มันสำปะหลังและการขาดธาตุสังกะสี

สังกะสี (Zn)
เป็นองค์ประกอบของเอนไซม์หลายชนิดในพืช ช่วยสังเคราะห์ฮอร์โมนออกซิน (Auxins) เพื่อการเจริญเติบโตของพืช ช่วยสร้างโปรตีนและคลอโรฟิลล์ในพืช กระตุ้นให้มีการสร้างแป้ง ช่วยในการยืดตัวของเซลล์ นอกจากนี้ยังช่วยในการเป็นประโยชน์ของฟอสฟอรัสและไนโตรเจนในพืชเพิ่มมากขึ้น

มันสำปะหลังที่ขาดสังกะสี จะแสดงอาการที่ใบอ่อน เนื้อใบระหว่างเส้นใบจะมีจุดหรือแถบสีเหลืองซีดและขาวเป็นจุดๆ โดยเส้นใบยังมีสีเขียวอยู่ ใบอาจย่นหรือเปลี่ยนรูปร่าง หยักใบแคบลง เรียวเล็ก หยักใบมักชี้ไปในทิศทางออกจากก้านใบ แม้ว่าการขาดสังกะสีส่วนใหญ่แสดงอาการที่ใบอ่อน แต่มันสำปะหลังบางพันธุ์ สามารถแสดงอาการจุดเหลืองซีดบริเวณใบล่างได้ การปรับปรุงดินด้วยการใส่ปูนมากเกินไปในดินกรด สามารถชักนำให้เกิดการขาดธาตุสังกะสี การขาดสังกะสีมักเกิดในดินด่างที่เกษตรกรใส่ปุ๋ยเคมีที่เป็นธาตุอาหารหลักเพียง อย่างเดียว
การแก้ไขการขาดสังกะสี
ก่อนปลูก แช่ท่อนพันธุ์ด้วยปุ๋ยสังกะสีซัลเฟต (ZnSO4.7H2O) อัตรา 0.4-0.8 กิโลกรัมต่อน้ํา 20 ลิตร เป็นเวลา 15 นาที เป็นวิธึการที่มีประสิทธิภาพ ป้องกันการขาดธาตุในระยะแรกของการเจริญได้ หรือ ใช้ปุ๋ยสังกะสีซัลเฟต อัตรา 0.2-0.4 กิโลกรัมต่อน้ํา 20 ลิตร พ่นทางใบที่อายุ 1 2 และ 3 เดือนหลังปลูก


แหล่งข้อมูล

  • Field problem in cassava. CIAT, 1981
  • เอกสารวิชาการ คำแนะนำการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน สำหรับพืชไร่เศรษฐกิจ. กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. 2564