เตือนภัยการเกษตร 17-23 ตุลาคม 2561

เตือนภัยการเกษตร

ช่วงวันที่ 17-23 ตุลาคม 2561

ภาคเหนือ ตอนล่าง

1.กล้วย ระยะการเจริญเติบโต (ศวส.สุโขทัย)

– ด้วงงวงเจาะเหง้ากล้วย ตัวหนอนเจาะกัดกินไชชอนอยู่ในเหง้ากล้วย ซึ่งโดยมากกินอยู่ใต้ระดับดินโคนต้น ซึ่งไม่สามารถมองเห็นการทำลายหรือร่องรอยได้ชัด การทำลายของหนอนทำให้ระบบการส่งน้ำ และอาหารจากพื้นดินขึ้นไปเลี้ยงลำต้นขาดตอนชะงักไป เมื่อเป็นมากๆ หรือแม้มีหนอนเพียง ๕ ตัวในเหง้าหนึ่งๆ เท่านั้น ก็สามารถไชชอนทำให้กล้วยตายได้ หากมีแมลงติดไปกับหน่อกล้วยที่ปลูกใหม่ก็จะทำให้หน่อใหม่ตายก่อนที่จะให้เครือ

– ด้วงงวงเจาะต้นกล้วย ตัวเต็มวัยวางไข่ตามบริเวณกาบกล้วย ส่วนของลำต้นที่เหนือพื้นดินขึ้นไปจนถึงประมาณกลางต้น ตัวหนอนค่อยๆ เจาะกัดกินเข้าไปทีละน้อยจนถึงไส้กลางของต้น มองเห็นข้างนอกรอบต้นเป็นรูพรุนทั่วไป ทำให้ต้นกล้วยตาย หากเข้าทำลายในระยะใกล้ออกปลีจนถึงตกเครือ จะทำให้เครือหักพับกลางต้น หรือเหี่ยวเฉายืนต้นตาย

การป้องกันกำจัด

        1. รักษาความสะอาดของแปลงปลูก กำจัดเศษชิ้นส่วนของลำต้นกล้วยที่อยู่ในแปลงปลูก ถ้าเป็นต้นกล้วยที่ตัดเครือแล้วให้ตัดเป็นชิ้นเล็กๆ วางกระจายให้รอยตัดหงายขึ้น เพื่อให้แห้งเร็ว ไม่เป็นที่หลบซ่อนและแหล่งอาหารของตัวเต็มวัย

        2. หน่อกล้วยที่ใช้ปลูกต้องปราศจากแมลง การขุดหน่อกล้วยต้องนำออกจากแปลงปลูกในทันที ห้ามทิ้งคาหลุมไว้ หรือทิ้งไว้ในแปลงข้ามคืนเพื่อป้องกันการวางไข่ เมื่อขุดหน่อหรือตัดต้นแล้ว ควรจะใช้ดินกลบด้วยทุกครั้ง เพื่อป้องกันการเข้าวางไข่ในต้นหรือเหง้าเดิมตรงรอยแผล

        3. การใช้กับดักเพื่อป้องกันและลดความเสียหาย โดยใช้ต้นกล้วยที่ตัดเครือแล้ว นำมาตัดเป็นท่อนยาว 30เซนติเมตร แล้วผ่าครึ่งตามยาว นำต้นกล้วยนั้นไปวางคว่ำให้รอยผ่าหันลงดินในบริเวณใกล้โคนต้นกล้วย วางในสวน กับดักละ 1 ท่อน แต่ละกับดักห่างกัน 10 เมตร เพื่อล่อตัวเต็มวัยให้เข้ามาในกับดัก แล้วหมั่นตรวจจับตัวเต็มวัยที่มาหลบซ่อนใต้ท่อนกล้วยนั้นมาทำลาย และควรเปลี่ยนท่อนกล้วยที่ใช้เป็นกับดักบ่อยๆ เพราะว่าท่อนกล้วยเก่าจะเหี่ยว ประสิทธิภาพการล่อจะลดลง

        4. ใช้สารฆ่าแมลง ฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ราดโคนต้นกล้วยสูงจากพื้นดิน 30 เซนติเมตร และรอบโคนต้น รัศมี 30 เซนติเมตร วิธีนี้จะช่วยป้องกันการเข้าวางไข่ของตัวเต็มวัย ขณะเดียวกันจะช่วยกำจัดหนอนและตัวเต็มวัยที่หลบซ่อนโคนต้นกล้วยได้

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนล่าง

1.มังคุด เตรียมความพร้อมในการออกดอก (ศวส.จันทบุรี)

    -หนอนชอนใบ หนอนจะกัดกินใต้ผิวใบอ่อน ทำให้ใบอ่อนบิดเบี้ยว เล็ก ไม่เจริญเติบตามปกติ เมื่อดูใต้ใบจะพบรอยสีขาวตามรอยเป็นทางตามลักษณะการกินของหนอน ใบที่ถูกทำลายมีอาการคล้ายโรคใบไหม้ มีสีน้ำตาลแดง โดยหนอนเริ่มเจาะที่ฐานเส้นกลางใบแล้วเคลื่อนไปทางปลายใบ ก่อนถึงปลายใบหนอนจะชอนไชเข้าไปในส่วนเนื้อของใบ รอยที่หนอนเจาะเข้าไปจะพบมูลหนอนอยู่ด้วย เมื่อหนอนโตเต็มที่แล้ว จะออกมาเข้าดักแด้ข้างนอกตามใบมังคุดโดยชักใยห่อหุ้มตัวเองอยู่ภายในถ้ามีการระบาดรุนแรง ใบอ่อนจะถูกหนอนทำลายหมด

การป้องกันกำจัด

      1.รวบรวมยอดอ่อนหรือใบอ่อนที่มีรอยทำลายของหนอนชอนใบ เผาทำลาย

      2. เก็บดักแด้ของหนอนชอนใบ ซึ่งเจาะออกมาเข้าดักแด้ตามใบแก่หรือใบเพสลาด ลักษณะรังดักแด้คล้ายรังดักแด้ของหนอนเจาะขั้วผล แล้วนำไปทำลาย

      3. ถ้ามีการระบาดของหนอนชอนใบรุนแรงขณะมังคุดแตกใบอ่อน ควรพ่นด้วยสารฆ่าแมลง เช่น อิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 8 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

      -เพลี้ยไฟ ทำลายใบอ่อน ยอด โดยใช้ปากดูดน้ำเลี้ยงทำให้ยอดอ่อนแคระแกรน ใบหงิกงอ

การป้องกันกำจัด

  1. สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพดีในการป้องกันกำจัด ได้แก่ อิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คาร์โบซัลแฟน 20% อีซี อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เดลทาเมทริน 3% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร เมื่อพบการระบาดพ่นทุก 3-4 วัน จนกว่าการระบาดลดลง

-หนอนกินใบ ในระยะที่มังคุดแตกใบอ่อน จะทำลายและทำให้เกิดความเสียหายมาก หนอนจะกัดกินใบเพสลาด รวมทั้งใบแก่ ทำให้การปรุงอาหารของใบไม่เพียงพอ

การป้องกันกำจัด

  1. ถ้าโคนต้นมังคุดโล่งเตียนไม่มีหญ้ารก ให้เขย่ากิ่งมังคุด ตัวหนอนทิ้งตัวลงที่พื้นแล้วจับไปทำลาย
  2. ในระยะที่มังคุด แตกใบอ่อน ถ้าพบหนอนควรพ่นสารฆ่าแมลงคาร์บาริล 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

2.ลองกอง  ตัดแต่งกิ่งเตรียมความพร้อมของต้น (ศวส.จันทบุรี)

     -ราสีชมพู เชื้อราจะเข้าทำลายกิ่ง ลำต้น ทำให้เกิดลักษณะกิ่งแห้ง ใบแห้ง และร่วงหล่น บริเวณที่ถูกเชื้อราเข้าทำลายเริ่มแรกจะเห็นเส้นใยของเชื้อราสีขาวขึ้นปกคลุมบางๆบริเวณโคนกิ่งและค่อยๆเจริญปกคลุม กิ่ง เส้นใยจะหนาขึ้นและค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีชมพู เปลือกและเนื้อไม้จะเป็นสีน้ำตาลทำให้ใบเป็นสีเหลืองและจะแห้งตายทั้งกิ่ง

การป้องกันกำจัด

  1. ตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง และกำจัดวัชพืชในแปลงปลูก เพื่อลดความชื้นสะสม
  2. ในช่วงฤดูฝนหมั่นตรวจสวนอย่างสม่ำเสมอ หากพบอาการของโรคที่กิ่งแม้เพียงเล็กน้อย ให้ตัดไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก หรือเฉือนเปลือกบริเวณเป็นโรคออก แล้วทาด้วยสารคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 45-60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ 62% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
  3. เมื่อพบอาการใบเหลือง ควรตรวจดูบริเวณกิ่ง หากพบอาการของโรค ให้ตัดกิ่งที่เป็นโรค นำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก หรือพบอาการของโรคบนง่ามกิ่ง หรือโคนกิ่งที่มีขนาดใหญ่ ให้ถากแผลบริเวณที่เป็นโรคออกให้หมด แล้วทาบริเวณแผลด้วยสารดังกล่าวตาม ข้อ 2 จากนั้นพ่นให้ทั่วต้น โดยเฉพาะที่บริเวณกิ่ง และลำต้นด้วยสารคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ 62% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือคาร์เบนดาซิม 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
  4. ในแปลงลองที่เคยพบโรคระบาดรุนแรง ในช่วงฤดูฝนควรป้องกันการเกิดโรคโดย พ่นด้วยสารดังกล่าว ตามกิ่งก้านที่อยู่ในทรงพุ่มเสมอๆ

      -โรคราสีขาว มีเส้นใยสีขาวหยาบ ขึ้นปกคลุมบริเวณปลายกิ่งและอาจจะลุกลามขึ้นปกคลุมใบ ทำให้กิ่งแห้ง ใบแห้งเหี่ยว

การป้องกันกำจัด

       1.กำจัดวัชพืชในแปลงปลูก และบริเวณใกล้เคียง

       2. ตัดแต่งใบแก่ออก เพื่อให้ต้นโปร่ง อากาศถ่ายเทสะดวก

       3.ตรวจแปลงปลูกสม่ำเสมอ เมื่อพบโรคตัดส่วนที่เป็นโรคไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก หากโรคยังคงระบาด พ่นด้วยสารเฮกซะโคนาโซล 5% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ทีบูโคนาโซล 43% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไดฟีโนโคนาโซล + โพรพิโคนาโซล 15%+15% อีซี อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 7 วัน

  1. พื้นที่ที่เกิดโรคระบาด ควรปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน
  2. ฤดูปลูกถัดไป ควรใช้กิ่งชำหรือต้นพันธุ์ที่ปราศจากโรค หรือก่อนปลูกแช่กิ่งชำหรือต้นพันธุ์ด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชชนิดใดชนิดหนึ่ง ตามข้อ 3. และปลูกให้มีระยะห่างพอควร เพื่อให้มีการระบายอากาศที่ดี

 3.ทุเรียน ตัดแต่งกิ่งเตรียมความพร้อมของต้น (ศวส.จันทบุรี)

     – หนอนด้วงหนวดยาวเจาะลำต้นทุเรียน ตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่โดยฝังไว้ใต้เปลือกตามลำต้นและกิ่งขนาดใหญ่ หนอนกัดกินชอนไชไปตามเปลือกไม้ด้านในไม่มีทิศทาง หรืออาจกัดควั่นเปลือกรอบต้น การทำลายที่เกิดจากหนอนขนาดเล็กไม่สามารถสังเกตได้จากภายนอก แต่เมื่อหนอนโตขึ้นจะพบขุยไม้ละเอียดซึ่งเป็นมูลของหนอนตามแนวรอยทำลาย หรือตรงบริเวณที่หนอนทำลายกัดกินเนื้อไม้อยู่ภายในจะเห็นมีของเหลวสีน้ำตาลแดงไหลเยิ้มอยู่ ในระยะต่อมาจึงจะพบมูลหนอนออกมากองเป็นกระจุกอยู่ข้างนอกเปลือก เมื่อใช้มีดปลายแหลมแกะเปลือกไม้ จะพบหนอนอยู่ภายใน เกษตรกรจะสังเกตพบรอยทำลายต่อเมื่อหนอนตัวโตและอาจเจาะเข้าเนื้อไม้ หรือกินควั่นรอบต้นทุเรียนแล้วซึ่งจะมีผลทำให้ท่อน้ำท่ออาหารถูกตัดทำลายเป็นเหตุให้ทุเรียนเริ่มทรุดโทรม ใบเหลืองและร่วง และยืนต้นตายได้

การป้องกันกำจัด

  1. หมั่นตรวจดูผลทุเรียน เมื่อพบรอยทำลายของหนอน ให้ใช้ไม้หรือลวดแข็งเขี่ยตัวหนอนออกมาทำลาย
  2. ตัดแต่งผลทุเรียนที่มีจำนวนมากเกินไป โดยเฉพาะผลที่อยู่ติดกันควรใช้กิ่งไม้หรือกาบมะพร้าวคั่นระหว่างผล เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเต็มวัยวางไข่หรือตัวหนอนเข้าหลบอาศัย
  3. การห่อผลด้วยถุงมุ้งไนล่อน ถุงรีเมย์ หรือถุงพลาสติกสีขาวขุ่น เจาะรูที่บริเวณขอบล่างเพื่อให้หยดน้ำระบายออก โดยเริ่มห่อผลตั้งแต่ผลทุเรียนมีอายุ 6 สัปดาห์ เป็นต้นไป จะช่วยลดความเสียหายได้
  4. สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพเมื่อจำเป็นต้องใช้ คือ แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คลอร์ไพริฟอส 40% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คาร์โบซัลแฟน 20% อีซี อัตรา 50มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นเฉพาะส่วนผลทุเรียนที่พบการทำลายของหนอนเจาะผลในแหล่งที่มีการระบาด พ่นหลังจากทุเรียนติดผลแล้ว 1 เดือน พ่น 3-4 ครั้ง ทุก 20 วัน

          -โรครากเน่าโคนเน่า

อาการที่ราก อาการเริ่มจากใบที่ปลายกิ่ง จะมีสีซีดไม่เป็นมันเงา เหี่ยวลู่ลง อาการรุนแรงมากขึ้นใบจะเหลืองและหลุดร่วง เมื่อขุดดูที่รากฝอยจะพบรากฝอยมีลักษณะเปื่อยยุ่ยเป็นสีน้ำตาลและหลุดล่อนง่าย เมื่อโรครุนแรงอาการเน่าจะลามไปยังรากแขนงและโคนต้น ทำให้ต้นทุเรียนโทรมและยืนต้นตาย

อาการที่กิ่งและที่ลำต้นหรือโคนต้น เริ่มแรกทุเรียนจะแสดงอาการใบเหลืองเป็นบางกิ่ง และจะสังเกตเห็นคล้ายคราบน้ำบนผิวเปลือกได้ชัดเจนในช่วงที่สภาพอากาศแห้ง เมื่อใช้มีดถากบริเวณคราบน้ำจะพบเนื้อเยื่อเปลือกและเนื้อไม้เป็นแผลสีน้ำตาล ถ้าแผลขยายใหญ่ลุกลามจนรอบโคนต้น จะทำให้ทุเรียนใบร่วงจนหมดต้นและยืนต้นแห้งตาย

อาการที่ใบ ใบช้ำดำตายนึ่งคล้ายถูกน้ำร้อนลวก และจะเกิดอาการไหม้แห้งคาต้นอย่างรวดเร็ว พบมากช่วงฝนตกหนักต่อเนื่องหลายวัน

การป้องกันกำจัด

  1. แปลงปลูกควรมีการระบายน้ำดี ไม่ควรมีน้ำท่วมขัง และเมื่อมีน้ำท่วมขังควรรีบระบายออก
  2. ปรับปรุงดิน โดยใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก
  3. บำรุงต้นทุเรียนให้แข็งแรงสมบูรณ์อยู่เสมอ
  4. ตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง เพื่อให้การถ่ายเทอากาศดี แสงแดดส่องถึง และควรหลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจทำให้รากหรือลำต้นเกิดแผล ซึ่งจะเป็นช่องทางให้เชื้อราสาเหตุโรคเข้าทำลายพืชได้ง่ายขึ้น
  5. ต้นทุเรียนที่เป็นโรครุนแรงมากหรือยืนต้นแห้งตายควรขุดออก แล้วนำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก ตากดินไว้ระยะหนึ่ง แล้วจึงปลูกทดแทน
  6. ตรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบส่วนของใบ ดอก และผลที่เป็นโรค ตัดแต่งส่วนที่เป็นโรคนำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก แล้วพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เมทาแลกซิล 25% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตรหรือ ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ให้ทั่วทรงพุ่ม
  7. ไม่นำเครื่องมือตัดแต่งที่ใช้กับต้นเป็นโรคไปใช้ต่อกับต้นปกติ และควรทำความสะอาดเครื่องมือก่อนนำไปใช้ใหม่ทุกครั้ง
  8. เมื่อพบต้นที่ใบเริ่มมีสีซีด ไม่เป็นมันเงาหรือใบเหลืองหลุดร่วง ใช้ฟอสโฟนิก แอซิด 40% เอสแอล ผสมน้ำสะอาด อัตรา 1:1 ใส่กระบอกฉีดยา ฉีดเข้าลำต้น อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อต้น และ/หรือราดดินด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เมทาแลกซิล 25% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
  9. เมื่อพบอาการโรคบนกิ่งหรือที่โคนต้น ถากหรือขูดผิวเปลือกบริเวณที่เป็นโรคออก ทาแผลด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 80-100 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร หรือ เมทาแลกซิล 25% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 50-60 กรัมต่อน้ำ 1ลิตร ทุก 7 วันจนกว่าแผลจะแห้ง หรือ ใช้ฟอสโฟนิก แอซิด 40% เอสแอล ผสมน้ำสะอาด อัตรา 1:1 ใส่กระบอกฉีดยา ฉีดเข้าลำต้นหรือกิ่งในบริเวณตรงข้ามอาการโรค หรือส่วนที่เป็นเนื้อไม้ดีใกล้บริเวณที่เป็นโรค อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อต้น

          -ด้วงกินใบ ด้วงมีลักษณะสีดำตัวเล็กและจะกินใบทำให้ใบทุเรียนเสียหาย

การป้องกันกำจัด

     หากพบหนอนกัดกินใบอ่อนเข้าทำลายประมาณ 20% ของยอด ให้พ่นสารคาร์บาริล 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่น 2 ครั้งห่างกัน 5 วัน

      -โรคใบติด  ใบทุเรียนจะเกิดอาการเหมือนถูกน้ำร้อนลวกบริเวณกลางใบและขอบใบและค่อยๆขยายลุกลามกลายเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ขนาดรูปร่างแผลไม่แน่นอน และใบที่เกิดโรคจะมีใบติดกัน

การป้องกันกำจัด

  1. ตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง และกำจัดวัชพืชในแปลงปลูก เพื่อลดความชื้นสะสม
  2. ควรใส่ปุ๋ยที่มีค่าไนโตรเจนให้เหมาะสม
  3. หมั่นสำรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบว่า เริ่มมีการระบาดของโรค ตัดส่วนที่เป็นโรค และเก็บเศษพืชที่เป็นโรคและใบที่ร่วงหล่น ไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก และพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืชวาลิดามัยซิน 3 % เอสแอล อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เฮกซะโคนาโซล 5% เอสซี อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ทุก 10 วัน4. เมื่อพบการระบาดของโรค ควรหลีกเลี่ยงการให้น้ำแบบพ่นฝอย

4.เงาะ เตรียมความพร้อมในการออกดอก

     -หนอนคืบกิ่งไม้ ในระยะที่เงาะแตกใบอ่อน จะทำลายและทำให้เกิดความเสียหายมาก หนอนจะกัดกินใบเพสลาด รวมทั้งใบแก่ ทำให้การปรุงอาหารของใบไม่เพียงพอ

การป้องกันกำจัด

  1. ถ้าโคนต้นเงาะโล่งเตียนไม่มีหญ้ารก ให้เขย่ากิ่งเงาะ ตัวหนอนทิ้งตัวลงที่พื้นแล้วจับไปทำลาย
  2. ในระยะที่เงาะแตกใบอ่อน ถ้าพบหนอนควรพ่นสารฆ่าแมลงคาร์บาริล 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

      -หนอนร่านกินใบ หนอนจะทำลายโดยการกัดกินใบที่เป็นสีเขียวเหลือเฉพาะเส้นใบและก้านใบ

การป้องกันกำจัด

1.ให้สังเกตการระบาดในระยะแรก หนอนอยู่เป็นกลุ่ม หนอนที่เล็กจะแทะผิวใบ ทำให้ใบแห้ง ให้ตัดกิ่ง เผาทำลาย

2.ถ้าระบาดรุนแรงพ่นสาร คาร์บาริล 85%ดับเบิ้ลยูพี อัตรา60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

5.สละ เก็บเกี่ยว (ศวส.จันทบุรี)

    -โรคผลเน่า เปลือกผลสละมีสีน้ำตาล ถ้าความชื้นสูงจะพบเส้นใยของเชื้อราสีขาว หรือขาวอมชมพู เส้นใยของเชื้อราจะแทงทะลุเปลือกเข้าไปในผล ทำให้เปลือกเปราะแตก เนื้อด้านในเน่า และผลร่วงในที่สุด เส้นใยเชื้อราที่พบบนผลที่เป็นโรค เมื่อเจริญเต็มที่จะสร้างดอกเห็ดสีขาว เมื่อดอกเห็ดบานจะปลดปล่อยสปอร์แพร่ระบาดไปสู่ทะลายผลอื่นๆ และต้นอื่น

การป้องกันกำจัด

1. ตัดแต่งทางใบแก่ โดยเฉพาะทางใบที่อยู่ด้านล่างๆ และปรับร่มเงาให้เหมาะสม เพื่อให้มีการถ่ายเทอากาศได้ดี ไม่มีความชื้นสะสมใต้ทรงพุ่มมากเกินไป

2. ตัดแต่งช่อผล เพื่อลดการเบียดกันจนทำให้เกิดแผล ซึ่งเป็นช่องทางให้เชื้อโรคเข้าทำลายได้ง่าย

3. ให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ และระวังอย่าให้พืชขาดน้ำในช่วง 10 สัปดาห์หลังติดผล เพื่อป้องกันผลแตกในขณะผลแก่ อันเนื่องมาจากการได้รับน้ำจากฝนตกชุกมากเกินไป

4. ควรค้ำยันทะลายผลไม่ให้ติดดิน เพื่อป้องกันเชื้อราสาเหตุโรคในดินเข้าสู่ผล

5. ตรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ ปลิดผลที่เป็นโรคบนทะลาย เก็บเศษซากพืช และผลที่ร่วงอยู่ใต้ต้น นำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก เพื่อลดปริมาณเชื้อสะสม และพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช ไพราโคลสโตรบิน 25% อีซี อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ทีบูโคนาโซล+ไตรฟลอกซีสโตรบิน 50%+25% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไดฟีโนโคนาโซล 25% อีซี อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ทุก 7 วัน อย่างน้อย 2 ครั้ง และควรหยุดพ่นสารก่อนเก็บเกี่ยว อย่างน้อย 15 วัน

6.พริกไทย ติดผลอ่อน/ผลแก่/ เก็บเกี่ยว (ศวส.จันทบุรี)

    -รากเน่าโคนเน่า มักเกิดในระยะพริกโตเต็มที่ ช่วงออกดอกติดผล อาการเริ่มแรกจะมีใบเหลืองและร่วง หากระบาดรุนแรง ต้นพริกจะเหี่ยวและยืนต้นตายโคนต้นจะพบเชื้อราเส้นใยสีขาวรวมเป็นก้อนกลมจากนั้นจะเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีน้ำตาลดำคล้ายเมล็ดผักกาด (ราเม็ดผักกาด)

การป้องกันกำจัด

  1. ถอนต้นที่เป็นโรคนำไปเผาทำลาย
  2. ใส่ปูนขาวก่อนปลูกเพื่อปรับสภาพดิน
  3. ใช้สารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น อีไตรไดอะโซล 24% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือควินโตซีน 75% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ราดดินในหลุมที่ขุดเอาดินเก่าออกแล้ว หรือราดบริเวณโคนต้น
  4. ถ้าโรคระบาดรุนแรง ให้ปลูกพืชอื่นสลับหมุนเวียน อย่างน้อย 5 ปี

7.พริก เพาะปลูก/เจริญเติบโตหรือเกิดผลผลิต (ศวส.ศรีสะเกษ)

    -โรคแอนแทรคโนส โรคนี้ปกติจะเกิดขึ้นเฉพาะกับผลพริก ในกรณีที่มีการระบาดรุนแรงและภาพแวดล้อมเหมาะสมอาจจะเข้าทำลายลำต้นและใบได้ ระบาดมากในฤดูฝนหรือในสภาพความชื้นสัมพัทธ์สูงกว่า 95 %และอุณหภูมิระหว่าง 27-32 องศาเซลเซียส

-อาการเริ่มแรกจะปรากฏเป็นวงกลมช้ำสีน้ำตาล เนื้อเยื่อบุ๋มลึกลงไปจากระดับเดิมเล็กน้อย จุดช้ำสีน้ำตาลนี้จะค่อยๆขยายวงกว้างออกไปเป็นแผลวงกลม หรือวงรีรูปไข่ ซึ่งมองเห็นลักษณะของเชื้อราที่เจริญภายใต้เนื้อเยื่อของพืชขยายออกไปในลักษณะที่เป็นวงกลมสีดำซ้อนกันเป็นชั้นๆ ซึ่งภายในบรรจุสปอร์ของเชื้อราอยู่เต็มรอยแผล

การป้องกันกำจัด

1.หมั่นสำรวจตรวจแปลง เก็บผลเป็นโรคออกจากแปลงปลูก นำไปเผาทิ้ง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค

2.ควรใช้แคลเซียมโบรอน 20% โดยช่วงที่พริกออกดอก ให้ฉีดพ่น 7 วัน/ครั้ง และเมื่อพริกมีผล ให้ฉีดพ่น 10 วัน/ครั้ง

3.ควบคุมโรคโดยใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่าอัตรา 1 กิโลกรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยขยำในน้ำเพื่อเอาสปอร์ออกจากวัสดุ (ข้างฟ่าง ข้าวโพด) กรองเอาน้ำ และผสมสารจับใบฉีดพ่นทุกๆ 5-7 วัน โดยฉีดพ่นในช่วงเย็น หรือใช้เชื้อแบคทีเรียบีเอส (บาซิลลัส ซับทิลิส) อัตราการใช้ตามฉลาก เมื่อเริ่มพบอาการของโรคให้ฉีดพ่นบริเวณที่เกิดอาการของโรค ทั้งนี้ควรผสมสารจับใบและฉีดพ่นในตอนเย็น

4.ใช้สารป้องกันกำจัดเชื้อราพ่นทุก 1-2 อาทิตย์ต่อครั้ง เช่น ไดโพลาแทน 80 %ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ไซเนป 80%ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

     -หนอนกระทู้ผัก หนอนระยะแรกจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม แทะกินผิวใบ ในระยะต่อมาหนอนจะเริ่มแยกย้ายไปต้นอื่น การทำลายจะรุนแรงมากขึ้นเนื่องจากหนอนมีขนาดใหญ่ สามารถกัดกินใบ ก้าน และดอกของพริก ทำความเสียหายอย่างมาก

การป้องกันกำจัด

  1. การเก็บกลุ่มไข่ และหนอนทำลาย จะช่วยลดการระบาดของหนอ 60 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
  2. การใช้สารฆ่าแมลง ได้แก่ คลอฟูร์อาซูรอน 5% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เมทอกซีฟีโนไซด์ 24% เอสซี อัตรา 8 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ20 ลิตร หรือ ลูเฟนนูรอน 5% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เดลทาเมทริน 3% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อินดอกซาคาร์บ 15% เอสซี อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร