การระบาดของเพลี้ยหอยเกล็ดในมันสำปะหลัง

เพลี้ยหอยเกล็ด มักพบระบาดตามกิ่งของไม้ยืนต้น  สำหรับมันสำปะหลัง มีเพลี้ยหอยเกล็ดหลายชนิดเข้าทำลาย เช่น เพลี้ยหอยเกล็ดขาว (White scale: Aonidomytilus albus) เพลี้ยหอยเกล็ดดำ (Black scale: Saissetia miranda)

สภาพที่อากาศร้อน แห้งแล้ง ติดต่อกันเป็นเวลานาน พบการระบาดของเพลี้ยหอยเกล็ดขาวในมันสำปะหลังแปลงที่ใกล้เก็บเกี่ยว หรือพบในต้นมันสำปะหลังที่กองสุมใว้ทำพันธุ์ โดยเพลี้ยหอยเกล็ดที่มีลักษณะเกล็ดสีขาวนูน ขึ้นปกคลุมเกือบทุกส่วนของมันสำปะหลัง ทั้งส่วนยอด ลำต้น กิ่ง เหง้า และหัว

กรณีที่มีการปลูกมันสำปะหลังที่มีเพลี้ยหอยเกล็ดติดไปกับท่อนพันธุ์ การระบาดจะมีความรุนแรงและรวดเร็ว ทำให้ผลผลิตเสียหายถึง 20 เปอร์เซ็นต์ เพลี้ยหอยเกล็ด ดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืช ทำให้ใบเหลืองและร่วง แคระแกร็น หากมีเพลี้ยหอยเกล็ดปกคลุมทั้งลำต้น ทำให้ลำต้นแห้ง ต้นตาย

การป้องกันกำจัด

  • เลือกต้นมันสำปะหลังที่ไม่มีเพลี้ยหอยเกล็ดไปทำพันธุ์
  • แช่ท่อนพันธุ์ก่อนปลูกด้วยวิธีการเดียวกันกับการป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้ง ด้วยสารไทอะมีทอกแซม (thiamethoxam 25% WG) หรือ สารอิมิดาโคลพริด (imidacloprid 70% WG) อัตรา 4 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร แช่ท่อนพันธุ์ 10 นาที

>>> ติดตามการพยากรณ์อากาศ หากมีการแจ้งเตือนภาวะแห้งแล้ง ฝนทิ้งช่วง เกษตรกรควรมีการสำรวจแปลงมันสำปะหลัง อย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ ต่อครั้ง ป้องกันกำจัดเมื่อเริ่มพบการทำลาย จะทำให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้

>>> การพ่นสารฆ่าแมลงในมันสำปะหลังไม่ค่อยได้ผล เมื่อมีการระบาดรุนแรง ถ้าจะพ่นสารต้องถอนต้นที่มีการระบาดมากไปเผาทำลายแล้วพ่นบริเวณที่พบเป็นรัศมีโดยรอบ

สารป้องกันกำจัดแมลงที่แนะนำในการป้องกันกำจัดเพลี้ยหอยเกล็ด

  • กลุ่ม 1 พิริมิฟอสเมทิล โพรไทโอฟอส มาลาไทออน ไดอะซินอน
  • กลุ่ม 4 ไทอะมีทอกแซม อิมิดาโคลพริด อะเซตทามิพริด โคลไทอะนิดิน (กลุ่ม 4 ควรผสมไวท์ออย 30-50 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร)
  • กลุ่ม 16 บูโพรเฟซีน (กำจัดระยะตัวอ่อน)

>>> อัตราการพ่นสาร มันสำปะหลังอายุ 1-3 เดือน ใช้น้ำ 60-80 ลิตร /ไร่ มันสำปะหลังอายุ 4-8 เดือน ใช้น้ำ 80-100 ลิตร/ไร่

ลักษณะของเพลี้ยหอยเกล็ดขาวและการทำลาย

 

 

ศัตรูธรรมชาติของเพลี้ยหอยเกล็ด

ด้วงเต่าลายฟาโรสคิมนัส (Pharoscymnus simmondsi Ahmad) เป็นแมลงศัตรูธรรมชาติ ที่พบในไร่มันสำปะหลัง ลักษณะเป็นด้วงปีกแข็ง มีขนาดเล็ก ขนาดลำตัวยาวประมาณ 2 มิลิลเมตร ตัวสีดำ มีจุดสีเหลืองส้มบริเวณปีกข้างละ 2 จุด พบบริเวณที่มีเพลี้ยหอยเกล็ด เป็นตัวห้ำ กินเพลี้ยหอยเกล็ด

ในสภาพที่มีอากาศร้อน แห้งแล้งยาวนานหลายเดือน หากไม่มีการป้องกันกำจัดเพลี้ยหอยเกล็ดตั้งแต่เริ่มพบการระบาด เพลี้ยหอยเกล็ดจะเพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็ว ศัตรูธรรมชาติจึงไม่สามารถควบคุมการระบาดของเพลี้ยหอยเกล็ดได้  ด้วงเต่าลายฟาโรสคิมนัส ปกติพบในแปลงมันสำปะหลังอยู่แล้ว   ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมต่อการระบาดของเพลี้ยหอยเกล็ด ด้วงเต่าฟาโรสคิมนัสช่วยลดการระบาดได้

 

ด้วงเต่าลายฟาโรสคิมนัส (เป็นแมลงตัวห้ำ) กำลังกินเพลี้ยหอยเกล็ดขาว
ด้วงเต่าลายฟาโรสคิมนัส (เป็นแมลงตัวห้ำ) กำลังกินเพลี้ยหอยเกล็ดขาว

อัพเดท : 2 มีนาคม 2563

แหล่งข้อมูล:

  • Field Problem in Cassava. CIAT 1981.
  • สุเทพ สหายา
  • คู่มือสำรวจศัตรูพืชและศัตรูธรรมชาติในแหล่งปลูกมันสำปะหลัง สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืข กรมวิชาการเกษตร พิมพ์ครั้งที่ 2 ปี 2555