วันที่ 3 กรกฏาคม 2568 กรมวิชาการเกษตร โดยนางสาวปรียานุช ทิพยะวัฒน์ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร และ กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยนางพจมาน ท่าจีน รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการพัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการทดสอบด้านยางสู่มาตรฐานสากล โดยทั้ง 2 ฝ่ายได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพระบบการรับรองคุณภาพสินค้ายาง และการยกระดับมาตรฐานห้องปฏิบัติการทดสอบสู่มาตรฐานสากล ซึ่งได้ให้ความร่วมมือในการสนับสนุนห้องปฏิบัติการทดสอบด้านยางของประเทศที่มีมากกว่า 100 แห่ง ให้เข้าสู่ระบบมาตรฐานมาอย่างต่อเนื่องภายใต้กิจกรรมต่างๆ อาทิ กิจกรรมการทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ ที่มีห้องปฏิบัติการทดสอบด้านยางทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้าร่วมกิจกรรมมากกว่า 90 แห่ง ที่นับได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง
นางสาวปรียานุช ทิพยะวัฒน์ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรมีพันธกิจสำคัญในการควบคุม กำกับ และดูแลด้านยางพาราให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติควบคุมยาง พ.ศ.2542 ที่มีงานอนุญาตส่งออกและนำเข้ายาง การอนุญาตอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการประกอบกิจการยาง รวมทั้งการให้บริการทดสอบและรับรองคุณภาพยางเพื่อการส่งออก พร้อมทั้งพัฒนาระบบตรวจรับรองสินค้าการเกษตรด้านพืชให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจของกรมวิทยาศาสตร์บริการ โดยนางพจมาน ท่าจีน รองอธิบดี รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์บริการ เป็นหน่วยงานที่ให้บริการทางวิทยาศาสตร์ ส่งเสริม วิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้การรับรองเป็นผู้จัดโปรแกรมการทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการตามมาตรฐาน ISO/IEC 17043 (Proficiency Testing Provider) ของประเทศไทย และเป็นหน่วยรับรองระบบงานห้องปฏิบัติการให้เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล
โดยความร่วมมือของทั้ง 2 ฝ่าย มีกิจกรรมที่จะขยายผลความสำเร็จต่อไปยังหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ได้รับการรับรองระบบมาตรฐานสากล การรับรองระบบคุณภาพ ห้องปฏิบัติการตามมาตรฐานสากล ISO /IEC 17025 เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตยางและยกระดับคุณภาพสินค้ายางธรรมชาติของประเทศ พัฒนาศักยภาพของห้องปฏิบัติการทดสอบยางให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ส่งเสริมการส่งออกเพิ่มมูลค่า และช่วยสนับสนุนการใช้ยางพาราภายในประเทศให้มากขึ้น อีกทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรและผู้ประกอบการยางพาราของไทย
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |