ฟอสฟอรัส (Phosphorus; P) เป็นธาตุอาหารที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของข้าวโพดไม่น้อยไปกว่าธาตุไนโตรเจน จากการศึกษาพบว่าข้าวโพดตอบสนองต่อปุ๋ยฟอสเฟตตลอดฤดูปลูกเช่นกัน แต่มีความต้องการในระยะเริ่มแรกมากกว่าในระยะอื่นๆ โดยฟอสฟอรัสมีบทบาทสำคัญต่อการเจริญเติบโตของราก อย่างไรก็ตามในระยะที่ข้าวโพดออกดอกฟอสฟอรัสก็มีบทบาทสำคัญในการช่วยเสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับต้นและเมล็ดเช่นกัน และพบอีกว่าการดูดใช้ธาตุฟอสฟอรัสจากดินของรากข้าวโพด จะเพิ่มขึ้นจนกระทั่งเมื่อรากเจริญเติบโตเต็มที่ ฉะนั้นจึงแนะนำให้ใส่ปุ๋ยฟอสเฟตทั้งหมดตั้งแต่ตอนปลูก ความเข้มข้นของฟอสฟอรัสในใบของข้าวโพดในระดับที่พอเพียงอยู่ในช่วง 0.2-0.4 เปอร์เซ็นต์
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีการดูดใช้ฟอสฟอรัสไปสะสมอยู่ในส่วนของต้น ใบ กาบฝัก เมล็ด และซัง รวมเฉลี่ย 3.6 กิโลกรัม P ต่อตันผลผลิต ส่วนใหญ่สะสมอยู่ในเมล็ด เฉลี่ย 2.9 กิโลกรัม P ต่อตันผลผลิต เทียบเท่ากับปริมาณฟอสเฟต 6.9 กิโลกรัม P2O5 ต่อไร่ต่อฤดูปลูก หรือเทียบเท่าปุ๋ยทริปเปิลซูเปอร์ ฟอสเฟต (0-46-0) 15 กิโลกรัมต่อตันผลผลิต ส่วนข้าวโพดหวานมีการดูดใช้ฟอสฟอรัสไปสะสมในส่วนของต้นและใบ เมล็ด ซัง และกาบฝัก รวมเฉลี่ย 1.7 กิโลกรัม P ต่อตันผลผลิต ส่วนใหญ่สะสมอยู่ในต้นและใบ เฉลี่ย 0.9 กิโลกรัม P ต่อตันผลผลิต ดังนั้นเมื่อนำต้นและใบ เมล็ด ซัง และกาบฝักออกไปจากพื้นที่ทำให้ฟอสฟอรัสสูญหายออกไปเฉลี่ย 1.7 กิโลกรัม P ต่อตันผลผลิต (ตารางที่ 3) เทียบเท่ากับปริมาณฟอสเฟต 3.9 กิโลกรัม P2O5 ต่อตันผลผลิตต่อฤดูปลูก หรือเทียบเท่าปุ๋ยทริปเปิลซูเปอร์ฟอสเฟต (0-46-0) 8.4 กิโลกรัมต่อตันผลผลิต
อาการขาดธาตุฟอสฟอรัส
ในระยะต้นกล้า ใบจะมีสีม่วงจากปลายใบและขอบใบของใบล่าง ต้นข้าวโพดหวานเติบโตช้า ต้นเตี้ย และไม่แข็งแรง รากไม่เจริญหรือไม่พัฒนา หากขาดธาตุฟอสฟอรัสก่อนออกดอกจะทำให้ออกดอกช้ากว่าปกติ ลำต้นและฝักโค้งงอ เมล็ดบิดเบี้ยว การติดเมล็ดไม่สมบูรณ์ หรือมีเมล็ดลีบมาก ส่วนใหญ่พบในพื้นที่ดินทราย ดินกรดจัด ดินด่างจัด ดินแห้งหรือเปียกเกินไป หรืออากาศเย็นอุณหภูมิดินต่ำเกินไป ทำให้การเคลื่อนย้ายฟอสฟอรัสจากรากสู่ส่วนต่างๆ ของต้นข้าวโพดช้ากว่าปกติ อย่างไรก็ตาม อาการใบม่วงมักจะหายไปเมื่อผ่านช่วงอากาศเย็น
การแก้ไขอาการขาดฟอสฟอรัส
ไม่ควรปล่อยให้ดินแห้งหรือมีน้ำขังมากเกินไป ควรมีร่องระบายน้ำ และหลีกเลี่ยงการปลูกข้าวโพดช่วงที่มีอากาศหนาวเย็น
ที่มา : เอกสารวิชาการ คำแนะนำการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน สำหรับพืชไร่เศรษฐกิจ. กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. 2564