เตือนภัยการเกษตร 14-20 พฤศจิกายน 2561
เตือนภัยการเกษตร
ช่วงวันที่ 14-20 พฤศจิกายน 2561
ภาคเหนือ ตอนบน
1.ลิ้นจี่ แตกใบอ่อน(ศวส.เชียงราย )
-ไรกำมะหยี่ ดูดทำลายใบอ่อน ใบที่ถูกทำลายจะมีอาการหงิกงอ และโป่งพองขึ้นเป็นกระเปาะ ผิวใบบริเวณที่ถูกดูดกินจะสร้างชั้นสีน้ำตาลเข้มสานกันแน่นเป็นแผ่นติดต่อกัน มีลักษณะนุ่มหนาคล้ายพรม เมื่อเริ่มเกิดจะมีสีเหลืองอ่อน สีจะเข้มขึ้นเป็นสีน้ำตาลแดง ใบที่ถูกทำลายจะแห้งและร่วงในที่สุด
การป้องกันกำจัด
ตัดแต่งกิ่งที่มีไรกำมะหยี่เผาทำลาย พ่นด้วยกำมะถันผง 85%ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นสารฆ่าไรอะมิทราช อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
ภาคเหนือ ตอนล่าง
1.กาแฟอะราบิกา ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ระยะช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต (ศว.กส.เพชรบูรณ์)
-โรคแอนแทรกโนส พบทั้งใบอ่อนและใบแก่ จะพบจุดแผลสีน้ำตาล พบกิ่งเหี่ยวและแห้ง ทำให้ใบเหลืองและ
ร่วงผล พบทั้งผลอ่อนและผลแก่ ผลจะมีจุดสีน้ำตาลเข้ม เนื้อเยื่อแผลยุบตัว ผลหยุดการเจริญเติบโต และเปลี่ยนเป็นสีดำ แต่ผลยังคงติดอยู่บนกิ่งต้น
การป้องกันกำจัด
- เก็บผลและตัดแต่งกิ่ง ใบ ที่เป็นโรคไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก
- ควรรักษาระดับร่มเงาให้เหมาะสม เพื่อรักษาระดับความชื้น เป็นการป้องกันการเกิดโรค
- หลังเก็บเกี่ยวผลกาแฟควรตัดแต่งกิ่งและให้ปุ๋ยบำรุงต้น เพื่อให้ต้นกาแฟมีความแข็งแรง
1.พืชตระกูลแตง ระยะเจริญเติบโต (ศวส.สุโขทัย)
-โรคราน้ำค้าง มีสาเหตุมาจากเชื้อรา Pseudoperonospora cubensis พบมากช่วงที่มีความชื้นในอากาศสูง อากาศหนาว มีน้ำค้างลงจัด และฝนตกชุก แพร่ระบาดมากในหน้าฝนและหนาว สามารถแพร่ระบาดได้โดย ลม น้ำฝน เครื่องมือทางการเกษตร และการเคลื่อนย้ายพืชปลูกและสามารถมีชีวิตอยู่ข้ามปีได้ เชื้อเจริญเติบโตได้ดีที่อุณหภูมิ 4-24 องศาเซลเซียส แต่ไม่ทนต่อแสงแดดจัด หากเข้าทำลายพืชปลูกจะสามารถสร้างความเสียหายให้เกิดกับพืชได้ โดยจะทำให้ผลผลิตพืชลดลง หากเป็นมากพืชอาจเหี่ยวแห้งตายในที่สุด ควรมีการดูแลใส่ใจพืชปลูกเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในช่วงที่สภาพอากาศมีความชื้นสูง หรือ มีหมอกลงจัด หากพบควรเร่งป้องกันกำจัดโดยเร็วไว เพราะโรคจะแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วและสร้างความเสียหายให้แก่พืชได้ 100% ลักษณะอาการของโรค จะพบกลุ่มของเชื้อราเป็นผงสีขาวหรือสีเทาบนใบ ต่อมาด้านหลังใบจะเกิดแผลสีเหลือง และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล แผลค่อนข้างเป็นเหลี่ยม ขอบไม่แน่นอน ถ้าเป็นรุนแรง แผลจะมีจำนวนมาก ใบจะเหลือง และแห้งตาย ใบที่อยู่ตอนล่างๆ จะมีแผลเกิดก่อนแล้วลามไปยังใบที่สูงกว่า ด้านบนในต้นอ่อนจะเริ่มมีแผลสีเหลืองที่ใบเลี้ยง และมักจะหลุดร่วงไป อาจมีขนาดเล็กถึงใหญ่
การป้องกันกำจัด
หากพบเริ่มระบาด ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช ดังนี้
1. แมนโคเซบ+เมทาแลกซิล-เอ็ม 64%+4% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ
2. ไซมอกซานิล+ฟามอกซาโดน 30%+22.5% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 10-15 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ
3. ไดเมโทมอร์ฟ 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 10-20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ
4. แมนโคเซบ 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 20-30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตรโดยพ่นทุก 5-7 วัน
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนล่าง
1.มะเขือเทศ ปลูกกล้าลงแปลง (ศวส.ศรีสะเกษ)
-โรคเหี่ยวเหลือง ใบล่างจะเหี่ยวและลู่ลง ใบแก่ที่อยู่ล่างๆ มีอาการเหลือง และใบที่เหี่ยวด้านบน จะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง อาการจะลามขึ้นไปยังส่วนยอด ขอบใบม้วนลงด้านล่าง เมื่อถอนต้นขึ้นมาจะพบว่าเกิดอาการเน่าขึ้นที่ราก ต้นมะเขือเทศจะหยุดการเจริญเติบโต และตายในที่สุด
การป้องกันกำจัด
- หลีกเลี่ยงการปลูกในพื้นที่ที่เคยมีการระบาดของโรคนี้
- ควรเลือกแปลงปลูกที่ดินไม่เป็นกรดจัด หรือ ปรับสภาพดินไม่ให้เป็นกรดจัด โดยใส่ปูนขาว หรือ โดโลไมท์ อัตรา 300-400 กิโลกรัมต่อไร่ แล้วใส่ปุ๋ยอินทรีย์ อย่างน้อย 1-2 ตันต่อไร่ และแปลงปลูกควรมีการระบายน้ำที่ดี
- ใช้ต้นพันธุ์จากแหล่งปลูกที่ไม่เคยมีโรคนี้ระบาดมาก่อน และใช้เมล็ดที่ไม่มีร่องรอยการติดเชื้อ
- หมั่นตรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ หากพบโรค ถอนต้นที่เป็นโรคนำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก แล้วราดด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา คาร์บอกซิน 75% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 14 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ควินโตซีน 24 % อีซี อัตรา 20มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อีไตรไดอะโซล+ควินโตซีน 6%+24% อีซี อัตรา 30-40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร โดยราดดินตรงจุดที่พบโรคและบริเวณใกล้เคียง
- แปลงที่มีการระบาดของโรค ควรเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน 1. หอมแดง เริ่มปลูก (ศวส.ศรีสะเกษ)
-หอมเลื้อย อาการของโรคพบได้ที่ ใบ กาบใบ คอ หรือส่วนหัว เริ่มแรกพบจุดฉ่ำน้ำขนาดเล็กสีเขียวหม่น และขยายใหญ่เป็นรูปกลมหรือรี เนื้อแผลยุบลงเล็กน้อยบนแผลมีหยดของแหลวสีชมพูอมส้ม เมื่อแห้งจะเห็นตุ่มเล็กๆสีน้ำตาลดำเรียงเป็นวงรีซ้อนกันหลายชั้น ใบพืชจะไม่ตั้งตรงจะเอนล้ม ทำให้ดูเหมือนเลื้อย ใบบิด โค้งงอ หัวลีบยาว เลื้อย ไม่ลงหัว ทำให้ต้นหอมเน่าเสียหายในแปลงปลูก เก็บเกี่ยวไม่ได้ หรือไปเน่าเสียในช่วงเก็บรักษา
การป้องกันกำจัด
1.แช่หัวพันธุ์หอมแดงที่ตัดแต่งใบและดอกออก ด้วยเชื้อไตรโครเดอร์ม่า อัตรา 1 กก.ต่อน้ำ 200 ลิตร
2.ฉีดพ่นเชื้อไตรโครเดอร์ม่า อัตรา 1 กิโลกรัมต่อน้ำ 200 ลิตร ในช่วงเวลาเย็น สัปดาห์ละ 2 ครั้ง เพื่อป้องกันการเกิดโรค
3.หมั่นตรวจแปลงสม่ำเสมอ หากพบโรคให้รีบถอนทิ้งและเผาทำลาย ฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น โปรคลอราช 50% ดับบิวพี อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร (ไม่ควรฉีดติดต่อกันเกิน 4 ครั้ง ) ฉีดพ่นสลับกับ
สารแมนโคเซป 80% ดับบิวพี อัตรา 40-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
-โรคหัวเน่าเละ อาการที่พบคืออาการเน่าปรากฎขึ้นบริเวณหัวและราก และลุกลามขึ้นไปภายในลำต้นจนถึงยอดเมื่อภายในเน่าและเป็นเมือก อาการที่เห็นชัดภายนอกคือใบซีด และเหี่ยว เห็นบริเวณช้ำที่โคนต้น และที่บริเวณโคนของใบยอด มักพบอาการกับหัวหอมแดงที่ถูกฝนก่อนเก็บเกี่ยว
การป้องกันกำจัด
1. ทำความสะอาดเครื่องมือ เครื่องใช้ต่างๆ ทั้งก่อนและหลังการใช้งานในแปลงปลูก
2.หลีกเลี่ยงไม่ทำให้ส่วนต่างๆ ของพืชเกิดแผล เพราะเชื้อจะเข้าทำลายพืชทางแผล
3. เมื่อเริ่มพบโรค รีบขุดต้นที่เป็นโรคนำไปเผานอกแปลงปลูก
4.ไถกลบเศษพืชผักทันทีที่เก็บเกี่ยวแล้ว และทำการตากดินแล้วไถกลบอีกครั้ง
5.พื้นที่ที่เคยมีการระบาดของโรค ควรปลูกพืชหมุนเวียน เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว และข้าวโพด เป็นต้น
6.ฤดูถัดไปควรเลือกพื้นที่ปลูกที่ไม่เคยมีการระบาดของโรคนี้มาก่อน และมีการระบายน้ำที่ดี
7.ก่อนปลูกพืช ควรไถพรวนดินให้ลึกเกินกว่า 20 เซนติเมตร จากผิวดิน และตากดินไว้นานกว่า 2 สัปดาห์ จะช่วยลดปริมาณเชื้อในดินลงได้มาก
ภาคใต้ตอนล่าง
1.กล้วยหิน ทุกระยะการเจริญเติบโต (ศวส.ยะลา)
-โรคเหี่ยวของกล้วย ใบอ่อนแสดงอาการเหี่ยว ก้านใบหักพับ ปลีกล้วยแคระแกร็นและเหี่ยวแห้ง หน่อกล้วยยอดเปลี่ยนเป็นสีดำ เมื่อตัดดูลักษณะภายในลำต้นเทียมจะเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาลแดง อาการเหี่ยวจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้พืชแสดงอาการใบเหลือง และยืนต้นตาย เชื้อสามารถเข้าทำลายลำต้นเทียม ก้านใบ เครือกล้วย ผล และหน่อกล้วย
การกำจัดโรค
- ทำลายกอกล้วยหินโดยใช้สารกำจัดวัชพืช ซึ่งมีวิธีการดังนี้
– ใช้ไม้เสียบลูกชิ้นความยาว 8 นิ้ว แช่ในกระป๋องที่ใส่สารกำจัดวัชพืช ไตรโคลเพอร์ บิวทอกซีเอทิลเอสเตอร์ 66.8% อีซี แช่ทิ้งไว้ข้ามคืน
– นำไม้เสียบลูกชิ้นที่แช่สารกำจัดวัชพืชแล้ว เสียบที่บริเวณโคนต้นกล้วยที่เป็นโรคเหี่ยว ลึกประมาณ 5 นิ้ว โดยเลือกเสียบที่ต้นกล้วยขนาดใหญ่ในกอ ประมาณ 2-3 ต้น ต้นกล้วยจะตายภายในเวลาประมาณ 20-30 วัน
- โรยปูนขาว 5 กิโลกรัมต่อกอ ตรงบริเวณโคนและรอบรากต้นกล้วยที่เป็นโรค เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียสาเหตุโรคที่อยู่ในดิน
- ต้นกล้วยที่เป็นโรค หากมีปลี หรือเครือกล้วย ให้ใช้ถุงพลาสติกคลุม เพื่อป้องกันแมลงที่จะมาสัมผัสเชื้อสาเหตุโรค และยับยั้งการแพร่กระจายโรคไปสู่ต้นอื่น
- หลังจากต้นกล้วยตาย ให้สับต้นกล้วยเป็นท่อน แล้วราดด้วย พ.ด.1 ที่ผสมน้ำตามคำแนะนำข้างซอง ใช้
1 ซองต่อกอ เพื่อให้ย่อยสลายได้เร็วขึ้น ประมาณ 3-4 สัปดาห์ ห้ามนำต้นกล้วยที่ย่อยสลายแล้วไปเป็นปุ๋ย - ฆ่าเชื้อแบคทีเรียในดินอีกครั้ง โดยสับกอกล้วยที่ย่อยสลายแล้วกับดินบริเวณรอบกอกล้วย แล้วใช้ยูเรีย
0.5 กิโลกรัม ผสมกับ ปูนขาว 5 กิโลกรัมต่อกอ โรยให้ทั่วกอ กลบดินบริเวณกอกล้วยให้แน่น รดน้ำให้ชุ่ม ทิ้งไว้
3 สัปดาห์ เมื่อยูเรียและปูนขาวได้รับความชื้นจะแตกตัวเป็นแก๊สพิษฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เมื่อครบกำหนดใช้จอบสับดินให้แก๊สพิษที่อยู่ในดินออกมา แล้วปลูกพืชได้ตามปกติ
การดูแลป้องกันต้นกล้วยที่ยังไม่เป็นโรคแต่อยู่ในแปลงที่มีต้นกล้วยเป็นโรค
ใช้ชีวภัณฑ์บาซิลัส ซับทีลิส สายพันธุ์ BS-DOA 24 ของกรมวิชาการเกษตร อัตรา 25 กรัม ผสมน้ำ 10 ลิตรต่อกอ รดให้ทั่วรอบต้น ทุก 30 วัน เป็นระยะเวลา 12 เดือน
การป้องกันโรค
- การฆ่าเชื้อแบคทีเรียสาเหตุโรคในดินก่อนปลูก
– ในกรณีที่ปลูกกล้วยหินพืชเดียว ฆ่าเชื้อโดยใช้ยูเรีย อัตรา 80 กิโลกรัมผสมกับ ปูนขาว 800 กิโลกรัมต่อไร่ หว่านให้ทั่วแปลง ไถกลบให้ลึกพอสมควร ปาดหน้าดินให้เรียบ รดน้ำให้ชุ่มจนทั่ว ทิ้งไว้ 3 สัปดาห์ เมื่อครบกำหนดเปิดหน้าดินให้แก๊สพิษออกมา จากนั้นทำปลูกกล้วยได้ตามปกติ
– ในกรณีที่ปลูกกล้วยหินแซมพืชอื่น ฆ่าเชื้อบริเวณหลุมปลูก โดยใช้ยูเรีย 0.5 กิโลกรัม ผสมกับปูนขาว 5 กิโลกรัมต่อหลุม โรยให้ทั่วหลุม กลบดินให้แน่น รดน้ำให้ชุ่มจนทั่ว ทิ้งไว้ 3 สัปดาห์ เมื่อครบกำหนดใช้จอบสับดินให้แก๊สพิษออกมา แล้วปลูกกล้วยได้ตามปกติ
- ใช้หน่อกล้วยปลอดเชื้อ หรือไม่ใช้หน่อกล้วยจากแปลงที่เป็นโรคมาเป็นหน่อพันธุ์
- หลังปลูกหน่อกล้วย รดด้วยชีวภัณฑ์บาซิลัส ซับทีลิส สายพันธุ์ BS-DOA 24 อัตรา 50 กรัมผสมน้ำ 20 ลิตร รดให้ทั่วรอบต้นและรดซ้ำทุก 30 วัน นาน 12 เดือน
- ทำความสะอาดเครื่องมือ และอุปกรณ์ทางการเกษตร เช่น มีดตัดผลกล้วย จอบ เสียม ทุกครั้งก่อนนำไปใช้กับต้นต่อไป โดยใช้น้ำยาฟอกขาว เช่น ไฮเตอร์ อัตรา 250 มิลลิลิตรผสมน้ำ 3 ลิตร
- ไม่เดินจากต้นที่เป็นโรคไปยังต้นที่ไม่เป็นโรค หากจำเป็นต้องเดินให้ฆ่าเชื้อที่รองเท้าก่อน ด้วยน้ำยาฟอกขาว เช่น ไฮเตอร์ อัตรา 250 มิลลิลิตร ผสมน้ำ 3 ลิตร
- ไม่นำกล้วยหินที่เป็นโรคไปทำเป็นอาหารสัตว์
- ทุเรียน ทุกระยะการเจริญเติบโต (ศวส.ยะลา)
-โรคใบติด ใบที่พบจะมีรอยคล้ายๆ ถูกน้ำร้อนลวก ขอบแผลไม่แน่นอน อาจเริ่มที่ปลายใบ กลางใบ หรือโคนใบแล้วลุกลามจนเป็นทั้งใบ และจะสังเกตเห็นเส้นใยสีขาวนวลแผ่ปกคลุมคล้ายใยแมงมุมแผ่ไปตามผิวใบ ใบที่ถูกทำลายจะร่วงหล่นไปในที่สุด ถ้าใบที่เป็นโรคไปสัมผัสกับใบที่ปกติไมว่าจะเป็นใบที่อยู่ล่างๆ หรือใบที่อยู่เหนือกว่า ใบปกตินั้นก็จะเป็นโรคใบติดเช่นกัน
การป้องกันกำจัด
- ตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง และกำจัดวัชพืชในแปลงปลูก เพื่อลดความชื้นสะสม
- ควรใส่ปุ๋ยที่มีค่าไนโตรเจนให้เหมาะสม
- หมั่นสำรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบว่า เริ่มมีการระบาดของโรค ตัดส่วนที่เป็นโรค และเก็บเศษพืชที่เป็นโรคและใบที่ร่วงหล่น ไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก และพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืชวาลิดามัยซิน 3% เอสแอล อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เฮกซะโคนาโซล 5% เอสซี อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ทุก 10 วัน โดยพ่นที่ใบให้ทั่วทั้ง
3.ลองกอง ให้ผลผลิตแล้ว (ศวส.ยะลา)
-หนอนชอนเปลือกลองกอง หนอนกินใต้ผิวเปลือกทั้ง 2 ชนิด จะกัดกินทำลายอยู่ใต้ผิวเปลือกตามกิ่งและลำต้นลึกระหว่าง 2 – 8 มิลลิเมตร ซึ่งอยู่ระหว่างท่อน้ำและท่ออาหาร ทำให้กิ่งและลำต้นมีลักษณะตะปุ่มตะป่ำซึ่งในช่วงหน้าฝนกิ่งจะมีความชื้นสูงและมักมีโรคราสีชมพูเข้าทำลายร่วมด้วย ถ้าหนอนกัดกินบริเวณตาดอกจะทำให้ตาดอกถูกทำลายและผลผลิตลดลง ถ้าทำลายรุนแรงจะทำให้กิ่งแห้ง ต้นแคระแกรน โตช้า และตายในที่สุด
การป้องกันกำจัด
1.ใช้ไส้เดือนฝอย (Steinernema carpocapsae) อัตรา 50 ล้านตัว (1 กระป๋อง) ต่อน้ำ 20 ลิตร 1 ต้นใช้น้ำ 5 ลิตร พ่น 2 ครั้ง ห่างกัน 15 วัน (ในกรณีมีอากาศแห้งแล้ง ควรพ่นน้ำเปล่าให้ความชุ่มชื้นก่อนพ่นไส้เดือนฝอย)
- ใช้สาร คาร์โบซัลแฟน 20% อีซี อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คลอร์ไพริฟอส 40% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นให้โชกบนลำต้น และกิ่งก้านที่มีรอยทำลายของหนอนกินใต้ผิวเปลือก