โพแทสเซียม (Potassium; K)
มีความสำคัญในการสร้างการเจริญเติบโต ความแข็งแรงของลำต้นและการสร้างเมล็ด สภาพดินปลูกข้าวโพดในประเทศไทยมีโพแทสเซียมอยู่สูง จึงมักไม่พบปัญหาต่อการเจริญเติบโตของข้าวโพด ความเข้มข้นของโพแทสเซียมในใบของข้าวโพดในระดับที่พอเพียงอยู่ในช่วง 1.7-2.5 เปอร์เซ็นต์
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีการดูดใช้โพแทสเซียมไปสะสมอยู่ในส่วนของต้น ใบ กาบฝัก เมล็ด และซัง รวมเฉลี่ย 17 กิโลกรัม K ต่อตันผลผลิต โดยอยู่ในเมล็ดและซัง เฉลี่ย 5.5 กิโลกรัม K ต่อตันผลผลิต ดังนั้นเมื่อนำเมล็ดและซังออกไปจากพื้นที่ จึงทำให้โพแทสเซียมสูญหายเทียบเท่ากับปริมาณปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ (0-0-60) 11.0 กิโลกรัมต่อตันผลผลิต
ข้าวโพดหวานมีการดูดใช้โพแทสเซียมสะสมอยู่ในส่วนของต้นและใบ เมล็ด ซัง และกาบฝัก รวมเฉลี่ย 8.3 กิโลกรัม K ต่อตันผลผลิต ดังนั้นหากนำส่วนของพืชออกไปจากพื้นที่ทั้งหมดจะทำให้มีโพแทสเซียมสูญหายออกไปเทียบเท่ากับปริมาณปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ (0-0-60) 16.6 กิโลกรัมต่อตันผลผลิต
อาการขาดธาตุโพแทสเซียม
ต้นข้าวโพดจะมีลักษณะเตี้ย แคระแกร็น ปล้องสั้น เติบโตช้า เพราะเนื้อเยื่อที่อยู่บริเวณปล้อง (internode) ไม่เจริญ เนื้อเยื่อของผนังเซลล์ไม่แข็งแรง ลำต้นอ่อนแอหักล้มง่าย ใบแก่ขอบใบจะมีสีเหลืองซีดโดยเริ่มจากปลายใบลุกลามเข้าสู่เส้นกลางใบ หากมีอาการรุนแรงขอบใบจะแห้งมีสีน้ำตาลไหม้บริเวณปลายใบ ปลายฝักเรียว เมล็ดมีอาการเหี่ยวย่นหรือบิดเบี้ยว
การขาดโพแทสเซียมมักพบในดินทราย ดินแน่นทึบ หรือมีการใช้ปุ๋ย 16-20-0 อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน
การแก้ไขอาการขาดโพแทสเซียม
ทำได้โดยใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ใช้ปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ หรือโพแทสเซียมซัลเฟตไปกับระบบน้ำ
ที่มา : เอกสารวิชาการ คำแนะนำการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน สำหรับพืชไร่เศรษฐกิจ. กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. 2564