ผอ.สวส.ร่วมงานวันคล้ายวันสถาปนากรมวิชาการเกษตร ครบรอบปีที่ 52

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 นายธงชัย คำโคตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพืชสวน พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ สถาบันวิจัยพืชสวน ร่วมงานวันคล้ายวันสถาปนากรมวิชาการเกษตร ครบรอบปีที่ 52 โดยมีนายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  ดร.ภัสชญภณ หมื่นแจ้ง ดร.พงศ์ไท ไทโยธิน ดร.วิลาวัณย์ ใคร่ครวญ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร และคณะผู้บริหารกรมวิชาการเกษตร ร่วมสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกรมวิชาการเกษตร พร้อมร่วมพิธีเจริญพระพุทธมนต์พระสงฆ์จำนวน 9 รูป และให้การต้อนรับหน่วยงานต่าง ๆ ที่มาแสดงความยินดี และร่วมบริจาคเงินสมทบทุนให้กับกองทุนสวัสดิการกรมวิชาการเกษตร เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนากรมวิชาการเกษตร ครบรอบปีที่ 52 ณ ตึกกสิกรรม กรมวิชาการเกษตร 
 

ช่วงบ่าย นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีอ่านสารแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสวันสถาปนากรมวิชาการเกษตร ครบรอบ 52 ปี ร่วมกับ นาย อิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีนายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร และคณะผู้บริหารกรมวิชาการเกษตรให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมใหญ่  อาคารปฏิบัติการตรวจสอบรับรองคุณภาพสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออก กองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร กรมวิชาการเกษตร พร้อมกล่าวว่า ในปี 2567 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มุ่งขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลด้านการเกษตรสู่ความสำเร็จ สานต่อนโยบายเดิม 9 ด้าน เกษตรกรต้องอยู่ดี สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ทรัพยากรเกษตรยั่งยืน เพื่อสร้างรายได้ โอกาส และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้เกษตรกรไทย สอดรับกับนโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มีเป้าหมายให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สร้างรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืนให้ภาคการเกษตรไทย

 

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรเป็นหน่วยงานที่สำคัญ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เป็นหลักในการพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศไทย โดยใช้งานวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยี โดยเฉพาะในปัจจุบันเป็นยุคที่มีความท้าทาย เพราะเต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลง ที่สำคัญ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยพิบัติต่างๆ การระบาดของโรค แมลงศัตรูพืชใหม่ ความมั่นคงทางอาหาร ความต้องการอาหารสุขภาพในอนาคต และการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ ในรูปแบบอื่นๆ กรมวิชาการเกษตร ต้องเตรียมความพร้อมเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยการนำผลวิจัยนวัตกรรม และเทคโนโลยี มาช่วยในการสร้างรายได้ สร้างโอกาส และสร้างคุณภาพชีวิต ให้กับเกษตรกร โดยเน้นการบริหารจัดการภาคการเกษตรที่ครบถ้วนทุกด้าน ตั้งแต่ ดิน น้ำ นวัตกรรมเทคโนโลยี การพัฒนาพันธุ์พืช ตลอดจนการใช้สารชีวภัณฑ์ลดการใช้สารเคมี เพื่อยกระดับสินค้าเกษตรปลอดภัยมูลค่าสูง ซึ่งเป็นอีกนโยบายที่ต้องการให้ช่วยในการขับเคลื่อน โดยขอให้มีงานวิจัยที่มีการต่อยอด โครงการ 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรปลอดภัยมูลค่าสูง (76 จังหวัดสินค้าเกษตรปลอดภัยมูลค่าสูง) รวมถึงการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น เพื่อสร้างอาชีพและเพิ่มรายได้ ให้กับเกษตรกร 3 เท่า ใน 4 ปี

นโยบายด้านการจัดการทรัพยากรทางการเกษตร เป็นนโยบายจำเป็นที่กรมวิชาการเกษตรต้องเร่งดำเนินการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อสนับสนุนให้เกิดสังคมคาร์บอนต่ำในภาคการเกษตร ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้จัดทำโครงการนำร่องการผลิตถั่วเหลืองที่มีประสิทธิภาพแบบ  Low Carbon ที่ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ รวมทั้งการจัดตั้งกองวิจัยพืชเศรษฐกิจใหม่ และการจัดการก๊าซเรือนกระจกสำหรับภาคเกษตร เพื่อทำหน้าที่ศึกษาวิจัยและดำเนินงานเกี่ยวกับ การลดก๊าซเรือนกระจกในการผลิตพืช ซึ่งกรมวิชาการเกษตรกำลังดำเนินการเพื่อขอรับรองคาร์บอนเครดิตในพืชเศรษฐกิจหลัก และพัฒนาหน่วยงานจนสามารถเป็นหน่วยตรวจรับรองคาร์บอนเครดิตภายใต้มาตรฐานขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ซึ่งปัจจุบัน มีเจ้าหน้าที่ผ่านการอบรมหลักสูตรผู้ตรวจประเมินแล้ว จำนวน 31 ราย และมีการศึกษาวิจัยแนวทางการลดปัญหา ฝุ่นควันภาคเกษตรอย่างยั่งยืน ด้วยการใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อลดการเผาในพื้นที่ปลูกพืช และลดปัญหาฝุ่นควัน ในภาคเกษตร   ตามนโนบาย 3R (Re-Habit/Replace with high Value Crops/ Replace with Alternate Crops) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เช่น การปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชมูลค่าสูง เช่น กาแฟ เพื่อลดการเผาอย่างยั่งยืนในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งสอดคล้องกับแผนการลดปริมาณการนำเข้ากาแฟจากต่างประเทศ และเพิ่มมูลค่ากาแฟไทย โดยจัดทำโครงการประกวดสุดยอดกาแฟ ซึ่งได้รับพระกรุณาโปรดเกล้ามอบถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราขเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สำหรับการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก นับเป็นวาระสำคัญระดับนานาชาติ ในระดับอาเซียน มีเครือข่ายเสริมสร้างศักยภาพ ในการปรับตัวรองรับผลกระทบ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของอาเซียน (ASEAN Climate Resilience Network : ASEAN CRN) ซึ่งเป็นอีกองค์กรที่มีการขับเคลื่อนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง ซึ่งอธิบดีกรมวิชาการเกษตรเป็นประธานเครือข่ายเสริมสร้างศักยภาพ ในการปรับตัวรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของอาเซียน และกำลังเตรียมจัดงาน 10 ปี ASEAN CRN ที่ จ.เชียงใหม่ ในเดือนมกราคม 2568 กรมวิชาการเกษตรควรใข้โอกาสนี้ แลกเปลี่ยนแนวทางการขับเคลื่อน สร้างความร่วมมือ รวมถึงผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางและต้นแบบ ในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรของภูมิภาคอาเซียน

รมช.เกษตร กล่าวต่อไปว่า ภารกิจที่สำคัญยิ่งอีกด้านของกรมวิชาการเกษตร ที่ต้องการให้มีการพัฒนาการดำเนินงานโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย คือการสานต่อการทำสงครามสินค้าเกษตรเถื่อน การป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้า – ส่งออกสินค้าเกษตรผิดกฎหมายด้านพืช รวมถึงการลดขั้นตอนการดำเนินงาน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้รับบริการด้านการรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับสินค้าส่งออกไปยังต่างประเทศ  เพื่อสนับสนุนการส่งออกซึ่งแต่ละปีมีการขอและออกใบรับรองสุขอนามัยพืช ไม่น้อยกว่า 400,000 ฉบับ มูลค่าการส่งออกไม่ต่ำกว่า 800,000 ล้านบาท รวมถึงการพัฒนาระบบใบรับรองสุขอนามัยพืชแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Phyto)  เพื่อยกระดับมาตรฐานการให้บริการ ให้เกิดความสะดวกต่อผู้รับบริการ อย่างชัดเจน ลดขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ซ้ำซ้อน อำนวยความสะดวกในการขึ้นทะเบียนผู้ผลิตพืช และผลิตภัณฑ์จากพืชเพื่อการส่งออก ให้สามารถทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์แบบปลอดภัย และไร้เอกสาร (Paperless) สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้  พร้อมทั้งแสดงความยินดีที่กรมวิชาการเกษตร ได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2567 จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) จำนวน 4 รางวัล โดยรางวัลเลิศรัฐ เป็นรางวัลที่ทรงเกียรติที่มอบให้แก่หน่วยงานของรัฐ ที่มีผลการพัฒนาคุณภาพการให้บริการ เพื่อประชาชนได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว โปร่งใส เป็นธรรมและเป็นที่พึงพอใจ

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กล่าวว่า  สำหรับแนวทางในการปฏิบัติภารกิจของกรมวิชาการเกษตร ภายใต้การกำกับดูแลของ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ในด้านการวิจัย คือการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ในงานวิจัย และการให้บริการ เช่นห้องปฏิบัติการในโครงการ DOA Future Lab เพื่อยกระดับห้องปฏิบัติการ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคให้มีมาตรฐานสากล และการยกระดับการปรับปรุงพันธุ์พืช โดยการใช้เทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ในการปรับปรุงพันธุ์พืช (Gene Editing) เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ มีความทนทานต่อสภาพภูมิอากาศและต้านทานต่อโรคและศัตรูอุบัติใหม่ เป็นศูนย์กลางการผลิตเมล็ดพันธุ์ และพันธุ์พืชเขตร้อน (Tropical Seed Hub) และมีศูนย์ถ่ายทอดเพื่อสร้างการเรียนรู้ความเป็นเลิศทางด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมการเกษตรสมัยใหม่ การนำระบบ AI เข้ามาใข้ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการวิจัยเพื่อให้เกิดการนำผลงานไปสู่การปฏิบัติอย่างแพร่หลาย รวมถึง นโยบายด้านการพิทักษ์รักษาไว้ ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ มีการดำเนินงานตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรี่สินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการสับสาน รักษา ต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมาอย่างต่อเนื่อง และเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ กรมวิชาการเกษตรได้เตรียมการจัดงานใต้ร่มพระบารมี 30 ปี ศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ เพื่อสนองพระราชดำริและน้อมนำพระราชปณิธาน สืบสาน รักษา ต่อยอด ขยายผลสู่ประชาชน ต่อไป