ประวัติศูนย์

              

               จากการที่ได้เกิดพายุไต้ฝุ่นเกย์ขึ้นในจังหวัดชุมพร  เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2532  ทำให้เกษตรกรในเขตพื้นที่ อำเภอท่าแซะ อำเภอปะทิว ได้รับความเสียหายอย่างมากมาย ผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย  โดยเฉพาะทางสหกรณ์จังหวัดชุมพร  พิจารณาแล้วเห็นว่า  อาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมน่าจะเป็นอาชีพที่ทำรายได้พอแก่การเลี้ยงชีพเกษตรกรได้ดีพอสมควร  เพราะการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมใช้ระยะเวลาสั้น  สามารถทำได้ตลอดปี  และมีความเสี่ยงด้านการตลาดน้อย

               ดังนั้น  ทางสหกรณ์จังหวัดชุมพร  และคณะกรรมการสหกรณ์การเลี้ยงปศุสัตว์ กรป.กลางชุมพร จำกัด  จึงได้ขอให้ทางกรมวิชาการเกษตร  โดยสถาบันวิจัยหม่อนไหมจัดส่งคณะทำงานมาศึกษาความเป็นไปได้ในการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในจังหวัดชุมพร  หลังจากได้ทำการศึกษาแล้ว  คณะทำงานมีความเห็นว่าเป็นไปได้  จึงให้ทางสหกรณ์จัดส่งสมาชิก จำนวน 25 คน  เข้าอบรมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมที่สถานีทดลองหม่อนไหมสุรินทร์  เมื่อวันที่ 2-31 พฤษภาคม 2533  และหลังจากนั้นได้ส่งสมาชิกเข้าอบรมที่สถานีทดลองหม่อนไหมขอนแก่น  อีก 2 รุ่น  จำนวน 67 คน รวมผู้เข้ารับการอบรมในปีแรก  จำนวน 92 คน  หลังจากจบการอบรมแล้ว ได้เริ่มทำการปลูกสร้างสวนหม่อน  และเริ่มทำการเลี้ยงไหมรุ่นแรก เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2534  จำนวนไข่ไหม  59 กล่อง  ได้ผลผลิตรังไหม 1,720 กิโลกรัม  เป็นเงิน 172,857 บาท  นับว่าประสบความสำเร็จเกินความคาดหมาย  แต่เนื่องจากอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็นอาชีพใหม่ที่ไม่คุ้นเคยต่อเกษตรกรในภาคใต้  การที่จะให้โครงการนี้ประสบผลสำเร็จ  ต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะจังหวัดชุมพร  และทุกจังหวัดในภาคใต้  มีสภาพภูมิอากาศแตกต่างจากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างเด่นชัด วิชาการต่าง ๆ  เกี่ยวกับการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม  ส่วนใหญ่ใช้วิธีการเลี้ยงแบบเดียวกับในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  อาจจะไม่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศทางภาคใต้  ทางสหกรณ์ฯ  และสมาชิกเห็นว่าควรมีการตั้งสถานีทดลองหม่อนไหมขึ้นในจังหวัดชุมพร  เพื่อที่จะได้เป็นสถานีค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม  ที่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศทางภาคใต้  จะเป็นผลดีแก่เกษตรกรในภาคใต้ที่ยึดอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม  เป็นทางเลือกอีกอาชีพหนึ่ง ทางสหกรณ์ฯ และสมาชิกกลุ่มผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม  จึงได้เสนอเรื่องผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ขอใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ  เพื่อตั้งสถานีทดลองหม่อนไหม  ทางจังหวัดชุมพร  พิจารณาแล้วเห็นว่าควรสนับสนุนให้กรมวิชาการเกษตร  ใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ  จัดตั้งสถานีทดลองหม่อนไหมชุมพร  เพื่อจะได้เป็นแหล่งวิชาการด้านการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม  สำหรับเกษตรกรทั่วไปในภาคใต้  ทางกรมวิชาการเกษตร  จึงขอใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้  และได้ประสานงานกับทางป่าไม้เขตสุราษฎร์ธานี  และสำนักงานป่าไม้จังหวัดชุมพร  ตรวจสอบสภาพพื้นที่ป่าไม้เขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าน้ำตกกะเปาะ บริเวณสวนป่าปะทิว-ท่าแซะ  และได้รับอนุมัติให้เข้าใช้ประโยชน์ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าน้ำตกกะเปาะ  ตำบลสลุย  อำเภอท่าแซะ  จังหวัดชุมพร  เพื่อจัดตั้งสถานีทดลองหม่อนไหมชุมพร เนื้อที่ 500 ไร่ 48 ตารางวา  ตามประกาศกรมป่าไม้  เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2534  ต่อจากนั้นทางคณะทำงาน  ได้เข้าเริ่มดำเนินการตามขั้นตอน  ดังนี้
               – 21 สิงหาคม 2535 กรมวิชาการเกษตร  ได้มีคำสั่งที่ 3049/2535  แต่งตั้งคณะทำงาน  ดำเนินการจัดตั้งสถานีทดลองหม่อนไหมชุมพร  ประกอบด้วย
               1. นายสมโพธิ อัครพันธุ์    ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยหม่อนไหม  สถาบันวิจัยหม่อนไหม  เป็นประธานคณะทำงาน
               2. นายพีระพงศ์ เชาวน์เสฏฐกุล  ผู้อำนวยการสถานีทดลองหม่อนไหมสุรินทร์  สถาบันวิจัยหม่อนไหม  เป็นรองประธานคณะทำงาน
               3. นายธีระ งามประสิทธิ์     เจ้าพนักงานการเกษตร 5    ศูนย์วิจัยหม่อนไหมนครราชสีมา สถาบันวิจัยหม่อนไหม เป็นคณะทำงาน
               4. นายวิเชียร ขวัญอ่อน      เจ้าพนักงานการเกษตร 5   ศูนย์วิจัยหม่อนไหมนครราชสีมา สถาบันวิจัยหม่อนไหม เป็นคณะทำงาน
              5. นางสาวชยานิจ เกษมสวัสดิ์  นักวิชาการเกษตร 5      ศูนย์วิจัยหม่อนไหมนครราชสีมา สถาบันวิจัยหม่อนไหม  เป็นคณะทำงาน
              6. นายวันชัย สุขเจริญ       เจ้าพนักงานการเกษตร 5     ศูนย์วิจัยหม่อนไหมนครราชสีมา สถาบันวิจัยหม่อนไหม  เป็นคณะทำงานและเลขานุการ
ให้คณะทำงานดังกล่าวมีหน้าที่ ดังนี้ 
                 1. ดำเนินการในด้านต่าง ๆ ประสานงานกับจังหวัดชุมพร  และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในการจัดตั้งสถานีทดลองหม่อนไหมชุมพร
                 2. ปฏิบัติงานตามแผนงานอันเกี่ยวเนื่องกับโครงการฟื้นฟูพื้นที่ภาคใต้ที่ประสบวาตภัยจากไต้ฝุ่นเกย์
               – 28 สิงหาคม 2535  กรมวิชาการเกษตร  ได้รับอนุมัติจากสำนักงาน ก.พ. ให้จัดตั้งสถานีทดลองหม่อนไหมชุมพร  จังหวัดชุมพร  เป็นสถานีเครือข่ายของศูนย์วิจัยหม่อนไหมนครราชสีมา  จังหวัดนครราชสีมา  สถาบันวิจัยหม่อนไหม
               – 1 กันยายน 2535  คณะทำงานจัดตั้งสถานีฯ  ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากสำนักงานป่าไม้เขตสุราษฎร์ธานี  เข้ารังวัดในพื้นที่  และปักหลักหมุดแสดงแนวเขตของพื้นที่ที่ได้รับอนุมัติ
               – 14 กันยายน 2535  กรมวิชาการเกษตร  มีคำสั่งที่ 3395/2535  ให้จัดตั้งสถานีทดลองหม่อนไหมชุมพร  และแต่งตั้ง นายวันชัย  สุขเจริญ  ดำรงตำแหน่งหัวหน้าสถานีทดลองหม่อนไหมชุมพร
               เริ่มดำเนินการบุกเบิกพื้นที่เปิดป่า จำนวน 100 ไร่  เพื่อปลูกสร้างสวนหม่อน  และเป็นการเริ่มต้นดำเนินการจัดตั้งสถานีทดลองหม่อนไหมชุมพร  เป็นต้นมา
               – 14 มิถุนายน 2539  กรมวิชาการเกษตร  มีหนังสือที่ กษ 0918/696  เห็นสมควรคืนพื้นที่ส่วนที่ราษฎรบุกรุกอาศัยทำกินให้กรมป่าไม้ตามเดิม  และใช้ประโยชน์เฉพาะพื้นที่ส่วนที่ได้ดำเนินการก่อสร้างและบุกเบิกไปแล้ว
               – 17 กุมภาพันธ์ 2541 คณะเจ้าหน้าที่จากสำนักงานป่าไม้จังหวัดชุมพร  สำนักงานป่าไม้เขตสุราษฎร์ธานี  และเจ้าหน้าที่สถานีทดลองหม่อนไหมชุมพร  ได้ร่วมกันตรวจสอบพื้นที่ คณะเจ้าหน้าที่ได้จัดทำแผนที่ 1 : 50,000 แสดงบริเวณพื้นที่ที่ขอคืน มีเนื้อที่ 265 ไร่ 3 งาน 24.5 ตารางวา และมีพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต มีเนื้อที่คงเหลือ 234 ไร่ 1 งาน 23.5 ตารางวา
               – 9 ตุลาคม 2545  ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมวิชาการเกษตร  พ.ศ. 2545 ให้แบ่งส่วนราชการกรมวิชาการเกษตร  เป็น 25 หน่วยงาน  และเปลี่ยนชื่อสถานีทดลองหม่อนไหมชุมพร  เป็น  ศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตชุมพร  สังกัดสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7  กรมวิชาการเกษตร  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
               – 27 มีนาคม 2552  กรมวิชาการเกษตร  มีคำสั่งที่ 360/2552 เรื่อง  การปรับปรุงหน่วยงานและระบบงานภายใน  กรมวิชาการเกษตร  และให้ข้าราชการปฏิบัติงาน ปรับศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตชุมพร  เป็น  ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรชุมพร