กรมวิชาการเกษตรจัดงาน “ม่วนใจ๋ ลิ้มรสลิ้นจี่พันธุ์ดี” โชว์ศักยภาพงานวิจัยลิ้นจี่ลูกผสมพันธุ์ใหม่ ณ ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย

วันที่ 20 พฤษภาคม 2568 นางวิลาวัณย์ ใคร่ครวญ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร มอบหมายให้นางสาวกาญจนา ทองนะ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพืชสวน เป็นประธานเปิดงาน “ม่วนใจ๋ ลิ้มรสลิ้นจี่พันธุ์ดี” ซึ่งจัดขึ้นโดยศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย โดยนายกฤชพร ศรีสังข์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงรายกล่าวรายงาน และมี ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายภายใต้สถาบันวิจัยพืชสวน ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 1 ผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งได้รับเกียรติจากนายอดิศร จันทรประภาเลิศ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดเชียงรายและหัวหน้าส่วนราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน เจ้าหน้าที่ และเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมงาน ประมาณ 300 คน
สำหรับการจัดงานในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยและแสดงศักยภาพของลิ้นจี่สายพันธุ์ดีที่ได้รับการพัฒนาโดยศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย ภายใต้การดำเนินงานของสถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร ซึ่งมุ่งเน้นการสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกลิ้นจี่ในพื้นที่ รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และเกษตรกรในภูมิภาค
ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงรายได้ทุ่มเทวิจัยและพัฒนาลิ้นจี่พันธุ์ใหม่อย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 15 ปี จนสามารถคัดเลือกพันธุ์ลูกผสมที่ให้ผลผลิตก่อนฤดูและคุณภาพดีออกมาได้แล้วจำนวน 13 พันธุ์ โดยมีลิ้นจี่พันธุ์ใหม่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชชนิดแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2567 ซึ่งลิ้นจี่พันธุ์ดังกล่าวมีคุณสมบัติเด่น เช่น คุณภาพดี ออกดอกติดผลเร็ว และเป็นที่ยอมรับของเกษตรกรในพื้นที่เชียงราย พะเยา และจังหวัดใกล้เคียง
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงรายยังมุ่งมั่นพัฒนาสายพันธุ์ที่ตอบโจทย์ต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง และส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถเพิ่มคุณภาพผลผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และยกระดับรายได้อย่างยั่งยืน ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

กิจกรรมเด่นภายในงาน ประกอบด้วย:
1. การชิมและลิ้มรสผลผลิตลิ้นจี่ลูกผสมพันธุ์เบาและพันธุ์คุณภาพดี
2. เสวนาหัวข้อ “ลิ้นจี่ลูกผสมพันธุ์ใหม่… ความหวังของเกษตรกรไทย” พร้อมการสาธิตการขยายพันธุ์ลิ้นจี่โดยเทคนิคการเปลี่ยนยอดบนต้นลิ้นจี่ขนาดใหญ่
3. การแจกจ่ายต้นลิ้นจี่ลูกผสมและยอดพันธุ์ดีแก่ผู้เข้าร่วมงาน
งาน “ม่วนใจ๋ ลิ้มรสลิ้นจี่พันธุ์ดี” จึงนับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการนำผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม โดยเน้นการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน เพื่อพัฒนาลิ้นจี่คุณภาพของจังหวัดเชียงรายและภูมิภาคสู่ระดับประเทศ และต่อยอดสู่ตลาดในอนาคต