๆ หรือใบที่อยู่เหนือกว่า ใบปกตินั้นก็จะเป็นโรคใบติดเช่นกัน

การป้องกันกำจัด

  1. ตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง และกำจัดวัชพืชในแปลงปลูก เพื่อลดความชื้นสะสม
  2. ควรใส่ปุ๋ยที่มีค่าไนโตรเจนให้เหมาะสม
  3. หมั่นสำรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบว่า เริ่มมีการระบาดของโรค ตัดส่วนที่เป็นโรค และเก็บเศษพืชที่เป็นโรคและใบที่ร่วงหล่น ไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก และพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืชวาลิดามัยซิน 3 % เอสแอล อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เฮกซะโคนาโซล 5% เอสซี อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ทุก 10 วัน โดยพ่นที่ใบให้ทั่วทั้งต้น                            

3. ลองกอง ให้ผลผลิตแล้ว (ศวส.ยะลา)

     -หนอนชอนเปลือกลองกอง หนอนกินใต้ผิวเปลือกทั้ง 2 ชนิด จะกัดกินทำลายอยู่ใต้ผิวเปลือกตามกิ่งและลำต้นลึกระหว่าง 2 – 8 มิลลิเมตร ซึ่งอยู่ระหว่างท่อน้ำและท่ออาหาร ทำให้กิ่งและลำต้นมีลักษณะตะปุ่มตะป่ำซึ่งในช่วงหน้าฝนกิ่งจะมีความชื้นสูงและมักมีโรคราสีชมพูเข้าทำลายร่วมด้วย ถ้าหนอนกัดกินบริเวณตาดอกจะทำให้ตาดอกถูกทำลายและผลผลิตลดลง ถ้าทำลายรุนแรงจะทำให้กิ่งแห้ง ต้นแคระแกรน โตช้า และตายในที่สุด

การป้องกันกำจัด

    1.ใช้ไส้เดือนฝอย (Steinernema carpocapsae)  อัตรา 50 ล้านตัว (1 กระป๋อง) ต่อน้ำ 20 ลิตร 1 ต้นใช้น้ำ 5 ลิตร พ่น 2 ครั้ง ห่างกัน 15 วัน (ในกรณีมีอากาศแห้งแล้ง ควรพ่นน้ำเปล่าให้ความชุ่มชื้นก่อนพ่นไส้เดือนฝอย)

    2.ใช้สาร คาร์โบซัลแฟน 20% อีซี อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คลอร์ไพริฟอส 40% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นให้โชกบนลำต้น และกิ่งก้านที่มีรอยทำลายของหนอนกินใต้ผิวเปลือก