วันที่ 25 เมษายน 2568 นายไพศอล หะยีสาและ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่่ 8 มอบหมายให้ นางสาวสุวิมล วงศ์พลัง นักวิชาการเกษตรชำนาญการ หัวหน้าโครงการฯ จัดเวทีวิจัยสัญจร ณ ตำบลกระแสสินธุ์ อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา
เวทีสัญจร คือ เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภูมิปัญญาและวิชาการของผู้ร่วมโครงการ โดยจะหมุนเวียนกันไปที่บ้านที่สวนของสมาชิกผู้ร่วมโครงการประมาณเดือนละ 1 ครั้ง กิจกรรมเวทีสัญจร ประกอบด้วย 1. ของฝากจากเพื่อนบ้าน 2. เรื่องเล่าจากเจ้าบ้าน 3. แลกเปลี่ยนเรียนรู้ภูมิปัญญา และวิชาการ และ 4. รายงานความก้าวหน้าผลการดำเนินงานโครงการ
เวทีสัญจรแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในสวนมะพร้าวน้ำหอมของเกษตรกรครั้งนี้ มีภาคีเครือข่ายผู้เข้าร่วมเวที 30 คน ประกอบด้วย คณะนักวิจัย กลุ่มวิชาการ สวพ. 8 คณะนักส่งเสริมจากสำนักงานเกษตรอำเภอสทิงพระ สำนักงานเกษตรอำเภอกระแสสินธุ์ เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลกระแสสินธุ์ เกษตรกรในโครงการและเกษตรกรผู้ผลิตมะพร้าวน้ำหอมอื่นๆ ที่สนใจ จากอำเภอสทิงพระ อำเภอกระแสสินธุ์ อำเภอระโนด และอำเภอทุ่งหวัง ผู้ประกอบการมะพร้าวน้ำหอม ทั้งนี้ สวพ. 8 ได้รับเกียรติจากท่านผู้เชี่ยวชาญ ธัชธาวินท์ สะรุโณ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการเกษตร องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เป็นวิทยากรกระบวนการ
สรุปสาระสำคัญ ได้ดังนี้
1. สถานที่จัดเวที บ้านนายประชิด พลฑา ตำบลกระแสสินธุ์ อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา
2. กิจกรรมของฝากจากเพื่อนบ้าน โดยสมาชิกที่เข้าร่วมเวทีได้นำของฝากมาฝากเจ้าบ้าน เช่น ต้น
กล้ามะพร้าวน้ำหอม ผลิตภัณฑ์มะม่วง กล้วย น้ำเต้า พืชผักผลไม้และอื่นๆ ซึ่งกิจกรรมนี้เป็นการ
รื้อฟื้นธรรมเนียมท้องถิ่นสมัยก่อน ซึ่งแสดงถึงน้ำใจของชาวชนบทไทยที่ที่สืบทอดกันมา
3. กิจกรรมเรื่องเล่าจากเจ้าของบ้าน ฟังเรื่องเล่าจากพี่ประชิด พี่ประชิดเป็นคนกระแสสินธุ์ อดีตข้าราชการกระทรวงศึกษาฯ เกษียณอายุตำแหน่งผู้บริหารวิทยาลัยการอาชีพ หลังเกษียณอายุราชการจึงมาดูแลสวนมะพร้าวที่ปลูกไว้ ทั้งมะพร้าวน้ำหอม และมะพร้าวแกง พี่ประชิดมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะพัฒนาการผลิตมะพร้าวน้ำหอมทั้งของตนเองและเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวของอำเภอกระแสสินธุ์ จึงอาสาเป็นตัวแทน เป็นผู้ประสานงานกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวของอำเภอ กับภาคเครือข่ายอื่นๆ
4. กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภูมิปัญญา และวิชาการในสวนมะพร้าว ระหว่างผู้ร่วมเวที มีประเด็นที่น่าสนใจ เช่น การจัดการสวนที่มีลักษณะเป็นที่ลุ่มมีน้ำท่วมขัง การสุมโคนต้นมะพร้าวสูงเกินไปทำให้รากลอยพ้นขึ้นมาเหนือระดับดินเพื่อหาอาหาร การเลือกต้นทำพ่อแม่พันธุ์ ให้สังเกตใต้ทรงพุ่ม มีทางใบเป็นระเบียบ สมบูรณ์ แผ่ขยายเป็นวงกลม ให้ผลผลิตดีตลอดปี เป็นต้น
5. การรายงานความก้าวหน้าผลการดำเนินงาน จากผลการวิเคราะห์ดินของสมาชิก โดยภาพรวม พบว่า ดินส่วนใหญ่มีความเป็นด่าง-ด่างจัด ให้ระมัดระวังการใส่โดโลไมท์เพิ่มเติม มีอินทรีย์วัตถุต่ำ แนะนำให้ใส่ปุ๋ยคอกเป็นประจำ แนะนำการใส่ปุ๋ยเคมีอย่างเหมาะสมตามค่าวิเคราะห์ดิน และจากผลการดำเนินงาน การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินที่ผ่านมา พบว่าทำให้ต้นทุนค่าปุ๋ยลดลงประมาณ 2,000-3,000 บาท/ไร่/ปี
6. กำหนดเวทีสัญจรครั้งต่อไป เดือนพฤษภาคม ณ สวนเกษตรกร ตำบลดีหลวง อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา
สุวิมล รายงาน
ปฐม/เศรษฐกาญจน์/ชุติกาญจน์/สิทธิกร ภาพ






























