เพลี้ยกระโดด ที่มีรายงานการเข้าทำลายข้าวโพด มีหลายชนิด เช่น เพลี้ยกระโดดข้าวโพด (Corn planthopper : Peregrinus maides) พบได้ทั่วไป ในข้าวโพดที่ปลูกเขตร้อน กึ่งร้อน แต่ไม่ทำให้ข้าวโพดเสียหาย เป็นพาหะถ่ายทอดโรค maize mosaic virus (MMV, Rhabdoviridae) และ Maize stripe virus (Mstv, Tenuivirus) นอกจากนี้ยังมี เพลี้ยกระโดด Sogalella vibix
เพลี้ยกระโดดท้องขาว
(White-Bellied Planthopper : Stenocranus pacificus Kirkaldy) เป็นศัตรูชนิดใหม่ของข้าวโพดที่มีรายงานในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีศักยภาพที่จะก่อให้เกิดความเสียหายกับข้าวโพด
ช่วงที่พบการระบาด/พื้นที่ที่มีการระบาด
ในประเทศไทย ปี 2564 พบการระบาดของ เพลี้ยกระโดดท้องขาว ในข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ปลูกฤดูแล้งหลังนา เริ่มพบการระบาดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน เรื่อยไป และพบในปริมาณมากขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ในหลายพื้นที่ เช่น อำเภอบรรพตพิสัย อำเภอโกรกพระ อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัด กำแพงเพชร อุทัยธานี เชียงราย ปริมาณการระบาดแตกต่างกัน เช่น พบ 1-2 ตัวต่อต้น จนถึง มากกว่า 50 ตัวต่อต้น ก่อนนี้ เคยพบการระบาดในพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จังหวัดอุทัยธานี เมื่อปี 2562
ส่วนต่างประเทศ พบระบาดในฟิลิปปินส์ บราซิล อินโดนีเชีย ทำให้ผลผลิตลดลงกว่า 52.2 เปอร์เซ็นต์
ลักษณะการทำลาย
ตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่ด้านข้างเส้นกลางใบของข้าวโพด หรือบริเวณกาบใบ และใช้ขุยสีขาวที่อยู่ส่วนท้อง ปิดบริเวณที่วางไข่ไว้ ตัวอ่อน และตัวเต็มวัย เกาะอยู่ตามซอกใบในยอดข้าวโพด ฐานใบ หรืออยู่ด้านหลังใบ ทำลายพืชโดยดูดกินน้ำเลี้ยง ทำให้ส่วนของพืชเกิดรอยสีเหลืองซีด (chlorosis) ระยะต่อมาใบไหม้ (necrosis) ต้นแคระแกร็น การดูดกินน้ำเลี้ยงอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดอาการใบไหม้ทั้งใบ (hopperburn) เพลี้ยกระโดดท้องขาวจะขับน้ำหวานออกมา ทำให้เกิดราดำปกคลุมใบ ลำต้น และตามพื้นดิน จากการสังเกตในไร่เกษตรกร พบว่าเกิดความรุนแรงในข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บางพันธุ์
ในประเทศอินโดนีเชีย พบในระยะที่ข้าวโพดมีการเจริญเติบโตทางลำต้นและใบ (vegetative phase) มากกว่า ระยะสืบพันธุ์ (generative phase) มักจะระบาดในฤดูแล้ง มากกว่าฤดูฝน
ปัจจัยที่เอื้อต่อการระบาด
การปลูกพืชติดต่อกัน การใส่ปุ๋ยไนโตรเจนในปริมาณสูง การใช้สารป้องกันกำจัดแมลงมากเกินไป ทำให้ศัตรูธรรมชาติถูกทำลาย
การป้องกันกำจัด
หมั่นสำรวจแปลงปลูกสม่ำเสมอ หากพบปุยสีขาวเกาะอยู่บริเวณเส้นกลางใบ หรือกาบใบแสดงว่าเริ่มมีการเข้าทำลายของเพลี้ยกระโดดท้องขาว หากระบาดรุนแรง ให้เลือกใช้สารกำจัดแมลงชนิดใดชนิดหนึ่ง ตามคำแนะนำของ สำนักวิจัยและพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร ดังนี้
- คาร์บาริล 85%WP อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 1)
- ไทอะมีโทแซม 25% WP อัตรา 2 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 4)
- ไดโนทีฟูแรน 10% WP อัตรา 15 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 4)
- อิมิดาโคลพริด 10% SL อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 4)
- ไพมีโทซีน 50% WG อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 9)
- บูโพรเฟซิน 25%WP อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 16)
- ฟลอนิคามิค 50% WG อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 29)